ส่องสัญญาณร้อน การเมือง-เศรษฐกิจ บนปัจจัยไม่แน่นอน

ส่องสัญญาณร้อน
การเมือง-เศรษฐกิจ
บนปัจจัยไม่แน่นอน

การเมืองภายใต้การทำหน้าที่ของผู้มีอำนาจในลักษณะสงครามตัวแทนทวีความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ ผ่านคดีและคำร้องที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองทั้งฉากหน้าและผู้อยู่เบื้องหลัง ที่ไทม์ไลน์ของการตรวจสอบ จากกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มมีความชัดเจนใกล้ถึงบทสรุปในแต่ละคดี

เริ่มด้วยมติคณะกรรมการแพทยสภา ที่พิจารณาผลการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เกี่ยวกับการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยให้ลงโทษแพทย์ 3 ราย แบ่งเป็น ให้ว่ากล่าวตักเตือน 1 ราย ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน และสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 ราย กรณีให้ข้อมูล หรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง

ผลสอบของคณะกรรมการแพทยสภาได้เสนอต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนายกสภาพิเศษ เพื่อขอความเห็นชอบ โดยมีเวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวในกรอบ 15 วัน

ซึ่งมีการวิเคราะห์เชื่อมโยงผลสอบของคณะกรรมการแพทยสภาต่อกรณีการพักรักษาอาการป่วยของ “ทักษิณ” ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ กับกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ตั้งองค์คณะขึ้นมาไต่สวนกรณี กรมราชทัณฑ์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาจำคุกนายทักษิณ 1 ปี ตามหมายขังหรือไม่ พร้อมกับสั่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล โดยนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิถุนายนนี้

ADVERTISMENT

ในแง่มุมข้อกฎหมาย กลุ่มที่คัดค้านมองว่า กรณีการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ ไม่ถือว่าเป็นการถูกคุมขังนอกเรือนจำ เนื่องจากมีผลสอบของคณะกรรมการแพทยสภาระบุว่าไม่ได้ป่วยวิกฤตตามคำให้การของแพทย์ผู้รักษา จึงต้องกลับไปรับโทษตามคำพิพากษาเช่นเดิม

ขณะที่ในมุมของ “นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์” นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มองว่า ในการส่งตัวอดีตนายกฯไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และการที่แพทย์ของโรงพยาบาลดังกล่าวมีความเห็นให้อดีตนายกฯทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นไปโดยชอบด้วยมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ก็ถือได้ว่าอดีตนายกฯได้ถูกจัดการตามหมายจำคุกแล้ว โดยถูกจำคุกตามหมายจำคุกของศาลที่โรงพยาบาลตำรวจ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 ของกฎหมายราชทัณฑ์

แต่ทั้งสองมุมมองต่อกรณีการรักษาอาการป่วยของนายทักษิณจะมีความชัดเจนผ่านผลการไต่ส่วนขององค์คณะศาลฎีกาฯ วันที่ 13 มิถุนายนนี้ ซึ่งไม่สามารถก้าวล่วงต่อคำสั่งของศาลได้

ขณะที่การตรวจสอบโพยฮั้วการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เดินหน้าสอบสวนในความผิดฐานฟอกเงิน กับอั้งยี่ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 เดินหน้าเข้มข้น

การตรวจสอบคดีฮั้วเลือก ส.ว.ในห้วงที่ผ่านมามีความชัดเจนมาเป็นลำดับ ในลักษณะฝ่ายบริหารกำลังรุกไล่ หลัง กกต.และดีเอสไอส่งหมายเรียกให้ 55 ส.ว.ล็อตแรกมารับทราบข้อกล่าวหา ระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคมนี้

