นพ.วิชัย เทียนถาวร : การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ท่ามกลางบรรยากาศ‘รัฐประหาร’ (2)

รัฐบาลประชาธิปไตยภายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 มีพรรคการเมืองต่างๆ ที่สมาชิกพรรคได้รับการเลือกตั้งมีจำนวน 22 พรรค ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากจนสามารถตั้งรัฐบาลได้ตามลำพังพรรคเดียว จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ปรากฏว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม มีสมาชิกเพียง 18 เสียง ได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลในที่สุด โดยจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคอื่นๆ อีกหลายพรรคซึ่งเรียกรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่ารัฐบาล “สหพรรค”

พรรคกิจสังคมบริหารประเทศได้ประมาณ 1 ปี ก็จำเป็นต้องยุบสภา ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2519 และมีการเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน 2519 ผลของการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก จึงได้เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดตั้งรัฐบาลโดยผสมกับพรรคอื่นอีก 3 พรรค รวมเป็น 4 พรรค เรียกว่า “รัฐบาลจตุรพรรค” โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช บริหารประเทศไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2519 จนถึงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2519 ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะได้เกิดการแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่งในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2519 ครั้นถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คณะทหารภายใต้การนำของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล

Advertisement

การรัฐประหาร ปี พ.ศ.2519

การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เกิดขึ้นเพราะกระแสต่อต้านการกลับคืนสู่ประเทศไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้เดินทางออกจากประเทศหลังวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 การกลับคืนสู่ประเทศไทยของบุคคลดังกล่าวก่อให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่นิสิต นักศึกษา ประชาชนว่าจะมีการหวนคืนสู่อำนาจของบุคคลเหล่านี้อีก นอกจากนี้การแตกแยกของพรรคนักการเมืองในเรื่องผลประโยชน์ที่ยังจัดสรรไม่ลงตัว ก็เร่งให้เกิดความปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น

การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา ประชาชนเพื่อต่อต้านการกลับคืนสู่ประเทศไทยของอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงดำเนินไปอย่างเหนียวแน่นจากสนามหลวง สู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็เกิดกลุ่มต่อต้าน 13 กลุ่ม ร่วมกันแถลงการณ์โจมตีนักศึกษาที่รวมตัว กับต่อต้านการกลับเข้าประเทศของอดีตน ายกรัฐมนตรีดังกล่าว

Advertisement

ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เวลา 06.00 น. ตำรวจบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินการให้นิสิตนักศึกษายุติการประท้วง และในเวลา 18.00 น. ของวันเดียวกัน คณะปฏิรูปนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ทำการยึดอำนาจรัฐบาลคณะปฏิรูป ได้มอบหมายให้ “นายธานินทร์ กรัยวิเชียร” เป็นนายกรัฐมนตรี

การรัฐประหาร ปี พ.ศ.2520

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้วรัฐบาลได้มีนโยบายในการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ บรรยากาศภายในประเทศค่อนข้างตึงเครียดเพราะรัฐบาลดำเนินการควบคุมมิให้ประชาชนทุกคนประพฤติตนเหมือนแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้ประชาชนรู้สึกตนเองถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

คณะนายทหารมีความเห็นว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมายจนยากจะแก้ไข จึงทำการยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 โดยมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า

นโยบายประสานประโยชน์ของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

หลังการยึดอำนาจโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดำเนินนโยบายประสานประโยชน์ของคนในชาติ โดยมีนโยบายที่จะเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาที่หลงผิดเข้าไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ในป่าได้กลับเข้ามาศึกษาต่อให้จบการศึกษาจนได้ปริญญาตรี นอกจากนี้ก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยสร้างสัมพันธ์กับต่างประเทศต่างๆ ในกลุ่มอินโดจีน และประเทศจีนให้ใกล้ชิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ประกาศลาออกกลางที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เนื่องด้วยมีเสียงคัดค้านนโยบายขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาล รัฐสภาได้ตกลงออกเสียงให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี

นโยบายรักษาระบอบประชาธิปไตย และนโยบายการเมืองนำหน้าทหารของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลานานถึง 8 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีที่พยายามประคับประคองมิให้ประเทศชาติต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ จะต้องเข้าทำการต่อต้านการก่อการรัฐประหารของคณะนายทหารบางกลุ่มถึง 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ.2524 และในปี พ.ศ.2529 นอกจากนี้ยังได้พยายามที่จะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจด้วยการส่งออกให้มากขึ้น และใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร ทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ยอมวางอาวุธและออกมาจากป่าเพื่อร่วมพัฒนาชาติไทยตามคำเรียกร้องของรัฐบาล

