สายธาร ความคิด มอง พรรณิการ์ วานิช ในเงา ‘อนิจจัง’

คอลัมน์หน้า 3 – สายธาร ความคิด มอง พรรณิการ์ วานิช ในเงา ‘อนิจจัง’

ชะตากรรมที่ พรรณิการ์ วานิช ประสบ เป็นชะตากรรมเดียวกันกับที่ ปารีณา ไกรคุปต์ เผชิญมาแล้ว

ท่ามกลางเสียง “สะใจ” ท่ามกลางเสียง “เห็นใจ”

อย่าได้แปลกใจหากจะได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งจาก ปิยบุตร แสงกนกกุล ต่อชะตากรรมของ ปารีณา ไกรคุปต์

Advertisement

เพราะเท่ากับเป็น “การประหาร” ในทาง “การเมือง”

อย่าได้แปลกใจหากจะได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งจาก ปารีณา ไกรคุปต์ ต่อชะตากรรมของ พรรณิการ์ วานิช

แม้ครั้งหนึ่งจะเคยอยากตบ “อีช่อ” ก็ตาม

Advertisement

ผลจาก “นิติสงคราม” ทำให้นักการเมืองอย่าง ปารีณา ไกรคุปต์ กับ พรรณิการ์ วานิช มายืนอยู่ในมุมเดียวกัน เห็นอกเห็นใจกันและกัน

นี่คือเป้าหมายแห่ง “นิติสงคราม” จริงละหรือ

มีคนจำนวนไม่น้อยมองเห็น การเมืองเป็นเรื่องโลดโผนเหนือกว่าความคาดหมาย และก็มีคนจำนวนไม่น้อยมองเห็น การเมืองเป็น “เรื่องตลก”

ยิ่งเห็น “ผล” จาก “กรณี 22 สิงหาคม” ยิ่งน่าขำ

มิใช่เพราะ “กรณี 22 สิงหาคม” หรอกหรือทำให้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ขานชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งๆ ที่เป็น “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรีจาก “เพื่อไทย”

ทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทย คืออวตารและความต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชน คืออวตารและความต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทย

เป็น “รากฐาน” และต้นตอแห่ง “รัฐประหาร”

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป้าหมายคือ “ทักษิณ” เป้าหมายคือ “ยิ่งลักษณ์”

สถานการณ์และการเคลื่อนไหวอันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จึงดำเนินไปอย่างชนิดพลิกความคาดหมาย

ไม่ว่าจะมองไปที่ “ดอนเมือง” ไม่ว่าจะมองไปที่ “เกียกกาย”

จึงไม่แปลกที่ในวันที่ 19 กันยายน “พี่เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จึงออกมาเสนอให้มีการ “นิรโทษกรรม” คดีในทางการเมือง

นับแต่หลังเดือนกันยายน 2549 นับแต่หลังเดือนพฤษภาคม 2557

ก็ในเมื่อคนระดับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ยังขานรับชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ชัดถ้อยชัดคำ

เช่นเดียวกับ “พลังประชารัฐ” เช่นเดียวกับ “รวมไทยสร้างชาติ”

แล้วจะให้เข้าใจต่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 อย่างไร แล้วจะให้เข้าใจต่อรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างไร

ถาม “ประยุทธ์” ถาม “ประวิตร”

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของ “อนิจจัง” ไม่ว่าต่อ “สถานการณ์” ทางการเมือง ไม่ว่าต่อ “ผลกระทบ” ถึงตัวบุคคล

เหมือนกรณี “ปารีณา” เหมือนกรณี “พรรณิการ์”

ทั้งหมดนี้สะท้อนความแตกต่างในทาง “ความคิด” อันส่งผลสะเทือนนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างในทาง “การเมือง”

ท่ามกลาง “อนิจจัง” และความ “ไม่เที่ยง” แท้ ไม่ “แน่นอน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image