สถาบัน เสื่อมทรุด ปัญหา จาก ประชาธิปัตย์ สะท้อน ‘ระบอบ’

คอลัมน์หน้า 3 – สถาบัน เสื่อมทรุด ปัญหา จาก ประชาธิปัตย์ สะท้อน ‘ระบอบ’

สภาวะปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นในระหว่างการชิงตำแหน่ง “หัวหน้า” ของพรรคประชาธิปัตย์ กลายเป็น “โศกนาฏกรรม”

ไม่เพียงต่ออดีต “หัวหน้าพรรค” 3 คนสำคัญ

ไล่ตั้งแต่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปยัง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน จนถึง นายชวน หลีกภัย

Advertisement

กระทบต่อความเป็น “ปฏิมา” ในทางการเมือง

เมื่อมองผ่าน นายชวน หลีกภัย ที่เคยเป็น “นายกรัฐมนตรี” เคยเป็น “ประธานรัฐสภา” เมื่อมองผ่าน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่เคยเป็น “รองนายกรัฐมนตรี”

ที่แหลมคมก็คือ กระทบต่อสถานะแห่ง “สถาบัน”

Advertisement

เมื่อได้ยินเสียงก่น “ประณาม” และ “ประจาน” อันมาจาก “คนรุ่นใหม่” ย่อมก่อให้เกิดความสะเทือนใจเป็นอย่างสูง

ทำไม “สถาบัน” จึงเสื่อมทรุด ตกต่ำถึงเพียงนี้

การดำรงอยู่ในสถานะแห่ง “สถาบัน” ของพรรคประชาธิปัตย์มิได้เป็นเรื่องบังเอิญ หรือในลักษณะอันเป็นโชคช่วย

หากสัมพันธ์กับ “โครงสร้าง” ของ “การเมืองไทย”“

เป็นการเมืองเนื่องแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เป็นการเมืองเนื่องแต่การดำรงอยู่ของ “คณะราษฎร”

เป็นการเมืองเนื่องแต่การปะทะและขัดแย้ง

จากการต่อสู้กับ “คณะราษฎร” จากการต่อสู้กับ “คณะรัฐประหาร” บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์โดดเด่น

โดดเด่นในลักษณะอันเป็น “ตัวแทน”

แต่แล้วเมื่อเข้าสู่แห่งประชาธิปไตย “ครึ่งใบ” บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มแปรเปลี่ยน

เมื่อปรากฏ “พลังใหม่” ในทางการเมืองเผยแสดง

พลังใหม่ในทางการเมืองเบื้องต้นย่อมเป็นพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคประชาธิปัตย์หมดหนทาง สิ้นโอกาส

อย่างน้อยก็เป็นโอกาสในยุคประชาธิปไตย “ครึ่งใบ”

พรรคประชาธิปัตย์เลือกที่จะรักษา “ระบอบเดิม” ซึ่งมีรากฐานอยู่กับ “รัฐประหาร” และการสืบทอดอำนาจ

ไม่ว่ารัฐประหาร 2549 ไม่ว่ารัฐประหาร 2557

พลันที่ “พลังใหม่” อย่างพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ประสานเข้ากับพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล

ยิ่งก่อให้เกิดภาวะ “ถดถอย” และ “เสื่อมทรุด” ต่อพรรคประชาธิปัตย์

เกิดความแตกแยก เกิดการแยกตัวไปเป็นส่วนหนึ่งของ “พลังประชารัฐ” และส่วนหนึ่งของ “รวมไทยสร้างชาติ”

ผลก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ เหลือเพียงซากปรักหักพัง

ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังดำรงอยู่อย่างเป็น “สถาบัน” เหมือนที่เคยยิ่งใหญ่ ยรรยงหรือไม่

ภาพการไม่ลงตัวในตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” ชัดเจนที่สุด

ปัญหาในทางความคิดอันปะทะและขัดแย้งในสังคมการเมือง “ใหญ่” จึงกระแทกเข้าไปกลายเป็นปัญหาใน “ประชาธิปัตย์”

โศกนาฏกรรมนี้สามารถเกิดกับทุกพรรคที่ไม่ยอมปรับตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image