สมการ การเมือง ระหว่าง เพื่อไทย ก้าวไกลละเอียด อ่อนไหว

คอลัมน์หน้า 3 : สมการ การเมือง ระหว่าง เพื่อไทย ก้าวไกลละเอียด อ่อนไหว

ในแต่ละจังหวะก้าวของ “ยุทธวิธี” แห่ง “ยุทธศาสตร์” ในการบีบขับพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ออกจากสมการทางการเมือง

จะ “กำชัย” ก้าวแล้วก้าวเล่า ตำแหน่งแล้วตำแหน่งเล่า

ไม่ว่าจะมองผ่านตำแหน่ง “ประธานสภา” ไม่ว่าจะมองผ่านตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ที่กำลังจะหลุดลอย

Advertisement

กระนั้น ก็ต้องยอมรับใน “ผลสะเทือน”

กล่าวสำหรับตำแหน่ง “ประธานสภา” อาจชู นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติเป็น “ทางออก”

แต่ก็มี “คำถาม” ตามมาอย่างแหลมคม ร้อนแรง

Advertisement

เป็นความร้อนแรงและมากด้วยความแหลมคมเมื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประสบกับการสกัดต้านอย่างเป็นระบบในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

คำถามโดยฉับพลันทันใดก็ยิ่งร้อนแรง แหลมคม

ใครก็ตามที่เกาะติดแต่ละกระสวนของการต่อสู้และแย่งชิงย่อมสัมผัสได้ในคู่แห่งความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรม

เป็นความขัดแย้ง “ภายใน” 8 พรรคพันธมิตร MOU

แม้ผลในที่สุดก็เป็นการยอมรับอยู่ที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แต่คำถามอยู่ที่ว่าใครเป็นคนเสนอ

เป็น “เพื่อไทย” มิใช่ “ก้าวไกล”

พอมาถึงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” แม้บรรยากาศในที่ประชุมรัฐสภาจะชัดเจนว่าคู่สัประยุทธ์มาจากฝ่ายตรงข้าม

ไม่ว่าจะเป็น นายสมชาย แสวงการ ไม่ว่าจะเป็น นายชาดา ไทยเศรษฐ์

เหมือนกับเป็นการสกัดขัดขวางจากภายใน 250 ส.ว. เหมือนกับเป็นการยืนต้านอย่างดุดันจากพรรคภูมิใจไทย แต่ผลจากปฏิบัติการนี้เป็นอย่างไร

“ตำแหน่ง” นายกรัฐมนตรีไปอยู่ในมือพรรคการเมืองใด

ภาพการลงนาม MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม จึงย้อนกลับมาให้พิจารณาและประเมินอย่างสังเคราะห์อีกคำรบหนึ่ง

ทำไมจึงมีข้อเสนอในเรื่อง Advance เอ็มโอยู

ทำไมจึงปรากฏความหงุดหงิดจากภายในของพรรคเพื่อไทย กระหน่ำเข้าใส่บางคนจากพรรคไทยสร้างไทย

คำตอบอยู่ที่การชิงตำแหน่ง “ประธานสภา”

และความแคลงคลางกังขาจากตำแหน่ง “ประธานสภา” ก็เห็นอย่างเด่นชัดเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”

นี่คือภาพแห่ง “ความขัดแย้ง” แต่ก็สร้าง “ความผูกพัน”

อาจทำให้สามารถจัดการตำแหน่ง “ประธานสภา” ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ได้ แต่ถ้าถึงขั้นตัดพรรคก้าวไกลออกไปเป็น “ฝ่ายค้าน”

ก็ไม่แน่ว่าจะทำได้อย่างง่ายดาย ราบรื่น

ปัญหาภายในพันธมิตร 8 พรรคจึงมิได้อยู่ที่จะสามารถขยายขอบเขตและจำนวนของพันธมิตรได้หรือไม่

ไม่ว่า “ภูมิใจไทย” ไม่ว่า “ประชาธิปัตย์”

หากแต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะผลักไสพรรคก้าวไกลออกไปอย่างไร ให้เป็นไปด้วยความสุกงอมบนพื้นฐานแห่ง “การเสียสละ”

นี่ย่อมเป็น “จุดตัด” และเป็น “เส้นแบ่ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image