เลือก ‘อำนาจแบบไหน’

เลือก ‘อำนาจแบบไหน’

ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าผู้บริหารพรรคการเมืองทุกพรรคได้ข้อสรุปแล้วว่า “นายกรัฐมนตรีคนต่อไปถึงที่สุดแล้วจะต้องใช้เสียงอย่างน้อย 376 เสียงจากรัฐสภา”

ต้องเป็นทั้งเสียงของ ส.ส.และ ส.ว.

ชัดเจนอีกเช่นกันว่า “ผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ” เลิกยึดหลักการ “พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง” ได้ ส.ส.มากที่สุด ได้สิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน

Advertisement

“พรรคการเมืองยุคนี้” ต่างมีความเห็นว่า “ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ พรรคนั้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล”

เป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อสนองความเป็นจริงทางการเมืองที่ว่า “การขึ้นสู่อำนาจ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ “การตัดสินใจของประชาชน” แต่ยังมีอิทธิพลของ “คณะบุคคล” ที่ถูกออกแบบไว้เพื่อสนอง “การสืบทอดอำนาจ”

แม้ทุกคนทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันว่า “ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี” จะต้องเริ่มต้นด้วยเสียง ส.ส.เกินกว่า 250 ก่อน แต่เป็นที่รู้กันว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่มีแค่ ส.ส.เกินกว่าครึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีทางมั่นใจในอำนาจได้

Advertisement

เพราะถึงที่สุดแล้วแม้จะผ่าน ส.ว. แต่เป็นที่รู้กันว่าอำนาจที่ดีไซน์เพื่อรองรับ สนับสนุนการสืบทอดอำนาจไม่ใช่มีเพียง ส.ว.เท่านั้น ยังมีคณะบุคคลในองค์กรอื่นๆ ที่ทำหน้าที่นี้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อคนที่มาจาก “อำนาจประชาชน” ได้อีก

ดังนั้น เพื่อให้เป็นรัฐบาลบริหารงานได้อย่างราบรื่นแม้จะรวบรวมเสียงข้างมากจากประชาชนได้ แต่เชื่อว่าทุกพรรคจำเป็นต้องคิดถึง “ผู้มีบารมีในกลุ่มคน ที่ดีไซน์ไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ” มาเป็นตัวเชื่อมหรือกันชนต้านแรงปะทะที่จะเกิดขึ้น

ด้วยความจำเป็นเช่นนี้ ท่าทีของพรรคการเมืองบางพรรค หรือจะว่าไปคือหลายพรรคที่เปิดกว้างยอมรับความจริงว่าโครงสร้างอำนาจประเทศไทย เป็น “อำนาจซ้อนอำนาจ”

แม้ที่ควรจะเป็น “อำนาจประชาชน” ต้องมีสิทธิเด็ดขาดในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ ตามหลักประชาธิปไตยสากลที่นานาประเทศยึดถือและนำมาใช้

แต่เป็นที่รับรู้กันว่าประเทศไทยเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อำนาจของกลไกที่เอื้อต่อการสืบทอดมีอิทธิพลมากเสียกว่าอำนาจประชาชนด้วยซ้ำ เพราะสามารถเข้าควบคุม ตัดสิน อำนาจที่มาจากประชาชนได้ ขณะที่อำนาจจากประชาชนอย่าง “ส.ส.” หรือ “สภาผู้แทนราษฎร” แทบไม่มีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “อำนาจที่ถูกดีไซน์ไว้” เหล่านี้

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ กฎหมาย หรือกติกาในทุกระดับถูกออกแบบไว้ให้อำนาจเหล่านี้อยู่ยงคงกระพัน ไม่ถูกแตะต้องทำลายได้ง่ายๆ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหล่านี้ เป็นที่รู้กันว่าถูกออกแบบให้ทำได้ยากอย่างยิ่ง หรือถึงขึ้นทำไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการยินยอมจาก “กลไกสืบทอดอำนาจ”

แม้จะรู้ดีว่าโครงสร้างเช่นนี้สร้างปัญหาให้กับผู้เชื่อมั่นในอำนาจประชาชน และมีบางพรรคที่เด็ดเดี่ยวเพียงพอประกาศเป็นแนวทางที่ไม่ยืดหยุ่นกับการโอนอ่อนให้กับกลไกสืบทอดอำนาจ แต่เป็นที่รู้กันว่ายังเป็นแนวทางที่แค่ “หัวชนฝา” ไปตามเรื่องเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรื้อโครงสร้างเช่นนี้ได้สำเร็จจริง

การต่อสู้กับกลไก “อำนาจซ้อนอำนาจ” จึงมีแนวทาง 2 แนวทาง

หนึ่ง ประนีประนอมเพื่อหาทางเข้าไปมีอำนาจก่อน แล้วค่อยๆ หาทางคลี่คลายโครงสร้างให้พ้นจากความรุงรัง ซ้ำซ้อน และเป็นอุปสรรค ด้วยการยอมที่จะเปิดทางให้บทบาทกับ “อำนาจที่ซ้อนและซ่อนอยู่” เข้าร่วมแจมด้วย

สอง ปฏิเสธแบบสิ้นเชิง โดยประกาศให้ประชาชนรู้ถึงความเชื่อมั่นใน “อำนาจประชาชน” จะไม่ยินยอมกับ “อำนาจอื่นที่ซ้อนเข้ามา” ด้วยการกระตุ้นความคิดประชาชนส่วนใหญ่ร่วมต่อสู้ ด้วยความเชื่อว่าหากประชาชนเอาจริงการจัดการกับอำนาจที่ไม่ยึดโยงประชาชนเหล่านั้น จะต้องถูกจัดการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ด้วยความเชื่อว่าไม่มีอำนาจใดต้านทานอำนาจประชาชนได้

วันที่ 14 พฤษภาคม อีกเดือนกว่าๆ จะเป็นวันที่ประชาชนใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง

จะเป็นวันที่พิสูจน์ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับ “อำนาจแบบไหน”

อำนาจแบบ “สืบทอด-ประนอม หรือแตกหัก”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image