บนทาง สองแพร่ง ของ ภูมิธรรม เวชยชัย สภาร่าง รัฐธรรมนูญ

ภาพแห่งการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ในความรับผิดชอบของรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย
เร้าเย้ายวน “การเมือง” อย่างยิ่ง

โดยเฉพาะจังหวะแห่ง “ส.ส.ร.”

ไม่ว่าจะเป็น “ข้อสั่งการ” ของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ว่าจะเป็นแต่ละจังหวะในการ “เปิดตัว” ของรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย

มากด้วย “ความจัดเจน” มากด้วย “องค์ประกอบ”

Advertisement

เริ่มตั้งแต่การเปิดประเด็นอาจส่งเทียบเชิญไปยัง นายวิษณุ เครืองาม ผู้มีส่วนอย่างสำคัญกับ “รัฐธรรมนูญ” ตั้งแต่หลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519

รวมถึงการระบุรูปแห่ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมา

ชวนให้เกิดความสงสัยว่าจะเป็นรูปในแบบ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจะเป็นรูปในแบบ นายบรรหาร ศิลปอาชา

Advertisement

“แต่งตั้ง” หรือว่า “เลือกตั้ง”

มีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจต่อ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

รากฐาน คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2501

ดำเนินการทั้งในสถานะแห่ง “รัฐสภา” และ “ยกร่าง” รัฐธรรมนูญ จึงสะท้อนลีลาในแบบ “บรรยายความตามไท้” มาอย่างยาวนาน

จากมือของ “หลวงสุทธิสารรณกร” ถึงมือของ นายทวี บุณยเกตุ

จึงใช้เวลาจากปี 2502 เรื่อยมาจนถึงปี 2511 จึงสามารถประกาศและบังคับใช้เป็น “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511”

นี่ย่อมเป็น “ยุทธศาสตร์” อันมาจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

มีความแตกต่างไปจาก “ยุทธศาสตร์” อันกำหนดขึ้นก่อนและหลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2539 ของ นายบรรหาร ศิลปอาชา อย่างเด่นชัด

แตกต่างโดย “รากฐาน” แตกต่างโดย “เป้าหมาย”

ต้องยอมรับว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ในยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผลิตผลและความต่อเนื่องจาก 2 สถานการณ์สำคัญ

1 พฤษภาคม 2535 และ 1 รัฐบาล “ประชาธิปัตย์”

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีต้องประสบกับข้อเรียกร้องของ “ประชาชน”

“รังเกียจ” ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534

เกิดการเคลื่อนไหวที่เริ่มโดย ร.ต.ฉลาด วรฉัตร กระทั่งนำไปสู่สถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

และก็เกิดคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้น

ข้อเสนอในเรื่อง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นนโยบายของพรรคชาติไทยในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2539

เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญจาก “การเลือกตั้ง” มิใช่ “แต่งตั้ง”

สถานการณ์จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ได้กลายเป็นสถานการณ์วัดใจพรรคเพื่อไทย วัดใจรัฐบาล “พิเศษ” อย่างแหลมคม

เมื่อมองผ่านภาพแห่ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”

ตกลงจะเดินแนวทาง “แต่งตั้ง” ในแบบ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ “เลือกตั้ง” ในแบบของ นายบรรหาร ศิลปอาชา

นี่คือทาง 2 แพร่ง เบื้องหน้านายภูมิธรรม เวชยชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image