ภาพเก่าเล่าตำนาน : แม้ประเทศไม่ใหญ่โต… แต่‘สิงคโปร์’นำหน้าเสมอ

ผู้นำของโลก ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดี คิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือ ที่ต่างก็มีพลังอำนาจเปี่ยมล้นบนโลกใบนี้ มีความขัดเคืองเรื่องคาบสมุทรเกาหลีกันมานานราว 70 ปี แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กันมายาวนาน ตกลงจะนั่งคุยกันครั้งประวัติศาสตร์ให้ชาวโลกได้ประจักษ์

สังคมโลกจับจ้องว่าจะคุย-ไม่คุย ถ้าจะคุยกัน จะไปคุยกันที่ไหน และในที่สุด ประเทศสิงคโปร์ ดินแดนที่เป็นเกาะขนาดเล็ก คือประเทศที่ผู้มากบารมีทั้ง 2 เลือกที่จะไปพูดคุย… ทำเอาคนทั้งโลกแอบอิจฉาประเทศสิงคโปร์นี้ว่า…มีอะไรดีนักหนา ?

ภาพเก่า..เล่าตำนานบทนี้ มาชวนคุยกันเรื่องประเทศเล็กๆ ที่ก้าวล้ำนำหน้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วระดับต้นของโลก

Advertisement

ย้อนเวลากลับไปในช่วงศตวรรษที่ 3 มีบันทึกว่า นักเดินเรือชาวจีนมาค้นพบดินแดนที่เป็นเกาะ เรียกดินแดนตรงนี้ เป็นภาษาจีนว่า “พู เลา ซุง” (เกาะปลายคาบสมุทร)

ในศตวรรษที่ 14 เกาะแห่งนี้ ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย (Sri Vijayan Empire) เป็นที่รู้จักกันในชื่อของเทมาเส็ก (Temasek: เมืองแห่งทะเล) และในช่วงศตวรรษที่ 14 นี้เอง เจ้าชายแห่งศรีวิชัยออกล่าสัตว์บนเกาะ และมองเห็นสัตว์ตัวหนึ่งแต่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นสิงโต จึงตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “สิงหปุระ” หรือ “เมืองสิงโต” และอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ถึง
5 พระองค์

สิงหปุระ ตั้งอยู่ตรงปลายแหลมมลายู จึงเป็นจุดนัดพบทางธรรมชาติของเส้นทางเดินเรือ เกาะนี้เป็นจุดแวะพักของเรือเดินสมุทรหลายประเภท ตั้งแต่เรือสำเภาจีน เรืออินเดีย เรือใบอาหรับ และเรือรบของโปรตุเกส

Advertisement

ในยุคล่าอาณานิคม มหาอำนาจจากยุโรปทั้งหลาย ต่างหมายปองที่จะได้เกาะนี้เป็นเมืองขึ้นของตน โดยเฉพาะอังกฤษ ที่กำลังแข่งขันกับกองเรือฮอลันดา ซึ่งเข้ามามีอิทธิพล ยึดดินแดนได้กว้างใหญ่ในแถบหมู่เกาะโมลุกะหรือหมู่เกาะเครื่องเทศนี้ก่อนใคร

ประวัติศาสตร์ของเกาะสิงค์โปร์เลือนลาง ขาดหายไปเป็นเวลานาน ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน จะเริ่มมีหลักฐานปรากฏมากขึ้นเมื่ออังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อทำการค้า….

