โหวตนายกฯ-ตั้ง รบ.พิเศษ ภารกิจท้าทาย ‘เพื่อไทย’ ฝ่าดงหนามการเมือง-ศก.

โหวตนายกฯ-ตั้ง รบ.พิเศษ ภารกิจท้าทาย ‘เพื่อไทย’ ฝ่าดงหนามการเมือง-ศก.

โหวตนายกฯ-ตั้ง รบ.พิเศษ ภารกิจท้าทาย ‘เพื่อไทย’ ฝ่าดงหนามการเมือง-ศก.

การเมืองเดินหน้าเข้าสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ผ่านการประชุมรัฐสภาครั้งที่สาม ตามหนังสือนัดประชุม ที่ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” แจ้งสมาชิกรัฐสภาให้มาร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกันวันที่ 22 สิงหาคม ในเวลา 10.00 น.เป็นต้นไป เพื่อลงมติคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากไร้เงื่อนไขร้อนที่อาจจะส่งผลให้การโหวตเลือกนายกฯ ยืดเยื้อออกไป เมื่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ส่งให้วินิจฉัย

ตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำอีกตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า ผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213

Advertisement

พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่รับไม้ต่อมาจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จึงต้องเดินหน้ารวบรวมเสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 374 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ คือ 747 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 498 คน และ ส.ว.249 คน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคแรกกำหนด ให้สำเร็จ

เพราะไม่มีโอกาสแก้ตัว เนื่องจากมีเงื่อนไขต่อญัตติของที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ห้ามส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯให้ความเห็นชอบในรอบที่สอง เนื่องจากเป็นญัตติซ้ำ

จึงเป็นเกมบีบกลับมายังพรรค พท.ที่ต้องรวมเสียงให้ “ชัวร์” แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในการโหวตวันที่ 22 สิงหาคมนี้

Advertisement

การเดินหน้ารวมเสียงของพรรค พท.ในการฟอร์มเสียง ส.ส.ล่าสุด จึงออกมาที่สูตรพรรคร่วมรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง โดยมีพรรค พท. 141 เสียง และมีพรรคร่วม ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 71 เสียง “พรรค 2 ลุง” ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง พรรคประชาชาติ (ปช.) 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง (พทล.) 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย (สร.) 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง โดยไร้เงื่อนไข ทั้งการไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่มีพรรค ก.ก.

กลายเป็นรัฐบาลที่มีโฉมหน้าเปลี่ยนไปแค่ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ นายกฯจากพรรค พท. ส่วนองคาพยพของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เหมือนเป็นการยกขั้วพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาร่วม ขาดเพียงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคเล็กบางส่วนเท่านั้น หรือจะเรียกกว่า พรรคร่วมรัฐบาลเดิม เพิ่มเติมมาแค่พรรค พท. ก็คงไม่ผิดนัก

ด้วยตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่เป็นไฟต์บังคับ พรรคร่วมรัฐบาล 314 เสียง ที่มีพรรค พท.เป็นแกนนำ จึงต้องเปิดเกมเจรจากับ ส.ว.ให้ได้อย่างน้อย 60 เสียง มาโหวตสนับสนุน “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรค พท. ให้ได้เสียงผ่านเกณฑ์ 374 เสียง

เนื่องจากพรรค ก.ก.ทั้ง 149 ส.ส. (ตามจำนวนที่เหลืออยู่) มีมติพรรคที่จะไม่โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯพรรค พท.

แม้การบ้านของพรรค พท. ในการหาเสียง ส.ว.อย่างต่ำ 60 เสียง จาก 249 คน ตามจำนวนอาจจะดูไม่ใช่เรื่องยาก เพราะด้วยเงื่อนไขที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรค พท. รวมเสียง ส.ส.ได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่ 314 เสียง อีกทั้งไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 ไร้พรรค ก.ก. ร่วมเป็นรัฐบาลด้วย

อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ ส.ว.นำมากล่าวอ้างว่าจะไม่เลือกนายกฯ แม้พรรค พท.จะลดเงื่อนไขดังกล่าวลง แต่ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ผ่านการเจรจาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของแต่ละพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. โดยเฉพาะ “พรรค 2 ลุง” อย่าง พรรค พปชร. และพรรค รทสช. ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมาพร้อมกับเสียงสนับสนุนของ ส.ว.สาย 2 ลุง ร่วมยกมือสนับสนุนโหวตเลือกนายกฯให้กับ พรรค พท.ได้ไม่ยาก เมื่อสัญญาณการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรี ที่พรรค 2 ลุง ส่งข้อเสนอไป ทั้งกระทรวงพลังงาน ที่พรรค รทสช.มีความประสงค์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พรรค พปชร.ก็อยากไปเข้าดูแล ล้วนตรงกับความต้องการของพรรคแกนนำอย่าง พรรค พท. ต้องการเข้าไปบริหารเช่นกัน

จึงเป็นการบ้านของพรรค พท.ว่าจะปิดดีลกับพรรค 2 ลุง ออกมาที่สูตรเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงใดบ้าง

ด้วยพรรค พท. มีเดิมพันสูงต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ แม้ต้องแลกกับต้นทุนที่สูงลิ่ว ทั้งจุดยืนทางการเมือง แรงสนับสนุนของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ผ่านโฉมหน้าเป็นรัฐบาลพิเศษ สลายความขัดแย้งเพื่อเดินหน้าประเทศไปด้วยกัน ด้วยการจับมือกับจัดตั้งรัฐบาลจะเรียกว่า “สลายขั้ว” หรือ “ข้ามขั้ว” ก็คงไม่ผิดนัก

เมื่อตั้งรัฐบาลได้จำเป็นต้องเดินหน้าสร้างผลงาน บริหารความคาดหวังของประชาชนให้จับต้องได้ในทันที ทั้งการทำประชามติสอบถามประชาชน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างกติกาอย่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ขณะเดียวกันรัฐบาลเพื่อไทยยังต้องเผชิญกับขวากหนาม ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนที่รอรัฐบาลอำนาจเต็มเข้ามาแก้ไขอย่างเร่งด่วน รวมทั้งปัญหาทางการเมืองที่จะต้องเผชิญกับแรงกดดันของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่ส่อเค้าว่าจะมีการเมืองบนท้องถนนออกมาเรียกร้องความชอบธรรมทางการเมืองผ่านการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท.เข้มข้นยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังต้องใช้ชั้นเชิงทางการมืองบริหารงานกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้รัฐนาวาเพื่อไทย เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image