การรัฐประหาร ปี พ.ศ.2534

ภายหลังการเลือกตั้ง พ.ศ.2530 พล.อ.เปรมปฏิเสธที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก ดังนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งได้เสียงข้างมากในสภาจึงเป็นแกนนำร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ดำเนินนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ตามแนวทางที่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้วางเอาไว้ พร้อมกับประกาศนโยบายทำสนามรบในอินโดจีนให้เป็นตลาดการค้าเสถียรภาพของรัฐบาลก็มีความมั่นคงพอสมควร แต่เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมจึงมีความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันบ้าง นอกจากนี้ก็มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับผู้นำกองทัพ จนกระทั่งถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 คณะทหารภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยเหตุผลที่ประกาศในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลสร้างความแตกแยกในกองทัพและมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่สุจริตในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตามภายหลังการยึดอำนาจแล้ว คณะรัฐบาลซึ่งเรียกตัวเองว่า… “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” ได้ให้การสนับสนุนให้นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทยให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน บริหารประเทศได้ 1 ปี ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2535 หลังจากนั้นก็มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งปรากฏว่ามีพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากตามลำดับ ดังนี้ คือ 1) พรรคสามัคคีธรรม 2) พรรคชาติไทย 3) พรรคความหวังใหม่ 4) พรรคประชาธิปัตย์ 5) พรรคพลังธรรม 6) พรรคกิจสังคม ส่วนพรรคอื่นๆ ก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเหมือนกัน แต่ไม่มากพอที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้

ในขณะนั้นมีเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีควรจะมาจากการเลือกตั้ง ต่อมาหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ ประกาศเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคราษฎร และพรรคประชากรไทย แต่มีเหตุขัดข้อง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จึงไปเชิญ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การเข้ามาดำรงตำแหน่งของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งในที่สุดได้เกิดวิกฤตการณ์นองเลือดขึ้นในบริเวณกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ.2535 สถานการณ์ยุติลงด้วยพระบารมีปกเกล้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกฝ่ายหันหน้ามาประนีประนอมกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลหลังวิกฤตการณ์ 17-20 พฤษภาคม ยังคงอยู่ต่อไป เพราะพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ยังหวังที่จะจัดตั้งรัฐบาลอีก โดยสนับสนุนให้พรรคชาติไทย คือ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายที่ต้องการให้พรรคที่ค้านนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อต้านไม่เห็นด้วย เพราะฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขาดความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลไปแล้ว ดังนั้น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้แก้ปัญหาด้วยการเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ความสงบสุขและดำเนินการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป

ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2535 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้ประกาศยุบสภา และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2535 ภายหลังมีการเลือกตั้งได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ โดยมีนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี

บทสรุป : การเมืองการปกครองของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการพัฒนาการมาเป็นลำดับ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นธรรมเนียมการปกครองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งได้มีการปฏิรูปให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 5 และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบ “รัฐธรรมนูญ” ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ใน พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาต่างก็มีความหวังว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเหมือนเช่นประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก

แต่การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็ยังคงไม่สามารถพัฒนาไปสู่จุดนั้นได้อย่างแท้จริง เพราะยังมีความเห็นแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำของไทยในแง่ของอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่าควรจะเป็นลักษณะใดซึ่งจะแก้ปัญหาในชาติได้ กล่าวคือฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสมควรจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ควรจะมาจากการเลือกตั้ง สมาชิกผู้แทนราษฎรเท่านั้นจะมีบทบาทในการควบคุมการบริหารของรัฐบาล โดยปฏิเสธสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง คือ วุฒิสภา ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ไม่ควรกำหนดว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้งเสมอไป ควรจะเป็นบุคคลภายนอกสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะประชาชนเป็นผู้เลือก ผู้แทนราษฎรยังไม่สามารถเลือกผู้แทนที่มีคุณภาพเข้ามาได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ควรจะมีสภาที่มาจากการแต่งตั้ง คือ วุฒิสภาเข้าไปควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล และมีสิทธิรับรองหรือไม่รับรองรัฐบาลได้ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

ความเห็นต่างๆ เหล่านี้ เป็นความเห็นที่ไม่ลงตัวเช่นนี้เป็นพื้นฐานของความคิดของบรรดาสมาชิก นักการเมือง นักวิชาการ ชนชั้นนำผู้ทรงคุณวุฒิอย่างหลากหลาย เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ มักจะนำไปสู่ภาวะ “ชะงักงัน” ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน เพราะพลังของกลุ่มที่เห็นว่า นายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง มักจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า และสามารถกุมอำนาจไว้ในมือได้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้อง ปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยโดยแท้จริงแก่คนรุ่นใหม่ ด้วยความจริงจัง จริงใจ ต่อไปนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image