หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา : พลเมือง(ดี) และความรับผิดชอบ : โดย ดร.ดำรงค์ ชลสุข

บทความที่นำมาเขียนต่อไปนี้ มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับเรื่อง “หลักสูตรด้านทุจริตศึกษา : กับการขัดเกลาทางสังคม (Socialization)” ที่ผู้เขียนได้นำลงในมติชนรายวัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 สำหรับเรื่องนี้จะขอเสนอเรียงลำดับตั้งแต่ พลเมือง (ดี) และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้

พลเมืองดี หมายถึง ประชาชน หรือราษฎร หรือพสกนิกร ที่ประพฤติตนให้เป็นไปตามระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมาย และข้อบังคับต่างๆ ของสังคม โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องมีหน้าที่และมีความรับผิดชอบ ปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

แนวคิด : พลเมืองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคม พลเมืองที่สมบูรณ์ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีร่างกายดี จิตใจดี คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น และต้องเป็นกำลังในการพัฒนาความเจริญของประเทศชาติให้เกิดความมั่นคงสามัคคีปรองดอง

ลักษณะทั่วไปของพลเมืองดี : ลักษณะของพลเมืองโดยทั่วไปมีดังนี้ 1) เคารพกฎหมายและปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของสังคม และข้อบัญญัติของกฎหมาย 2) มีเหตุผลและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

Advertisement

3) ยอมรับมติของเสียงส่วนใหญ่ แม้ว่ามตินั้นๆ จะไม่ตรงกับความคิดของตนเอง 4) มีน้ำใจประชาธิปไตย เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ตน

5) เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น 6) รับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ชุมชน และประเทศชาติ 7) มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย 8) มีส่วนร่วมในการป้องกัน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคม การเมืองการปกครองของประเทศ

และ 9) มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ

Advertisement

ลักษณะเฉพาะของพลเมืองดี : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดค่านิยมหลัก 12 ประการ เพื่อสร้างสรรค์ให้พลเมืองในชาติได้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดี มีความเข้มแข็ง สมัครสมานสามัคคี รักชาติ รักศาสนา และรักเทิดทูนพระมหากษัตริย์ สำหรับค่านิคมทั้ง 12 ประการ

ผู้เขียนขอรวมสรุปได้ 6 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้ ก) มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์โดยรู้จักการดำรงตนด้วยการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ข) มีศีลธรรมอันดี โดยซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้อำนาจฝ่ายต่ำ

ค) ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม และเข้าใจเรียนรู้ประชาธิปไตย ง) กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูบาอาจารย์ ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ จ) รักษาวัฒนธรรมและประเพณีไทย มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย

และ ฉ) คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

ลักษณะพลเมือง (เด็กไทย) 4.0

ไพฑูรย สินลารัตน์ (2558) ได้กำหนดคุณลักษณะพลเมืองไทย หรือเด็กไทย 4.0 ไว้ 4 ประการ คือ

1) เป็นผู้มีจิตใจด้านวิเคราะห์ (Critical Mind) ประกอบด้วย รู้จักมองสังคมรอบตัวให้ทั่วถึงรอบด้านว่ามีอะไรเป็นปัญหากระทบต่อการดำรงชีวิตของตน ควรแก้ไขอย่างไร? และมีความเข้าใจถึงเหตุและผลของปัญหานั้นๆ ว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหา แก้ให้ตรงสาเหตุของปัญหานั้นๆ ที่สำคัญจะต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์ปัญหาอย่างแยบคาย

2) มีจิตคิดสร้างสรรค์ (Creative Mind) เด็กไทยหรือพลเมืองไทยต้องคิดสร้างสรรค์ สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดนวัตกรรม โดยสามารถใช้ปัญญาคิดติดต่อยอดความคิดเดิมที่มีอยู่ให้ทันสมัย และสามารถเผยแพร่ผลงานโดยใช้สื่อที่สร้างสรรค์ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ

