คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ…กับ ผลงานที่สำคัญ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

 

“อาหาร” เป็นพลังในการขับเคลื่อนเรื่องใหญ่ ทั้งในเรื่องของ “สุขภาพ” และเรื่อง “เศรษฐกิจ” ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีเอกภาพ โดยกลไกสำคัญที่เกิดขึ้น คือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 เพื่อให้มี “คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ” ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการดำเนินการ หรือจัดการด้านอาหารในทุกมิติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถประสานและบูรณาการงบประมาณและทรัพยากรในการบริหารจัดการด้านอาหารในทุกมิติ ภาวะปกติและยามฉุกเฉิน

ในปี 2553 คณะกรรมการแห่งชาติ ได้จัดทำกรอบยุทธศาสตร์และการจัดการด้านอาหารของ “ประเทศไทย” ขึ้นเป็นฉบับแรก โดยเป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมการประกอบการด้านอาหารของห่วงโซ่ และเป็นแผนขึ้นทำการดำเนินงานด้านอาหารแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ “กรอบยุทธศาสตร์” ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ล่วงเข้าสู่ปีที่ 10 ของการขับเคลื่อนตามกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ ฉบับที่หนึ่ง มีการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ณ ห้อง 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร โดยมี “รองนายกรัฐมนตรี” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานการประชุม ได้มีการเสนอผลการดำเนินงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกำกับทิศทางของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และอนุกรรมการที่แต่งตั้งภายในคณะกรรมการอาหารแห่งชาตินั้น ถือว่าเป็นช่องการเปลี่ยนผ่านจากการดำเนินงานในลักษณะที่ใช้ทิศทาง มาสู่การดำเนินงานที่มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

Advertisement

โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีการขับเคลื่อนประเด็นที่สำคัญๆ หลายประการ ซึ่งรองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นายพิศาล พงศาพิชณ์ และรองเลขาธิการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ร่วมรายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559)

ผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559)

การดำเนินงานที่ผ่านมา ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย มีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อชาวไทยและชาวโลก” นั้นถือเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานจากเดิม คือแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินงานจำกัดตามบทบาทหน้าที่ของตน มาสู่การทำงานอย่างบูรณาการภายใต้กรอบยุทธศาสตร์หลักเดียวกัน

Advertisement

โดยมีความคืบหน้าผลการดำเนินงานที่รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ เมื่อสิ้นสุดกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 1 สรุปได้ดังนี้

คณะที่ 1 : คณะกรรมการขับเคลื่อนความมั่นคงอาหารของห่วงโซ่ มี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง เป็นประธาน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงอาหาร ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหารมีหลักการเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 10 กลยุทธ์ ครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการฐานทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอาหาร เพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างมีคุณภาพเพียงพอและยั่งยืน การส่งเสริมภาคการผลิต ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเหมาะสม ตามแนวคิดเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ควบคู่กับการพัฒนาเจ้าหน้าที่เป็น Smart Officer อีกทั้งมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหารและเชื่อมโยงตลาดกับการผลิต และการวิจัยพัฒนา โดยมีผลการดำเนินงาน หรือโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการในแต่ละกลยุทธ์ ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 เร่งรัดปฏิรูปการถือครองที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่การเกษตร มีการจัดหาที่ดินทำกิน มอบเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ ตามประกาศพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2558 กลยุทธ์ที่ 2 จัดการทรัพยากรน้ำและดินเพื่อการเกษตรและป่าชุมชน มีการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่พัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน มีการบริหารจัดการอย่างครบวงจร ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ปฏิบัติการฝนหลวง ปรับปรุงฐานข้อมูลทรัพยากรดิน การปรับปรุงบำรุงดินในจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองเกษตรสีเขียว

กลยุทธ์ที่ 3 สร้างสมดุลระหว่างพืชอาหารกับพืชพลังงาน โครงการปรับโครงสร้างส่งเสริมการเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่โดยยึดระบบการบริหารพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) จัดทำ Road Map ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอาหาร ดำเนินการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) เช่น เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตในเขตพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำปศุสัตว์ โคเนื้อ โคนม สุกร เป็นต้น จัดหลักสูตรฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชไร่อาหารสัตว์ พืชท้องถิ่น และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพเพื่อเกษตรกรให้มีรายได้เสริม เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ที่ 5 สร้างแรงจูงใจในการทำการเกษตร และเพิ่มจำนวนเกษตรกรรุ่นใหม่ ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรต้นแบบด้านเกษตรผสมผสาน และขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่น สร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทั้งทางด้านพฤติกรรมและผ่านกลไกของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยประมงและวิทยาลัยอาชีพต่างๆ

กลยุทธ์ที่ 6 ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารในระดับชุมชนและครัวเรือน คัดเลือกศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน (ศูนย์หลัก) จังหวัดละ 1 ศูนย์ เพื่อดำเนินกิจกรรมฝึกอบรม และปฏิบัติด้วยการถ่ายทอดความรู้เทคนิคการบริหารจัดการต่างๆ มีศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน โดยยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งนิคมเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ เพื่อให้ครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

