นพ.วิชัย เทียนถาวร : กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2

มติชนฉบับเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมาได้รายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมีการขับเคลื่อนประเด็นที่มีความสำคัญหลายประการ แต่ยังไม่สามารถบรรลุตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ การบูรณาการการทำงานยังไม่มุ่งผลสัมฤทธิ์ร่วมกันและยังขาดรายละเอียดของเป้าหมายและตัวชี้วัดร่วมที่สำคัญ

นอกจากนี้ยังพบว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีภัยคุกคามใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การติดตามประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์มีความชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ให้เกิดการปรับปรุงการดำเนินงานและสามารถรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารประเทศ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560-2579 ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2555-2559 โดยปรับปรุงต่อยอดในแต่ละยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ให้มีจุดเน้น หลักการสำคัญ 5 เรื่อง คือ 1) สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งแปลงมาจาก 2) วิสัยทัศน์ประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 คือ ประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นประเทศพัฒนาแล้ว

3) ด้านการพัฒนาตาม “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้พัฒนาในทุกมิติมีความพอประมาณมีความสมดุลมีระบบภูมิคุ้มกันและบริหารความเสี่ยงที่ดีและสอดรับกับนโยบายการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 4) โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาตามสาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และ 5) โดยเชื่อมร้อยกับเป้าหมายการเกษตร อาหารโภชนาการ สุขภาพ และสอดประสานกันตลอดห่วงโซ่เป็นองค์รวมนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข ยั่งยืน มั่นคง และมั่งคั่ง

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์สรุปประเด็นท้าทายเพื่อการพัฒนาพบประเด็นท้าทายสำคัญที่อาจมีผลกระทบในห่วงโซ่อาหารในอนาคต มีประเด็นซึ่งต้องมีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์การบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้ประเทศมีการพัฒนายั่งยืนและมั่นคง ได้แก่ 1.ประเด็นท้าทายฐานทรัพยากรธรรมชาติ 2.ประเทศท้าทายด้านทรัพยากรมนุษย์ 3.ประเด็นท้าทายด้านผู้บริโภค 4.ประเด็นท้าทายด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร

5.ประเด็นท้าทายด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้และนวัตกรรมในภาคผลิต 6.ประเด็นท้าทายด้านการสื่อสารและการเลื่อนไหลของกระแสวัฒนธรรมโลก 7.ประเด็นท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรง 8.ประเด็นท้าทายด้านธรรมาภิบาล 9.ประเด็นท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขอสหประชาชาติ หรือ SDGs ซึ่งทั้งหมดนี้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ให้มีให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาในอนาคต โดยมีความมุ่งหมายให้เป็นแผนชี้นำการดำเนินการของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อาหาร ให้เกิดการรวมพลังและประสานบูรณาการการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญได้สรุปต่อไปนี้

1.วิสัยทัศน์ : “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน”

Advertisement

2.วัตถุประสงค์ : (1) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฐานทรัพยากรในการผลิตอาหารของประเทศให้เกิดประโยชน์ทางความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ช่วยในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การค้า และธำรงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (2) เพื่อให้อาหารที่ผลิตทุกระดับตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น และอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งทางการค้ายุคใหม่ (3) เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยกระบวนการศึกษาวิจัยและเผยแพร่เพื่อใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ (4) เพื่อเป็นกลไกในการรวมพลังของภาคีเครือข่ายและยุทธศาสตร์ด้านอาหารที่หลากหลาย ให้เชื่อมโยงและขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านอาหารอย่างมีเอกภาพ (5) เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในระดับครัวเรือน ชุมชนและระดับชาติ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

3.ระยะเวลาดำเนินงาน : 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)

4.เป้าหมาย : เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมายรวมของกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2579) ดังนี้ เป้าหมาย 1 จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง เป้าหมาย 2 ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง เป้าหมาย 3 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น เป้าหมาย 4 มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น เป้าหมาย 5 จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการขาดและเกินลดลง เป้าหมาย 6 มีหน่วยงานกลางประสาน การดำเนินการ

5.ประเด็นยุทธศาสตร์ : กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เป็น 4 ด้าน ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงอาหาร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการศึกษา

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการบริหารจัดการ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคงอาหาร มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน อันเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจชีวภาพ ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจในอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการค้าทั้งในและต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการศึกษา มีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยให้เกิดความรู้ ความตระหนักแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหารเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความตระหนักในการบริโภคอาหารเพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการบริหารจัดการมีเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดการด้านอาหารของประเทศตลอดห่วงโซ่อาหารอย่างเป็นระบบ สร้างความเข้มแข็งของการดำเนินงานทุกภาคส่วนให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และสอดคล้องกับกติกาการค้าสากล

6.ผลที่คาดว่าจะได้รับ : การดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นี้ จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานร่วมกันแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และกำหนดตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อประกอบการติดตามและประเมินผล ทั้งมี การนำกรอบยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจะได้กำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เป็นระยะๆ ทุก 5 ปี เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วนจัดทำแผนปฏิบัติงานและตัวชี้วัดสำหรับการติดตามประเมินผลต่อไป อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลที่คาดว่าจะได้รับคือ

(1) ประเทศไทยสามารถดูแลและใช้ฐานทรัพยากรการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนสู่รุ่นลูกรุ่นหลานและรุ่นต่อๆ ไป

(2) เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตและแปรรูปมีความรู้ทักษะและความสามารถในการผลิตอาหารได้อย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งมีระบบเศรษฐกิจและการจัดการอาหารที่เป็นธรรมสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศ

(3) ผู้บริโภคเข้าถึงและมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

(4) ภาคีเครือข่ายด้านการบริหารจัดการอาหาร มีกลไกและระบบการเสริมสร้าง การรวมพลังและประสานความร่วมมือในการบริหารจัดการด้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้เกิดสัมฤทธิผลของเป้าหมายร่วมกันทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

(5) ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นกับคุณภาพอาหารไทย และสามารถขยายโอกาสด้านการค้า การท่องเที่ยวและการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทย

สรุป : ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านดังกล่าว มุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของร่างกรอบยุทธศาสตร์ซึ่งมีจุดเน้นที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านที่หนึ่ง “ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ” กล่าวคือ นอกจากจะมีอาหารอย่างเพียงพอและประชาชนสามารถเข้าถึงได้แล้ว อาหารนั้นต้องมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี และด้านที่สอง “เป็นแหล่งอาหารคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” โดยนัยของคำว่า “แหล่งอาหาร” นี้ หมายความว่า ประเทศไทยจะไม่เพียงแต่เป็นประเทศผู้ผลิตอาหารเท่านั้น แต่จะเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก และวิสัยทัศน์นี้ได้แสดงความมุ่งมั่นสู่การเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูงเพื่อผู้บริโภคและเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศนำไปสู่การอยู่ดี กินดี มีสุข มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

อนึ่ง ท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ คราวประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2561 วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ห้อง 301 ชั้น 3 บัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ได้แจ้งในที่ประชุมขอความร่วมมือทุกหน่วยงาน ประสานการดำเนินอย่างจริงจังให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2561

ดังนั้น ประมาณวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2561 ทุกกระทรวงและภาคส่วนก็จะนำไปดำเนินการต่อในปีงบประมาณ 2562 ได้ทันไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image