1เดือน ‘ตั้งรัฐบาล’ จับตา2พรรคใหญ่ พท.-ก.ก.เผชิญหน้า

1เดือน‘ตั้งรัฐบาล’  จับตา2พรรคใหญ่ พท.-ก.ก.เผชิญหน้า

วันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นห้วงเวลาครบ 1 เดือน ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายหลังเริ่มนับหนึ่ง

ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมกับขับเคลื่อนหลักการบริหารงานแบบ “ควิกวิน” ตามสไตล์อดีตซีอีโอ ที่เน้นการบริหารงานแบบรวดเร็ว

เรื่องใดที่สามารถเดินหน้าทำงานได้ ให้เริ่มปฏิบัติงานลงมือทำได้ทันที ดังที่นายกฯเดินหน้าขับเคลื่อนงานด้านการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก เพราะถือเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทันที

Advertisement

ในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่มาตรการที่รัฐบาลเศรษฐาขับเคลื่อนผ่านมติ ครม.นัดแรก จะเน้นไปที่มาตรการการแก้ปัญหาปากท้อง ลดต้นทุน ปัจจัยค่าครองชีพของประชาชน ทั้งการลดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาท เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายนเป็นต้นไป พร้อมกับลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 29.99 บาท รวมทั้งมีมาตรการพักหนี้เกษตรกรและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เป็นเวลา 3 ปี อีกทั้งเห็นชอบวีซาฟรีชั่วคราว สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและประเทศคาซัคสถาน ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจชิ้นโบแดง อย่างนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ตามกรอบคาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ 56 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตั้งเป้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวกดปุ่มใช้เงินให้ได้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเป็นการอัดฉีดกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ อันจะส่งผลต่อตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5% ตามที่คณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรค พท.และของรัฐบาลคาดการณ์ไว้

Advertisement

ท่ามกลางแรงเสียดทานทางการเมือง เสียงคัดค้าน และการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคำร้องที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่าขัดกับ มาตรา 258 ก. (2) (3) หรือไม่

ประสานกับการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาและตรวจสอบนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบายก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่

นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เปรียบเหมือนไฟต์บังคับในทางการเมืองต่อพรรค พท. และรัฐบาลเศรษฐา ต้องขับเคลื่อนให้จับต้องให้ได้ เพื่อใช้เป็นผลงานชดเชยกับต้นทุนทางการเมืองที่เสียไปแบบหมดหน้าตักกับการตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้วของพรรค พท. แม้จะต้องฝ่าด่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นแค่ไหน รัฐบาลเศรษฐาและพรรค พท.จำต้องฝ่าด่านเดินหน้าไปให้ได้

ขณะเดียวกันถือเป็นการผ่านช่วงหนึ่งเดือนของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ปรับทัพโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ใหม่ให้เป็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ของพรรคที่มีเสียงอันดับหนึ่งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน ด้วยการขยับ “ชัยธวัช ตุลาธน” จากเลขาธิการพรรค ก.ก. ขึ้นมาเป็น หัวหน้าพรรค ก.ก. ที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ ผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ฝ่ายค้านเชิงรุกที่มีพรรค ก.ก.เป็นแกนนำ

ขับเคลื่อนทั้งการเสนอร่างกฎหมายที่่มีส่วนปฏิรูปประเทศให้มีความก้าวหน้า และการตรวจสอบการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของรัฐบาลเศรษฐาอย่างเข้มข้น ตรงไป ตรงมา ไม่เกรงใจใคร

แม้ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งพรรค พท.และพรรค ก.ก.เคยผนึกกำลังกันตรวจสอบรัฐบาลกลุ่ม 3 ป.อย่างเข้มข้น แต่เมื่อกติกาทั้งรัฐธรรมนูญ และกลไกทางการเมืองบีบให้พรรค ก.ก.ต้องมาเป็นฝ่ายค้าน ย่อมต้องแสดงบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลเศรษฐาอย่างเต็มที่ ผ่านการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และกลไกของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ สภาผู้แทนราษฎร ที่พรรค ก.ก.ส่ง 150 ส.ส.เข้าไปเป็นประธาน กมธ. 8 คณะ และนั่งเป็น กมธ.ทั้ง 35 คณะ รวมทั้งการยื่นอภิปรายให้คำเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดไทม์ไลน์ไว้หลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ผ่านสภาวาระ 3 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567

และการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ถือเป็นอาวุธสำคัญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะยื่นซักฟอกรัฐบาลได้สมัยประชุมละหนึ่งครั้ง

แต่ใช่ว่าการเดินหน้าตรวจสอบของพรรค ก.ก. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจะเดินหน้าได้อย่างไร้ซึ่งแรงเสียดทานทางการเมือง เนื่องด้วยพรรค ก.ก.ต้องเผชิญกับปัญหาร้อนภายในพรรค อาทิ การคุกคามทางเพศ และการทำความรุนแรงของ ส.ส. และสมาชิกพรรคต่อสตรี จนกลายเป็นคำถามและกระแสเรียกร้องกลับมายังแกนนำพรรค ก.ก.ว่าจะเคลียร์ปัญหาดังกล่าวให้สอดคล้องกับเรื่องความเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำที่พรรค ก.ก.ตั้งมาตรฐานไว้สูง และเรียกร้องให้ทุกพรรคปฏิบัติตามได้อย่างไร

ห้วงเวลา 1 เดือนในการทำหน้าที่ของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ล้วนมีแรงเสียดทานและปัญหาให้ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องเผชิญและฝ่าด่านเพื่อให้เดินหน้าทำงานได้ตามบทบาท ที่ถูกกำหนดไว้ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ โดยมีฐานเสียง ผู้สนับสนุน รวมทั้งเอฟซีของทั้งสองฝ่ายเฝ้าจับตาและตัดสินอนาคตทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image