กลยุทธ์ที่ 7 ปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร สนับสนุนการกระจายอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โดยจัดตั้งศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตลาดกลางโครงการตลาดเกษตรกร (Farmer Market) ใน 77 จังหวัด กลยุทธ์ที่ 8 สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ในการรักษาความมั่นคงด้านอาหาร พัฒนาเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) ในกลุ่มพื้นที่จังหวัดชายแดนการประกันภัยพืช (Crop Insurance) ข้าวโพด ข้าว โคนม

กลยุทธ์ที่ 9 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่อาหาร สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตและการตลาดเชิงบูรณาการ โดยการใช้องค์ความรู้ในการเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่การผลิต จนถึงการตลาดในพืชที่มีศักยภาพ ในการแข่งขันพืชทางเลือกใหม่ในการสร้างรายได้หลักให้แก่ชุมชน

กลยุทธ์ที่ 10 จัดระบบเพื่อรองรับความมั่นคงด้านอาหารในภาวะวิกฤต มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร เพื่อสามารช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติด้านการเกษตร และในปี 2556-2557 ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยบริจาคข้าวผ่านองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม (APTERR) จำนวน 5,000 ตัน

คณะที่ 2 : คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มี ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร เป็นประธานยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารมีหลักการ คือ เพื่อดูแลคุณภาพและความปลอดภัยอาหารในห่วงโซ่อาหาร โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมการค้าทั้งในและต่างประเทศ และเป็นพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ ครอบคลุมด้านการส่งเสริมงานมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของอาหาร การพัฒนาสินค้าเกษตรขั้นต้น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของการผลิตในระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรม การส่งเสริมการค้าและการตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารของประเทศ

ผลการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ มาตรการการจัดการผักและผลไม้สดปลอดภัย โดยให้มีมาตรการทางกฎหมายและมาตรการส่งเสริม เพื่อให้ผักและผลไม้มีคุณภาพ และความปลอดภัย ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบผลิตผักและผลไม้ที่มีมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดี (GAP/GMP) ทั้งในระดับฟาร์มและการแปรรูปเบื้องต้น อีกทั้งมีระบบตามสอบย้อนกับ (Traceability) และขณะนี้อยู่ระหว่างการบูรณาการงานระหว่างกระทรวง เพื่อจัดทำระบบการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างระดับประเทศ ในรูปแบบ National Monitoring Programmer

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำข้อเสนอการจัดการความปลอดภัยสารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งได้วางโครงสร้าง และทดลองดำเนินงานหน่วยประเมินความเสี่ยงด้านความเสี่ยง ด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศไทย (Thailand Risk Assessment Centre: TRAC) เกิดกระบวนการประเมินความเสี่ยงที่รองรับงานด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศ

เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารของประเทศต่อไป

คณะที่ 3 : คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการ รู้คุณภาพชีวิตที่ดี มีศาสตราจารย์วิสิฐ จะวะสิต เป็นประธาน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านอาหารศึกษา ยุทธศาสตร์ด้านอาหารศึกษามีหลักการ คือ เน้นกระบวนการส่งเสริมพัฒนาและวิจัย เพื่อให้เกิดความรู้ ความตระหนักในการใช้ทรัพยากรเพื่อผลิต และกระจายอาหารในห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการบริโภคอาหาร โดยกำหนด 9 ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ (1) มาตรฐานและเครื่องชี้วัดทางโภชนาการและโรคที่เกี่ยวข้อง (2) การจัดทำข้อปฏิบัติในการบริโภคอาหารตามวัย (FBDGs) (3) อาหารโภชนาการศึกษาและการกำหนดอาหารตามวัย (4) ส่งเสริมการบริโภคพืช ผัก และผลไม้ (5) การลดหวาน มัน เค็ม ในอาหาร (6) รูปแบบการดำเนินงานอาหารและโภชนาการในโรงเรียน (7) รูปแบบการดำเนินงานโภชนาการในพื้นที่และชุมชน (8) ระบบการเฝ้าระวังและสำรวจภาวะโภชนาการและโรคที่เกี่ยวข้อง (9) การบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในภาวะวิกฤต

ผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย ซึ่งมีเป้าหมาย คือสร้างเครื่องมือในรูปแบบสัญลักษณ์อย่างง่ายบนฉลากของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม รวมถึงระบบการบริหารจัดการสัญลักษณ์ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ได้มีการประกาศเป็นกฎหมายว่าด้วยการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย และหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการแสดงสัญลักษณ์โภชนาการ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สมัครใจ และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นอกจากนี้ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการวิจัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ก็ได้นำกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไปใช้กำหนดกรอบและทิศทางการวิจัยอีกด้วย

อนึ่ง ในการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา ได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน ดังนี้ : (1) นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความมั่นคงด้านอาหาร (2) ศาสตราจารย์วิสิฐ จะวะสิต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารการศึกษา (3) นางสาวเมธินี สุคนธรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยด้านอาหาร (4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจและการค้า (5) นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการ (6) นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

และ (7) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุณภาพอาหาร เป็นหลักสำคัญในการริเริ่มให้คำแนะนำเสนอแนวคิด แนวทาง ติดตาม เฝ้าระวังตลอดเวลา ทำอย่างไรถึงจะทำให้ “โครงการนี้” สู่รากหญ้า ประชาชนคนไทย มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึงอย่างแท้จริงนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image