ไทยนิยมยั่งยืน : เสียงสะท้อนจากท้องถิ่น

เมื่อต้นสัปดาห์มีข่าวเล็กๆ สะท้อนภาพใหญ่น่าสนใจ (คลิกอ่านข่าว)

ยกเครดิตให้กับประชาชน 3 หมู่บ้าน ชาวต.น้ำจวง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ประชากรประมาณ 4 พันคน

พวกเขาทำประชาคมตัดสินใจ เอายังไงกับงบประมาณ 2.8 ล้านบาทกับโครงการไทยนิยมยั่งยืน
ภายใต้โครงการย่อยที่มีชื่อว่า “ท่องเที่ยวโอท็อป นวัตวิถี”

เป้าหมายเสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมนุม ผ่านภาคท่องเที่ยวและสินค้าโอท็อป
คนน้ำจวงลงความเห็นด้วยน้ำเสียงเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ขอส่งเงินก้อนนี้คืนหลวงด้วยความเกรงใจ

Advertisement

เอาไปให้ถิ่นอื่นที่ต้องการ จะเป็นประโยชน์กว่า
เหตุผลแสนง่ายประสาชาวบ้าน “เกาไม่ถูกที่คัน”

เขาคิดตรงกัน ต้องการสิ่งจับต้องได้ ถาวรยั่งยืน มองเห็นอนาคต
ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา

ปรับปรุงถนน ขอแค่ซื้อหินคลุกไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
สร้างห้องน้ำห้องส้วมตามแหล่งท่องเที่ยวที่น่าจะเป็นจุดขาย

Advertisement

โชคไม่ดีสิ่งที่ “ใช่” ตรงข้ามกับสิ่งที่ฝ่ายราชการตีกรอบ ท่านบอกให้เอาไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายอบรมสัมมนา ฝึกฝนพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
ไปเรียนรู้การจัดการ ศึกษาดูงาน ปั้นสินค้าโอท็อปออกมาขายนักท่องเที่ยว

ชาวบ้านที่นั่นสงสัย สมมติรู้การตลาด รู้ความต้องการผู้บริโภค รู้ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพ

ถามว่า แล้วใครจะมาเที่ยว ใครจะมาซื้อ ในเมื่อไม่มีถนนหนทางดีเพียงพอให้นักท่องเที่ยวเข้าถึง

ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามจำเป็น
โหมประโคมแหล่งท่องเที่ยว สินค้าโอท็อปที่สู้อุตส่าห์ผลิตกันมา

เอาไปขายใคร?

เรื่องของเรื่อง ไม่ควรด่วนสรุปกันแบบ “ไก่” กับ “ไข่” อะไรเกิดก่อน
แต่โจทย์อยู่ที่ว่า ไล่ตั้งแต่รัฐบาลลงมาถึงระดับปฎิบัติ “เข้าใจ เข้าถึง เข้าพัฒนา” รู้ความต้องการแต่ละพื้นที่กี่มากน้อย

หรือแค่รับนโยบาย ผลักงบประมาณ เปิดโครงการ แล้วปิดจ๊อบกันไป
ไม่ต่างกับแจกเบ็ดให้ไปตกในบ่อที่ไม่มีปลา

“หัวมังกุท้ายมังกร” ทำนองนี้ พนันกันสิบเอาหนึ่ง เชื่อเหลือเกินว่าไม่ใช่ชาวน้ำจวงเดี่ยวไมโครโฟนอยู่เจ้าเดียว มีอีกไม่รู้อีกร้อยกี่พันชุมชนก็ตกที่นั่งเดียวกัน
เพียงบางพื้นที่ก็เกรงใจเจ้านาย

หรือไหนๆงบประมาณหล่นมาแล้ว เอาไว้ก่อนดีกว่าปล่อยทิ้งตกน้ำ
ชั่วดีถี่ห่างยังไง เดี๋ยวท่านก็จัดมาอีก วนกันไป

ต้องขอบคุณชาวบ้านน้ำจวงสะท้อนรูปธรรมปัญหา

ไม่รู้ได้ให้บทเรียนใครบ้างหรือเปล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image