สถานีคิด : อย่าถึงขั้นประหารกันเอง : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สังคมทั่วโลก มีการถกเถียงกันมาตลอดเรื่องการใช้โทษประหารชีวิต ขณะเดียวกันมีหลายประเทศที่ยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีนี้ไปแล้ว บางประเทศก็มีทางออกแบบพบกันครึ่งทาง คือ ใช้การประหารเฉพาะข้อหาบางประเภท

สำหรับไทยเรา ยังมีโทษประหารอยู่ และล่าสุดเมื่อมีการนำมาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เลยเกิดการเคลื่อนไหวของนักสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทางสากล เรียกร้องให้เลิกการประหารได้แล้ว

ขณะที่กระแสสังคมฝ่ายที่หนุนให้มีการลงโทษแบบนี้ต่อไป ก็พากันฮือกันออกมา

กลายเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างขนานใหญ่ในสังคมไทยวันนี้

Advertisement

ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการลงโทษขั้นเอาชีวิตเช่นนี้ เห็นว่าเป็นวิธีการล้าหลัง ไร้มนุษยธรรม ละเมิดความเป็นมนุษย์ สำคัญสุดคือ การประหารนักโทษ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอาชญากรรมอย่างถูกจุด บ้างก็ว่า ไม่มีผลให้สถิติคดีอาชญากรรมลดลงไปแต่อย่างใด

ส่วนฝ่ายหนุนให้ใช้ต่อ ยืนยันว่า การประหาร มีผลลดอาชญากรรมแน่ๆ ย่อมทำให้เกิดการหวาดกลัวไม่กล้าทำอีกในรายอื่นๆ

รวมทั้งมองว่า จะมีผลต่อการลดหรือไม่ลดสถิติอาชญากรรมก็ตามเถอะ แต่เป็นการลงโทษที่สาสมกับการกระทำผิดของอาชญากร เมื่อไปเข่นฆ่าชีวิตเหยื่อ ก็ต้องรับโทษกรรมที่เท่าเทียมกัน

Advertisement

พูดแบบนี้ เลยทำให้ญาติพี่น้องของเหยื่อผู้สูญเสียในหลายคดี พากันออกมาร่วมหนุนให้คงโทษประหารต่อไป

บรรยากาศในสังคมเราวันนี้ แบ่งฝ่ายเถียงกันหน้าดำหน้าแดง จนน่าห่วงใยว่า อย่าถึงขั้นใช้อารมณ์ลุกขึ้นมาประหัตประหารกันเองก็แล้วกัน

อันที่จริง การถกเถียงกันในหมู่ผู้คนในสังคม น่าจะเป็นเรื่องดี ถ้าหากการโต้แย้งกันนั้น อยู่บนพื้นฐานของการแสวงหาคำตอบที่เหมาะสมและน่าจะดีที่สุด เป็นประโยชน์กันทุกฝ่ายมากที่สุด

ไม่ควรเถียงกันเพื่อเอาชนะ

จะว่าไปแล้ว โดยหลักการก็ต้องยอมรับว่า โทษประหารไม่ใช่ทางแก้อาชญากรรมอย่างถูกสุด หรือไม่ได้แก้อย่างถึงที่สุด

เพียงแต่จะยกเลิกโทษประหารทันที โดยที่รัฐยังไม่ได้แก้ปัญหาโดยรวมของสังคม เพื่อให้อาชญากรรมลดลงไป เช่นนี้แล้ว คงจะมีคนจำนวนมากที่ไม่ยอมให้เลิกประหารแน่ๆ

อย่างเช่น ปัญหาใหญ่ของประเทศเราวันนี้ มาจากเรื่องยาเสพติด เดินเข้าไปในโรงพัก เดินเข้าไปในศาลวันนี้ จะเห็นเลยว่ามีแต่คดียาเสพติดทั้งนั้น

พอติดยาก็เริ่มดิ้นรนหาเงิน นำไปสู่การฉกชิงวิ่งราวปล้นจี้ หรือเมาขาดสติก็ฆ่าคนได้ง่ายๆ

ก็ต้องมุ่งแก้ที่ยาเสพติดให้ได้ แต่ปล่อยให้ตำรวจรับบทฝ่ายเดียว ก็คือ สืบจับปราบปราม หรือวิสามัญฆาตกรรมในรายใหญ่ที่มักไม่ยินยอมให้จับกุมโดยดี ก็คือการแก้ที่ปลายเหตุ

ถ้ารัฐบาลแก้เศรษฐกิจไม่ได้ ถ้าชนบทยากจน ผู้คนต้องแห่เข้ามาทำงานใน กทม. ปล่อยลูกหลานอยู่กับปู่ย่าตายาย เด็กเหล่านั้นมีแนวโน้มจะเกิดปัญหา

ยกตัวอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้อคติทางการเมืองมาต่อต้านล้มล้างกัน โดยไม่มองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่จะได้รับ เช่น ทำให้เกิดสถานีรถไฟขนาดใหญ่กระจายไปทั่วประเทศ คราวนี้คนก็ไม่ต้องเข้ามาหางานทำแต่ใน กทม. ปัญหาสังคม ปัญหาชุมชน ปัญหาครอบครัวจะลดลง และเด็กติดยาลดฮวบแน่นอน

แต่เรามักใช้อารมณ์มาตัดสินปัญหา เชื่อว่านักการเมืองมันชั่ว แต่ไม่ดูว่าฮือกันไปโค่นล้มแล้ว หมายถึงการพังทลายของโครงสร้างการเมืองที่ตอบสนองประโยชน์ของประชาชนไปในทันทีด้วย

เหมือนกับที่เถียงเรื่องโทษประหารแบบใช้อารมณ์อยู่นี่แหละ

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image