ภารกิจ ‘ชัยธวัช’ นั่งผู้นำฝ่ายค้าน ฝ่ากระแสลอยแพ

ภารกิจ ‘ชัยธวัช’ นั่งผู้นำฝ่ายค้าน ฝ่ากระแสลอยแพ

ภารกิจ ‘ชัยธวัช’ นั่งผู้นำฝ่ายค้าน ฝ่ากระแสลอยแพ

ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ในพิธีดังกล่าวมี “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” รองประธานสภาคนที่หนึ่ง “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาคนที่สอง ส.ส.ของพรรค ก.ก. รวมทั้ง ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง

นัยที่ฝ่ายการเมืองจับตา คือ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่เข้าร่วมพิธีแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในวันดังกล่าวเพียงสักคนเดียว แม้ “ประมวล พงศ์ถาวราเดช” ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะประธาน ส.ส.พรรค จะชี้แจงว่า ส.ส.พรรค ปชป.ที่ไม่ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับ “ชัยธวัช” ที่ได้รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากได้รับแจ้งจากคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อย่างกระชั้นชิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม อีกทั้ง ส.ส.ส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัดและเดินทางมาในพื้นที่กรุงเทพฯแล้ว จึงไม่ได้เตรียมชุดขาวปกติเพื่อมาร่วมในพิธี

อย่างไรก็ตาม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ปชป.จะนัดพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้านอยู่แล้ว จึงจะใช้โอกาสดังกล่าวในการแสดงความยินดี

Advertisement

การที่ ส.ส.พรรค ปชป.หนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่เข้าร่วมแสดงความยินดีพิธีแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านของพรรค ก.ก. ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นสัญญาณการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ส่อว่าไม่มีความเป็นเอกภาพและลดทอนพลังตรวจสอบการบริหารงานของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่มีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในขั้นมีเสถียรภาพที่ 314 เสียง

นัยของ ส.ส.พรรค ปชป.ถูกตีความเชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวก่อนช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ สอดคล้องกับกระแสข่าวที่มีระดับนำของพรรค ปชป.บางคน เดินทางไปพูดคุยกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มากบารมีของพรรค พท. ถึงฮ่องกง เชื่อมโยงกับดีลเข้าร่วมรัฐบาลของ ส.ส.พรรค ปชป. ก่อนการเลือกคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ผ่านความชัดเจนของ 16 ส.ส.พรรค ปชป.กลุ่มเพื่อนต่อ สวนมติพรรคด้วยการร่วมโหวตเลือก “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา

เป็นการส่งสัญญาณความชัดเจนไว้ล่วงหน้า

Advertisement

ส่วน “ชัยธวัช” ได้วางภารกิจการทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในทันทีว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ยืนยันว่าพรรคฝ่ายค้านจะทำงานอย่างเต็มที่อย่างที่ประชาชนคาดหวัง และไว้วางใจการทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ตรงไปตรงมา และในขณะเดียวกันแม้จะเป็นฝ่ายค้าน ก็เห็นว่าฝ่ายค้านและฝ่ายบริหาร รวมถึง ส.ส.ของรัฐบาลยังสามารถที่จะร่วมมือกันได้ ในการผลักดันสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนผ่านตัวแทนนิติบัญญัติได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและการผลักดันวาระต่างๆ ร่วมกันได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตรงกันข้ามกันตลอด และหวังว่าหลังจากนี้กระบวนการนิติบัญญัติ การทำงานในสภาก็จะสมบูรณ์และเข้มข้นมากขึ้น

ท่ามกลางปัจจัยและแรงเสียดทานที่ลดทอนความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยพรรคแกนนำ อย่างพรรค ก.ก. ที่ต้องเผชิญกับคดีความทางการเมืองที่อาจจะส่งต่อแกนนำและทิศทางการเดินหน้าของพรรค ก.ก. ผ่านสองคำร้องที่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

คำร้องแรกกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานทุกฝ่ายครบถ้วนแล้ว และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 24 มกราคม 2567

คำร้องที่สอง กรณีขอให้พรรค ก.ก.เลิกนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานทุกฝ่ายวันที่ 25 ธันวาคมนี้

หากกระบวนการเสร็จสิ้นคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าวในช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 เช่นกัน

ทั้งสองคำร้องดังกล่าวหากผลออกมาในทางที่ไม่เป็นคุณ ย่อมส่งผลต่อความเข้มแข็งในการเดินหน้าตรวจสอบรัฐบาลของพรรค ก.ก. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านและแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ที่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมือง นับแต่ชนะเลือกตั้ง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 คว้าเสียงมาได้ที่ 151 เสียง แต่ไม่สามารถรวมเสียงโหวต “พิธา” เป็นนายกฯได้ กระทั่งถูกยื่นตรวจสอบทั้งกรณีการถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของ “พิธา” หรือไม่ และกรณีพรรค ก.ก.มีนโยบายหาเสียงที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วนแนวร่วมสำคัญของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีเสียงอันดับสอง อย่างพรรค ปชป. ภายหลังที่มีการจัดทัพเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ได้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พร้อมกับทีม กก.บห.ล้วนเป็นสายตรงของ “เฉลิมชัย” แม้จะประกาศว่าพรรค ปชป.จะไม่เป็นอะไหล่ให้กับพรรคใด แต่การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน เมื่อมีปัจจัยและข้อมูลที่เปลี่ยนไป

ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจกำหนดอนาคตทางการเมืองของพรรคนั้นๆ ด้วย

การเดินหน้าภารกิจผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรของ “ชัยธวัช” และหัวหน้าพรรค ก.ก. ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังต้องเผชิญกับสภาวะที่อาจจะถูกลอยแพ ขณะเดียวกันยังต้องฝ่าด่านความเสียเปรียบ ทั้ง 1.เสียงที่เป็นรองพรรคร่วมรัฐบาล 314 เสียง 2.เสียเปรียบในความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และ 3.ปัจจัยเรื่องคดีความที่เกี่ยวกับระดับแกนนำและสถานะของพรรค ก.ก.

ทั้ง 3 ข้อความเสียเปรียบข้างต้น คือ ปัจจัยและแรงเสียดทานที่ “ชัยธวัช” จะต้องโชว์ฝีมือในหมวกของผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรค ก.ก. ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่าไปให้ได้ ผ่านผลงานการตรวจสอบรัฐบาลให้ประชาชนจับต้องได้ ทั้งในและนอกสภา แม้ด้วยเสียงที่เป็นรองพรรคร่วมรัฐบาล 185 เสียง จะไม่สามารถล้มรัฐบาลด้วยกลไกของสภา ผ่านทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ประจำสภาผู้แทนราษฎร เว้นเสียแต่พรรคร่วมรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินสะดุดหกล้มด้วยตัวเอง หรือบริหารผิดพลาดจนเกิดแผลให้พรรคร่วมฝ่ายค้านทำลายความชอบธรรมได้

ซึ่งบทสรุปสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ผ่านผลการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image