ในปี พ.ศ.2362 มร.แรฟเฟิลส์แล่นเรือมาขึ้นเกาะเทมาเส็ก ได้มองเห็นศักยภาพเกาะแห่งนี้ว่ามีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานที่ตั้งทางการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เซอร์ แรฟเฟิลส์ (ในนามของบริษัทอีสต์อินเดีย) ได้ทำความตกลงและเซ็นสัญญากับสุลต่านฮุสเซน ชาร์ ผู้ครอบครองเกาะนี้ เพื่อขอสร้างเป็นสถานีการค้าและการ
ตั้งถิ่นฐาน

อังกฤษมีสิทธิครอบครองเกาะสิงคโปร์ โดยเกาะต่างๆ ทางใต้ของสิงคโปร์ รวมทั้งชวาและสุมาตรายังคงเป็นของฮอลันดา ส่วนสิงคโปร์อยู่ในอิทธิพลของอังกฤษ

เมื่ออังกฤษไปครอบครองดินแดนใดๆ ในโลก อังกฤษจะพยายามสร้างระบบการเมือง การปกครองให้ดินแดนนั้นๆ ต่อมา พ.ศ.2366 เซอร์ แรฟเฟิลส์ ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกเพื่อจัดการปกครองเกาะแห่งนี้ เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างศีลธรรม ห้ามการพนันและการค้าทาส ซึ่งต่อมามีผู้คนหลายเชื้อชาติค่อยๆ อพยพเข้ามาทำงานในสิงคโปร์และเริ่มทะลักมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2369 เกาะสิงคโปร์ถูกปกครองโดยอังกฤษโดยสมบูรณ์ ซึ่งควบคุมดูแลเกาะสิงคโปร์ เกาะปีนัง และมะละกา โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ

เกาะแห่งนี้เจริญแบบก้าวกระโดด ปี พ.ศ.2375 สิงคโปร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการบริหารอาณานิคมของอังกฤษ ที่ครอบคลุมถึง ปีนังและมะละกา เป็นเมืองท่าที่คึกคักที่สุดในย่านนี้

ในปี พ.ศ.2403 มีผู้อพยพทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน อินเดีย และมาเลย์

มีบันทึกข้อมูลว่า ในระหว่างปี พ.ศ.2410-2412 เกาะเทมาเส็ก มีประชากรราว 100,000 คน

โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ เป็นใคร มาจากไหน ?

เซอร์ โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งเมืองสิงคโปร์ เกิดเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2324 เขาเกิดบนเรือที่ลอยทะเลนอกฝั่งพอร์ตมอแรนต์ จาเมกา ในวัยเด็ก แรฟเฟิลส์ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการน้อยมาก เขาได้เข้าทำงานเป็นเสมียนของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เด็กหนุ่มผู้นี้เรียนหนังสือด้วยตัวเอง เป็นคนเฉลียวฉลาด อัธยาศัยดี ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองอยู่เสมอ

ในเวลาไม่นาน แรฟเฟิลส์ได้รับตำแหน่งก้าวหน้าเป็นผู้ช่วยเลขานุการเมืองปีนัง ด้วยความสามารถโดดเด่น แรฟเฟิลได้เลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการเขตอาณานิคมชวา (พ.ศ.2354-2359) และได้แสดงฝีมือปฏิรูประบบการบริหารใหม่หมด

ชีวิตบั้นปลายของรัฐบุรุษผู้ก่อตั้งสิงคโปร์

ชะตาชีวิตของ เซอร์ แรฟเฟิลส์ต้องเผชิญกับการสูญเสียบุคคลในครอบครัวเกือบทั้งหมด เขาเสียภริยาในชวา (อินโดนีเซีย) และลูกอีก 3 คน ในเบนคูเลน

ในระยะหลังๆ เซอร์ แรฟเฟิลส์เริ่มเบื่อหน่ายการงานเนื่องจากมีศัตรูทางการเมืองมากจึงหันความสนใจไปในด้านธรรมชาติวิทยา เขาอยู่ดูแลการก่อตั้งสิงคโปร์จริงๆ เพียง 8 เดือน เมื่อเห็นว่าเรียบร้อยดีก็ออกเดินทางกลับประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2367 แต่แม้จะเป็นช่วงเวลาที่สั้น เซอร์ แรฟเฟิลส์ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ก่อตั้งสิงคโปร์

ในปี พ.ศ.2368 เซอร์ แรฟเฟิลส์ได้ร่วมก่อตั้งสมาคมสัตวศาสตร์แห่งลอนดอนและสวนสัตว์ลอนดอน และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรก ในปีต่อมา เซอร์ แรฟเฟิลส์ก็เสียชีวิตจากการตกเลือดในสมองเมื่ออายุ 45 ปี

