ส่องปาร์ตี้ลิสต์-แคนดิเดต ผ่านเกมรุก-ถอย ‘รทสช.’ ผลเลือกตั้งชี้วัด อนาคต

ส่องปาร์ตี้ลิสต์-แคนดิเดต ผ่านเกมรุก-ถอย ‘รทสช.’ ผลเลือกตั้งชี้วัด อนาคต

ส่องปาร์ตี้ลิสต์-แคนดิเดต ผ่านเกมรุก-ถอย ‘รทสช.’ ผลเลือกตั้งชี้วัด อนาคต

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไทม์ไลน์นับจากนี้ ที่ กกต.กำหนดไว้ คือ วันที่ 3-7 เมษายน เป็นวันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต

ในส่วนพื้นที่ กทม. เปิดรับสมัครที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพฯ เริ่มรับสมัครวันที่ 3-7 เมษายน เวลา 08.30-16.30 น. สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดเปิดรับสมัครที่สำนักงาน กกต.แต่ละจังหวัด

ส่วนการรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการรับแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองมีมติว่าจะเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นวันที่ 4-7 เมษายน เวลา 08.30-16.30 น. ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กรุงเทพฯ พร้อมกับต้องมาลุ้นว่าแต่ละพรรคจะจับสลากได้หมายเลขใดในการนำไปใช้หาเสียงเลือกตั้งในบัตรที่สอง คือ การเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือเลือกพรรคการเมือง จะได้เลขหลักเดียว สองหลัก ล้วนมีผลต่อการรณรงค์หาเสียงอยู่ไม่น้อย

Advertisement

ประเด็นร้อนก่อนวันรับสมัครเลือกตั้งที่แต่ละพรรคต้องเจอและต้องเร่งเคลียร์ปัญหา คือ การจัดสรรตัวผู้สมัคร ทั้งในส่วน ผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มี 400 เขตเลือกตั้งใน 77 จังหวัด และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 100 คน

สารพัดปัญหาการจัดสรรตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต นอกจากมีประเด็นการย้ายเข้า-ออก ของ ส.ส.และอดีต ส.ส. รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ส่งผู้สมัครคนรุ่นใหม่ มาทดแทนอดีต ส.ส.เก่า เพื่อหวังดึงฐานเสียงของกลุ่มนิวโหวตเตอร์ โดยขยับอดีต ส.ส.หรือ ส.ส.อาวุโส ไปสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว บางพรรคอาจจะเคลียร์กันได้ลงตัวแต่ไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์ บางกลุ่ม บางขั้ว จำเป็นต้องกลืนเลือดเพื่อยอมให้พรรคเดินหน้าจัดการเลือกตั้งไปต่อได้

ขณะที่ปัญหาการจัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคเจอเหมือนกัน คือ การแย่งลำดับผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้อยู่ในเซฟโซน หรือลำดับที่ปลอดภัยในการที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคใหญ่ที่มาพร้อมกับกระแส ตั้งเป้าเซฟโซนไว้ถึง 40 ที่นั่งบวกลบ ส่วนพรรคขนาดกลางอื่นๆ ต่างลุ้นไม่ลำดับผู้สมัครไม่เกินเลข 2 หลัก นั่นเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคต้องไปเคลียร์กันเอง ส่วนจะจบแบบไหนต้องติดตามกันต่อ

Advertisement

ส่วนการเดินเกมการเมืองของ “บิ๊กเนม” แต่ละพรรค ในการเลือกตั้งที่ดูจะพร้อมทั้งบุคลากร และกระแสเกื้อหนุน บวกกับกติกาการเลือกตั้งที่ตัวเองถนัดด้วยการกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หนึ่งใบเลือกคนที่รัก ส่วนอีกใบกาพรรคที่ชอบ อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) จัดเต็มทั้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีส่งครบ 3 รายชื่อ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่เปิดเผยออกมาแล้ว คือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และชื่อที่สาม “ชัยเกษม นิติสิริ” ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรค พท. รอเพียงขั้นตอนการประกาศอย่างเป็นทางการก่อนยื่นชื่อต่อ กกต.

ขณะที่ขั้วการเมืองกลุ่มอนุรักษนิยม อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศส่งแคนดิเดตนายกฯเพียง 2 ชื่อ คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค รทสช. กับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค รทสช. การส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯเพียง 2 ชื่อของพรรค รทสช. ทางหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแฟนคลับและผู้สนับสนุน ทั้งตัว “พล.อ.ประยุทธ์” และพรรค รทสช. ว่ามีความพร้อมในการทำหน้าที่นายกฯ แม้จะต้องเผชิญกับเงื่อนไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี

หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ จะนั่งทำหน้าที่ได้เพียงแค่ครึ่งเทอม หรือ 2 ปี ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้ “พีระพันธุ์” ทำหน้าที่ สร.1 อีก 2 ปี เป็นการสร้างความมั่นใจกับขั้วอนุรักษนิยมว่า พรรค รทสช.พร้อมเป็นแกนนำของฝ่ายบริหาร

แต่ในการเดินเกมรุกใช่ว่าจะไม่เตรียมทางถอย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะใช้เงื่อนไขตามมาตรา 159 รัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค รทสช.ในลำดับที่ 1 ต่างกับหลายพรรค ที่หัวหน้าพรรคจะพ่วงกับตำแหน่งแคนดิเดตนายกฯ และอยู่ในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับที่ 1 นัยยะหนึ่งที่ “บิ๊กตู่” ไม่เลือกที่จะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเตรียมทางหนีทีไล่ไว้หากพรรค รทสช.ได้เสียง ส.ส.หลังการเลือกตั้ง มาในจำนวนที่ไม่มากพอจะอ้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล

อีกนัยยะ อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางลงให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องมีสถานะ ส.ส.ติดตัวไปทำหน้าที่ ผู้นำหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภา ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับบทบาทที่พร้อมจะเป็นฝ่ายบริหารมากกว่า ต่างจาก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ประกาศความพร้อมผ่านการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 และเป็นแคนดิเดตนายกฯเพียงชื่อเดียวของพรรค พปชร. รวมทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่แสดงความพร้อมผ่านทั้งการเป็นแคนดิเดตนายกฯ และผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรค ภท.

ขณะที่ปัจจัยชี้ขาดโฉมหน้าของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นการจับมือระหว่างขั้วการเมืองเดิม ขั้วการเมืองใหม่ หรือรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ตามที่ “บิ๊กเนม” ของแต่ละพรรคคาดการณ์ไว้ จะออกมาเป็นสูตรใด ย่อมขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่ออกมา จะเป็นตัวชี้วัดตรงที่สุดถึง “อนาคต” และ “ทิศทาง” ของพรรคการเมืองในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image