3) มีจิตคิดผลิตภาพ (Productivity Mind) ประกอบด้วย ทักษะการสังเกตการณ์คิดต่อเนื่อง มีการประเมินเพื่อสร้างผลสำเร็จ มองเห็นคุณค่าและคุณภาพของผลงาน คำนึงถึงเป้าหมาย มีการวางแผนงานเป็นขั้นตอน ทำงานร่วมกันเป็นทีม ลงมือปฏิบัติตามแผน และปรับปรุงพัฒนาให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ

4) มีจิตคิดรับผิดชอบ (Responsibility Mind) ประกอบด้วยทักษะมองภาพรวม มีการประเมินเหตุการณ์ เห็นประโยชน์ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มีจิตสาธารณะ มีคุณธรรมจริยธรรม คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ

โดยสรุปแล้ว คุณลักษณะพลเมือง (เด็กไทย 4.0) ควรมีลักษณะดังนี้ คือ เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ มีทักษะในการสื่อสาร รู้จักการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเป็นที่ต้องการของสังคม และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและคนไทยให้ดี มีประสิทธิภาพ

ความรับผิดชอบ : คือ 1) การยอมรับในผลที่ได้กระทำตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้บุคคลนั้นๆ จะต้องรับทั้งผิดและชอบ ตามสิ่งที่ตนได้กระทำไปด้วย 2) ภาระหรือพันธะในการปฏิบัติหน้าที่การงานตนกับผู้ร่วมงานให้เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์การ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ร.9) ได้ทรงให้ความหมายของ “ความรับผิดชอบ” ว่าคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้ ผู้ใดมีความรับผิดชอบ จะสามารถประกอบการงานให้บรรลุผลสำเร็จ ตามที่มุ่งหมายไว้อย่างแน่นอน

ผู้เขียนขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับ “ความรับผิดชอบ” มาเพื่อน้อมนำเป็นแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

“…การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน สำคัญที่สุด ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ความรับผิดชอบ’ ให้ถูกต้อง ขอให้เข้าใจว่า ‘รับผิด’ ไม่ใช่การรับโทษ หรือถูกลงโทษ ‘รับชอบ’ ไม่ใช่รับรางวัล หรือรับคำชมเชย

การรู้จักรับผิด หรือยอมรับรู้ว่าอะไรผิดพลาดเสียหาย และเสียหายเพราะอะไร เพียงใดนั้น มีประโยชน์ ทำให้บุคคลรู้จักพิจารณาตนเอง ยอมรับความผิดของตนเองโดยใจจริง เป็นทางที่จะช่วยให้แก้ไขความผิดได้ และให้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติแก้ไขใหม่

ส่วนการรู้จักรับชอบ หรือรู้ว่าอะไรถูก อันได้แก่ถูกตามความมุ่งหมาย ถูกตามหลักวิชา ถูกตามวิธีการนั้น มีประโยชน์ทำให้ทราบแจ้งว่าจะทำให้งานสำเร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร จักได้ถือปฏิบัติต่อไป

นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า ‘รับผิดชอบ’ ตามนัยดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เข้าใจซึ้งในความรับผิดชอบ จะสำนึกตระหนักได้ทันทีว่า ความรับผิดชอบคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้ จึงใคร่ขอให้บัณฑิตศึกษาและสังวรระวังในความรับผิดชอบให้มากที่สุด ผู้ใดมีความรับผิดชอบ จะสามารถประกอบการงานให้บรรลุผลสำเร็จ ตามที่มุ่งหมายไว้ได้อย่างแน่นอน…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16 กรกฎาคม 2519

จากพระบรมราโชวาทชี้ให้เห็นว่า การจะทำงานให้มีประสิทธิผล และให้งานดำเนินไปโดยราบรื่นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน และที่สุดต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “รับผิดชอบ” ให้ถูกต้อง

ขอให้ท่านได้อ่านพระบรมโอวาทข้างต้น ให้ละเอียด อ่านให้จบหลายๆ เที่ยว แล้วทำความเข้าใจว่าความรับผิดชอบ มีความหมายอย่างไร? และมีประโยชน์อย่างไร? เป็นต้น แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อประกอบการงานให้บรรลุผล ตามที่มุ่งหมายไว้ได้อย่างแน่นอน

ดร.ดำรงค์ ชลสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image