เนื่องจาก เซอร์ แรฟเฟิลส์เป็นนักต่อต้านการค้าทาสที่ไปขัดผลประโยชน์ของพระ ศพของเซอร์ แรฟเฟิลส์ถูกห้ามมิให้ฝังในบริเวณโบสถ์ที่บ้านเกิด (โบสถ์เซนต์แมรี่ เมืองเฮนดอน) เพราะพระราชาคณะของเขตปกครองแห่งนี้มีรายได้จากการค้าทาส
….กลับมาเรื่องของประเทศสิงคโปร์ครับ

พ.ศ.2484 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สิงคโปร์คือป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุด เพราะมีทหารอังกฤษคอยปกป้องเต็มพิกัด แต่แล้วกองทัพลูกพระอาทิตย์ของญี่ปุ่นก็รบชนะอังกฤษ กองทัพญี่ปุ่นสามารถยึดครองเกาะแห่งนี้ได้เบ็ดเสร็จในปี พ.ศ.2485

ต่อมาในปี พ.ศ.2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สิงคโปร์ได้รับการยกฐานะให้เป็นอาณานิคมแบบเอกเทศ (Separate Crown Colony)

การถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้จุดประกายให้ชาวสิงคโปร์เกิดกระแสชาตินิยมอย่างแรงกล้า

หลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรค PAP และพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศรัฐบาลของลีมีความเชื่อที่ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการพึ่งพาประเทศอื่น

เมื่อพูดถึงทรัพยากรธรรมชาติของเกาะสิงคโปร์ ซึ่งมีที่ดินที่มีเพียง 580 ตารางกิโลเมตร (ประมาณเกาะภูเก็ต) เกาะแห่งนี้ในอดีตไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จะเลี้ยงตัวเองได้เลย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงสร้างอุตสาหกรรมบนเกาะถูกทำลายไปเป็นส่วนใหญ่ อาหาร พลังงาน ที่สำคัญที่สุด คือน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ต้องซื้อจากมาเลเซีย

ชะตาชีวิตของชาวสิงคโปร์ในช่วงแรก มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ คนสิงคโปร์ประสบปัญหาการว่างงาน ชาวสิงคโปร์เดินขบวนประท้วงรัฐบาลบ่อยครั้งในช่วง พ.ศ.2490 ถึง พ.ศ.2500 มีการทะเลาะวิวาท แบ่งแยกระหว่างชาวจีนกับแขก แต่ก็ปรองดองได้ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ตรงไปตรงมาและเข้มงวด

ในปี พ.ศ.2503 ชาวสิงคโปร์ราว 2 ใน 3 ต้องอาศัยใช้ชีวิตในสลัม เมืองสิงคโปร์ยังมีสภาพไม่น่าอยู่ แต่ด้วยการจัดระเบียบที่อยู่อาศัยแบบต่อเนื่องและเข้มข้น ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ก็ได้มีที่อยู่อาศัยที่ทันสมัยและถูกสุขภาวะในที่สุด

ปี พ.ศ.2511 อังกฤษประกาศถอนกำลังทหารออกจากสิงคโปร์ทำให้ปัญหาการว่างงานพุ่งสูงขึ้นไปอีก พร้อมทั้งทำให้เศรษฐกิจในสิงคโปร์หดตัวไปถึงร้อยละ 20

รัฐบาลสิงคโปร์โดยนายลี กวน ยู นำพาประเทศอย่างมั่นคง เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโต และเป็นหนึ่งในตัวแบบของรัฐแห่งการพัฒนา ที่เทียบเคียงได้กับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

สิงคโปร์โดดเด่นบนเวทีโลกทุกด้านทุกวันนี้ เพราะมี ลี กวน ยู และทีมงานที่ซื่อสัตย์ จริงจัง และมีวิสัยทัศน์

