ทำไม ‘สุทิน’ ทำไม นิพัทธ์ ทองเล็ก ณ ‘กลาโหม’

การดำรงอยู่ของ นายสุทิน คลังแสง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นการทดสอบอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมือง

เป็นการทดสอบซึ่งดำเนินไปในลักษณะ “ทดลอง”

เป็นการทดสอบซึ่งดำเนินไปอย่างแหลมคมเมื่อเทียบกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็น “พลเรือน” ในอดีต

ไม่ว่าจะเป็นยุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่ว่าจะเป็นยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

Advertisement

เนื่องจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

แต่ นายสุทิน คลังแสง มีจุดเด่นเพียงเคยเป็น “ครู”

เพียงแต่เป็น “ครู” เมื่อเข้าสู่สนามในทางการเมืองก็มีลักษณะพิเศษในการประสานและประนอมอย่างนุ่มนวล

Advertisement

การประนอมต่างหากที่มีความสำคัญ

หากศึกษาการดำรงอยู่ของพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมายังพรรคพลังประชาชน กระทั่งพรรคเพื่อไทยก็จะสัมผัสได้ในลักษณะเด่นบางประการ

1 คือการเสนอ “ความใหม่”

ไม่ว่าจะเป็นความใหม่อย่างเช่น “30 บาท รักษาทุกโรค” ไม่ว่าจะเป็นความใหม่อย่างเช่น “พักการชำระหนี้” ไม่ว่าจะเป็นความใหม่อย่างเช่น “บริหารแบบ CEO”

ขณะเดียวกัน ภายใน “ความใหม่” ก็มิได้ดำเนินไปในลักษณะแตกหักอย่างสิ้นเชิง เป็นไงก็เป็นกัน

หากแต่สะท้อน 1 ประนีประนอม ผสานผสม กลมกลืน

ถามว่า “30 บาท รักษาทุกโรค” เป็นความคิดของใคร ถามว่า “พักชำระหนี้” มีกระบวนการและรากฐานอย่างไร

มาจาก “เทคโนแครต” มาจากฐานกำลัง “เดิม”

หากนำเอาความรับรู้จากพรรคไทยรักไทย ประสานเข้ากับจากพรรคพลังประชาชน ก็จะเข้าใจต่อพรรคเพื่อไทยในวันนี้

ถามว่า “สะพานเชื่อม” อย่างสำคัญอยู่ที่ใด

คำตอบ 1 เห็นได้จากองค์ประกอบของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์” และรวมถึง

“คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ” คำตอบ 1 เห็นได้จาก “แคร์ คิด เคลื่อน ไทย”

นี่ย่อมเป็นกลไกของพรรคเพื่อไทยในการประสานและเชื่อมกับพรรคพลังประชาชน และโดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย

ยืนยันลักษณะ “ปฏิรูป” สะท้อนท่วงทำนอง “ประนอม” ประโยชน์

เป็นไปได้ว่าการผลักดัน นายสุทิน คลังแสง เข้าไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงมาจากรากฐานเช่นนี้

จึงต้องมี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก เป็นกรรมการผู้ช่วย “รัฐมนตรี”

ไม่ว่าการแต่งตั้ง นายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรี ไม่ว่าการเชิญ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก เข้ามาร่วมในบท “กรรมการผู้ช่วย”

จึงมิได้เป็นการยิงศรอย่างไร้เป้าหมาย

ตรงกันข้าม ยังคำนึงถึงรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ยังคำนึงถึงรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เพียงแต่เป็น “การปฏิรูป” มิได้เป็น “การปฏิวัติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image