สายธาร ความคิด ความเป็นมา ของ คำสยาม จาก จิตร ภูมิศักดิ์

การปรากฏขึ้นของหนังสือความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติเมื่อปี 2519

มากด้วยบทบาทเปี่ยมด้วยความหมาย

ไม่เพียงเพราะที่หน้าปกอัน นันทะ เจริญพันธุ์ ออกแบบ นำเอาลายมือ งดงามของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาเป็นจุดเด่น

หากรากฐานการได้มาของผลงาน ก็น่าตื่นตา ตื่นใจ

Advertisement

ทุกสายตาจึงจับจ้องไปยังบทบาทของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นจุดเดียว

เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งแห่งสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศ ไทย

ไม่เพียงเพราะมูลนิธิ นี้มี นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นประธาน หากแต่ยังมี นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นกรรมการและเลขานุการ

Advertisement

บทบาทของ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ จึงสำคัญ

ความสำคัญไม่เพียงสัมผัสได้จากแถลงผ่านคำนำ ของหนังสือที่ยืนยันความเป็นมาของคำสยาม เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ จิตร ภูมิศักดิ์

เป็นผลงานที่ใช้การค้นคว้าและวิเคราะห์ทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยมที่สุด

เมื่อเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนงานชิ้นนี้เมื่อใด

เขียนในลาดยาว หรือเขียนในป่า

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนระหว่างที่ถูกจำขัง ณ คุกลาดยาว ไม่ว่าจะเป็นการเขียนระหว่างท่องไพรพนมพฤกษ์

ล้วนเร้าและเย้ายวน

คำถามที่ดังก้องมาจากชุมชนวิชาการ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หรือเชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ ตรงกันว่าได้มาอย่างไร

คำตอบอยู่ที่คำนำของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

จิตร ภูมิศักดิ์ คงจะเริ่มเขียนความเป็นมาของคำสยาม ในช่วง 6 ปีของการถูกจองจำ

ณ ที่นั้นคุกขังเขาได้ แต่หัวใจปรารถนา

งานชิ้นสุดท้ายชิ้นนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ฝากไว้กับเพื่อนนักเขียนผู้อาวุโสของเขา คือ สุภา ศิริมานนท์

โดยบอกฝากไว้เพียงสั้นๆ ว่า

ถ้าหากมีทุนและมีโอกาสก็ขอให้จัดพิมพ์ให้ด้วย รวมทั้งหากมีตรงไหนบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ก็ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมให้ด้วย

คุณสุภา ศิริมานนท์ ได้เก็บต้นฉบับรักษาไว้เป็นอย่างดีเกือบ 10 ปี

และเมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มจะเอื้ออำนวย กอปรทั้งมีคนเริ่มสนใจใฝ่รู้ในงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ มากขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

งานของ จิตร ภูมิศักดิ์ จึงถูกเสนอมายังทางมูลนิธิ

 เด่นชัดยิ่งว่าความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ

เป็นผลผลิตจากลาดยาว มิใช่ในป่าเขา พนมพฤกษ์

กระนั้น ก็ยังมีคำถาม ตามมาอีกว่าเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ สุภา ศิริมานนท์ มั่นใจในการส่งมอบต้นฉบับ

ใครคือสะพานเชื่อมกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image