ลี กวน ยู เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2466 ในครอบครัวชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนที่ร่ำรวย ลี เป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก ได้รับทุนเข้าเรียนที่ Raffles College ประเทศสิงคโปร์ เรียนต่อกฎหมายที่ฟิตซ์วิลเลียม คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้รับเกียรตินิยม

ปี พ.ศ.2493 ลี กวน ยู กลับมายังแผ่นดินเกิดที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ลี เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นนักกฎหมายและเบนเข็มเข้าวงการการเมือง โดยจัดตั้งพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party : PAP) ขึ้นในปี พ.ศ.2493 และต่อมา 9 ปี เขาก็ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ.2502 ขณะที่มีอายุเพียง 35 ปี

ช่วงที่ ลี กวน ยู เป็นนายกฯสิงคโปร์ เป็นช่วงที่ประเทศมาเลเซียประกาศตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ ซึ่ง ลี กวน ยู เห็นว่าสิงคโปร์ควรจะได้รับเอกราชเช่นกัน จึงเจรจากับ ตันกู อับดุล รามาน นายกฯมาเลเซีย เพื่อขอรวมสิงคโปร์และมาเลเซียเข้าเป็นดินแดนเดียวกัน และในปี พ.ศ.2505 สิงคโปร์ก็ผนวกเป็นหนึ่งเดียวกับมาเลเซีย

สถานการณ์พลิกผันแบบนึกไม่ถึง เมื่อชาวมาเลเซียมองว่าชนชาติสิงคโปร์มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับมาเลเซียอย่างสิ้นเชิง ชาวมาเลเซียประท้วงแสดงความไม่พอใจ ต่อต้านสิงคโปร์

เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ ในที่สุด มาเลเซีย-สิงคโปร์ต้องแยกขาดจากกัน ทำให้ลี กวน ยู ประกาศให้สิงคโปร์เป็นเอกราชตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2508 ในชื่อ สาธารณรัฐสิงคโปร์

นายลี กวน ยู ตกที่นั่งลำบากเหมือนไฟนรกรุมเร้า ลี กวน ยู ถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะ ณ ตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าสิงคโปร์จะอยู่ได้อย่างไร สิงคโปร์เป็นดินแดนที่ไร้ซึ่งทรัพยากรในการพัฒนาประเทศ ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติใดๆ เลยแม้กระทั่งน้ำจืด

เมื่อตกที่นั่งลำบาก เลือดเข้าตาก็ต้องสู้สุดชีวิต ลี กวน ยู ระดมความคิดจากทุกฟากฝ่ายเพื่อสร้างชาติขึ้นมาใหม่ สิ่งแรกที่ดำเนินการ คือ การวางรากฐานการศึกษาของประชาชน เพราะเชื่อว่าประเทศจะพัฒนาได้ต้องสร้างคนก่อน เขาสนับสนุนจัดงบประมาณต่อเนื่องให้ประชาชนได้เรียนรู้ 2 ภาษา รัฐบาลของลี กวน ยู คัดเลือกเยาวชนระดับหัวกะทิไปเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกหลายแห่ง เพื่อนำความรู้มาพัฒนาประเทศ

บัณฑิตที่จบจากต่างประเทศ จะต้องกลับมาเป็นครู ยกระดับการเรียนการสอนให้ประชาชนในประเทศได้เรียนในระดับเท่าเทียมกับการศึกษาต่างประเทศ

รัฐบาลสิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญ เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรบุคคล มีระบบการแต่งตั้งบุคคลทหาร พลเรือน ในระดับผู้นำอย่างเข้มงวดและต้องเป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต

การสนับสนุนให้ประชาชนพูดได้ 2 ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษทำให้สิงคโปร์เจริญแบบก้าวกระโดด เพราะการติดต่อสื่อสารเป็นเรื่องจำเป็น ส่งผลให้สิงคโปร์เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ

