บทนำ : สังคมและ13ชีวิต

การช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าอคาเดมี่จากถ้ำหลวง รัฐบาลได้ระดมสรรพกำลัง เพื่อหาหนว่า จะนำ 13 ชีวิต ออกจากถ้ำด้วยวิธีใด ดำน้ำมาออกทางปากถ้ำ หรือจะใช้วิธีเจาะช่องจากโพรงหรือปล่องลงไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จะต้องตัดสินด้วยหลักวิชาและข้อมูลจากพื้นที่ ขณะที่เกิดกระแสสังคม ซึ่งห่วงใย สนใจ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านอินเตอร์เน็ต ในเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย เสนอทางออก และวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น และถกเถียงกันถึงเรื่องต่างๆ อาทิ การวิพากษ์วิจารณ์ผู้ฝึกสอนฟุตบอล ที่เป็นหนึ่งใน 13 ชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่เข้าใจปัญหา เข้าไปให้กำลังใจและสนับสนุน และเรียกร้องให้ยุติการตำหนิโดยที่ไม่ได้มีข้อมูลเพียงพอ

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษา กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกระแสสังคมที่มีต่อเด็กนักฟุตบอลและ โค้ช วัย 25 ปี ทั้ง 13 ชีวิต ว่า ทั้ง 13 คน อยู่ในฐานะผู้รอดชีวิต สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การเข้าไปซ้ำเติม แต่ควรส่งเสริมการเป็นกลุ่มเป็นก้อนของเขา เช่น สนับสนุนให้เล่นฟุตบอลตามที่ถนัด ส่งเสริมในความเข้มแข็งจนผ่านวิกฤตได้ เพื่อให้เด็กมีชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี เด็กที่รอดชีวิตจากการติดในถ้ำเป็นเวลานานเช่นนั้น รู้อยู่แล้วถึงผลกระทบและปัญหาต่างๆ ที่ตามมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ตั้งใจเชื่อว่าคงไม่กลับไปทำเช่นนั้นอีก และไม่ต้องไปยกย่องสรรเสริญว่าเป็นวีรบุรุษ สังคมต้องเข้าใจบทบาทของแต่ละฝ่าย วีรบุรุษคือทีมช่วยเหลือทุกทีมที่มีการจัดการที่ดีทั้งทีมที่ได้เปิดเผยตัวต่อสาธารณชน หรือที่ทำงานอยู่เบื้องหลังอีกมากที่ร่วมมือกันจนเจอเด็ก

นับเป็นคำแนะนำที่ดีและสร้างสรรค์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตยังชี้ว่า ที่ยังเป็นปัญหา คือการสร้างระบบป้องกันของสังคมไทยที่ยังมีช่องว่างและยังมีจุดอ่อนอยู่ ไม่ใช่แค่พื้นที่ถ้ำหลวง ในการสร้างระบบป้องกัน ต้องช่วยกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้ง 1.ทีมควบคุมกำกับดูแล จากส่วนราชการ ควรมีความเข้มงวดในการเข้าออก หากมีฝนหรือภัยธรรมชาติ 2.ในส่วนของประชาชนเจ้าของพื้นที่ ก็ต้องร่วมมือเป็นหูเป็นตาด้วยไม่ใช่รอแค่ส่วนราชการเพียงอย่างเดียว และ 3.ประชาชนผู้เข้าใช้บริการก็ควรปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ เป็นข้อเสนอที่ควรดำเนินการ เพื่อใช้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา 13 ชีวิต ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image