แต่พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของ ส.ว. 92 คน ขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและ รมว.กลาโหม และ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ระบุถึงพฤติกรรมของ 2 รัฐมนตรี ในฐานะประธาน กคพ.และรองประธาน กคพ.ที่ตรวจสอบคดีโพยฮั้วเลือก ส.ว. อาจเข้าข่ายแทรกแซงอำนาจหน้าที่ กกต. กลั่นแกล้งข่มขู่วุฒิสภา ถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ พ.ต.อ.ทวีหยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม เฉพาะในฐานะผู้กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ และรองประธาน กคพ. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ย่อมส่งผลให้การตรวจสอบคดีโพยฮั้วเลือก ส.ว.เดินหน้าได้ไม่เร็ว แต่ต้องเป็นด้วยความรัดกุม ภายใต้การรองรับของข้อกฎหมาย เพราะผลของคดีล้วนสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองต่อทุกฝ่าย

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคกล้าธรรม (กธ.) ภายใต้การนำของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา ประธานที่ปรึกษาพรรค กธ. และ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรค กธ. ที่ออร่าทางการเมืองเริ่มฉายจับขึ้นเรื่อยๆ ภายหลังนำทัพชนะเลือกตั้งซ่อม ปักธง ส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรค กธ. จากเจ้าของพื้นที่เดิมอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้สำเร็จ ล่าสุด “กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์” ส.ส.ชลบุรี เขต 6 พรรคประชาชน (ปชน.) ประกาศยุติการร่วมงานกับพรรคต้นสังกัด พร้อมกับตัดสินใจร่วมงานกับพรรค กธ. แม้จะเจอเกม “ดองงูเห่า” จากพรรค ปชน.

ซึ่งออร่าของพรรค กธ.ไม่ใช่แค่เพียง “กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์” จากพรรค ปชน. แต่ยังมี ส.ส.และอดีตนักการเมือง จะทยอยเข้าร่วมงานกับพรรค กธ. ตามคำยืนยันของ “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร เลขาธิการพรรค กธ. ระบุว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 35 เสียง

นั่นเท่ากับว่า เมื่อพรรค กธ.มีเสียงในมือเพิ่มมาถึง 35 เสียง ความเป็นไปได้ต่อการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนับจากนี้ ย่อมมีผลต่ออำนาจการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรค กธ.ตามมาด้วย

แม้แกนนำพรรคจะระบุว่า แม้จะมีเสียง ส.ส.เพิ่มขึ้น แต่ยังยึดโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนเดิม ไม่ได้คิดนำมาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่ในทางการเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการเดินหน้าบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการเดินหน้าเจรจาเรื่องกำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกา ในห้วงนับถอยหลัง 90 วัน ที่รัฐบาลสหรัฐยืดการบังคับการขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% แม้ที่ผ่านมาแกนนำรัฐบาลและทีมเจรจาจะถูกมองว่าการเดินหน้าเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากยังไม่มีวันเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐที่ชัดเจนเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่ความคืบหน้าล่าสุดผ่านการเปิดเผยของ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯและ รมว.คลัง เกี่ยวกับการเจรจาเรื่องกำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกาถือว่ามีสัญญาณที่ดีต่อประเทศไทย ผ่านท่าทีของ “สก็อตต์ เบสเซนต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่ระบุบนเวที Saudi Arabia Investment Forum เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ออกมาเป็นบวกต่อข้อเสนอของไทย ซึ่งทีมเจรจาของไทยจะเร่งเดินหน้าเพื่อเปิดเจรจาผ่าน 5 ข้อเสนอ เพื่อหาข้อยุติในส่วนของมาตรการภาษีต่างตอบแทน โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าสหรัฐจะจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 10% หากเกิดขึ้นได้จริงย่อมจะส่งผลต่อภาคการส่งออก และระบบเศรษฐกิจของประเทศ

แต่ภายใต้การบริหารของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ยังสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ อันจะนำมาสู่สงครามการค้าได้ตลอดเวลา

ดูเหมือนว่าทั้งปัญหาการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจต่างอยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอน

ถือเป็นเรื่องโจทย์ข้อใหญ่ ที่รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะต้องเตรียมทุกกลยุทธ์และการบริหารจัดการให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากปัจจัยภายนอกให้ได้

หากทำได้ ย่อมส่งผลให้รัฐนาวาเดินหน้าไปจนครบวาระในปี 2570