ลี กวน ยู จัดระเบียบสังคมทุกอย่าง นับตั้งแต่การกำจัดวัฒนธรรมที่มอมเมาเยาวชน ที่เป็นรากฐานสำคัญ คือ ส่งเสริมด้านจิตสำนึกของประชาชนให้เป็นคนมีระเบียบ รักษาความสะอาดของบ้านเมือง อนุรักษ์ต้นไม้ และเคารพกฎหมาย

ผลงานของลี กวน ยู นั้น เต็มไปด้วยสิ่งสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่ม ทันโลกแซงยุค ลี กวน ยู ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.2533 หลังจากบริหารประเทศยาวนานถึง 31 ปี
23 มีนาคม 2558 ลี กวน ยู วัย 91 ปี ถึงแก่อสัญกรรม

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างที่หาตัวเปรียบได้ยาก สิงคโปร์ขยายพื้นที่โดยการถมทะเลจากประมาณ 581.5 ตารางกิโลเมตร ในตอนที่ก่อตั้ง มาเป็น 718.3 ตารางกิโลเมตรในปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 818 ตารางกิโลเมตร ภายในปี 2030 เพื่อรองรับประชาชนที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.5 ล้านคน

มีคำกล่าวว่า สิงคโปร์ คือ กรุงลอนดอนของเอเชีย คือที่ซึ่งคนรวยต้องการมาท่องเที่ยวพักผ่อนทำงานและฝากเงิน รัฐบาลจึงต้องทำให้ประเทศน่าอยู่ที่สุด

ผู้เขียนพบบทความของบีบีซีที่วิเคราะห์ว่า ทำไม 2 ผู้นำจึงมาใช้ประเทศสิงค์โปร์เป็นสถานที่ในการจัดประชุมครั้งประวัติศาสตร์

1.เหตุผลด้านความมั่นคง – ความปลอดภัยของผู้นำและเป็นสถานที่ที่เป็นกลาง มีโรงแรม ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ และโครงข่ายการคมนาคมที่ทันสมัย

2.เหตุผลเพราะสิงคโปร์มีความสัมพันธ์อันดีทั้งทางการกรุงวอชิงตันและกรุงเปียงยาง สมัยประธานาธิบดี โอบามา สหรัฐ ได้ยกระดับสิงคโปร์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และอีกสามปีต่อมาทั้งสองประเทศก็ลงนามข้อตกลงความมั่นคงร่วมกัน

ขณะที่เกาหลีเหนือและสิงคโปร์เองก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันมายาวนานกว่า 40 ปี โดยทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี พ.ศ.2518 และเกาหลีเหนือเองก็มีสถานทูตอยู่ในสิงคโปร์ ในช่วงที่เกาหลีเหนือตกระกำลำบาก สิงคโปร์ดูแลเกาหลีเหนือเสมอมาแบบเสมอต้นเสมอปลาย

3.เหตุผลด้านความละเอียดอ่อนด้านการทูต ทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐน่าจะต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสหรัฐกับเกาหลีเหนือเท่านั้น ไม่ควรมีอิทธิพลของชาติอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

4.เหตุผลเพราะข้อจำกัดด้านการเดินทางของผู้นำเกาหลีเหนือ-บีบีซีไทย รายงานว่า นับตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด นายคิมไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศบ่อยนัก ดังนั้น สถานที่ควรเป็นประเทศในเอเชีย ซึ่งนายคิมคงไม่อยากทิ้งประเทศไปหลายวันนัก เนื่องจากเกรงว่าอาจจะถูกยึดอำนาจได้

หลังการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งจบลงด้วยการลงนามในเอกสารร่วมกัน ถือเป็นภาพที่ทั่วโลกต้องจดจำเมื่อสองผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือ ได้มาพบหน้ากันเป็นครั้งแรก ขณะที่ “สถานที่” จัดประชุมระดับโลกครั้งนี้ คือ “สิงคโปร์”

ไม่น่าประหลาดใจที่ประเทศสิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ที่มายืนอยู่แถวหน้าของโลก คือตัวเลือกของประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดี คิม จอง อึน สบายใจ สุขใจ ขอเลือกเป็นที่ประชุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image