สมเด็จฯฮุน เซน : ผู้นำยาวนานติดบ้านเรา : โดย ประโคนชัย

กัมพูชาท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 29 กรกฎาคม 2018 นี้ สมเด็จฯฮุน เซน วัย 66 ปี ประกาศอย่างมั่นใจว่าจะขอเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากที่เป็นตลอดมา 32 ปีแล้ว ขอเป็นต่ออีกอย่างน้อย 2 สมัย ซึ่งถ้าเป็นต่อได้จริงๆ ก็จะถือได้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวที่สุดในโลก

ที่พูดคาดหมายไว้ ดูมีแววจะเป็นได้จริง เพราะดูจากสภาพแวดล้อมของการรักษาอำนาจ และสร้างจากที่เป็นประเทศยากจนและการสงครามภายในประเทศที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย กลายมาเป็นประเทศที่มีความมั่นคงและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเคียงข้างประเทศเพื่อนบ้านใน ASEAN นโยบายของ ASEAN เป็นการรวมตัวกันอย่างจริงใจใน 10 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ปราศจากการแทรกแซงของต่างชาติ (ดูจากหนังสือ Choice of Development Path and Development Strategy of Cambodia, Forum organized by Klaeng Panya Institute for National Strategies, College of Government of Rangsit University, NIIS, CASS and IDIS. Bangkok, July 4, 2018 by Neak Chandarith, Department of International Studies, Cambodia 21th Century Maritime Silk Road Research Center, Royal University of Phnom Penh.)

ซึ่งเริ่มจาก 1.Before Angkor 2.During Angkor 3.After Angkor 4.During the French Colonialism 5.Sangkum Reah Niyum (Restoring a nation) 6.Lon Nol Regime (Wars), 7.Khmer Rouge Regime (Total Destruction, Genocide) 8.People’s Republic of Kampuchea/State of Cambodia 9.Second Kingdom

ในหนังสือดังกล่าวมีการเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างละเอียดชัดเจนรวมทั้งระบบการเมืองและสังคมจึงทำให้เข้าใจความก้าวหน้าของกัมพูชาที่ยากจน ลำบากและสู้รบกันทั้งภายในและภายนอก จนแทบจะไม่เป็นประเทศจนกระทั่งตั้งตัวได้ เมื่อฮุน เซน เป็นผู้นำยาวนานและมั่นคง จึงมาเป็น 1 ใน ASEAN ทุกวันนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า บางครั้งประชาธิปไตยแท้ๆ ใช้พัฒนาบ้านเมืองไม่ได้

Advertisement

กรณีของสมเด็จฯฮุน เซน นั้น ถ้าจะบอกว่าที่สามารถอยู่ในเก้าอี้ได้หลายสิบปี ก็เพราะทำให้กัมพูชาจากที่เป็นประเทศยากจนและเสียหายจากสงครามในประเทศ กลายมาเป็นประเทศที่มีความมั่นคงและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่สมเด็จฯฮุน เซนก็เคยผ่านการท้าทายอย่างหนักจากนายสม รังสี คู่แข่งทางการเมืองมานานกว่า 2 ทศวรรษมาแล้ว พรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ของนายสม รังสี ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 จากการรวมตัวของ 2 พรรค คือพรรคสม รังสี และพรรคสิทธิมนุษยชน สามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ 55 จาก 123 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งในปี 2014 ทำให้แพ้ใกล้เคียงพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodia People’s Party หรือ CPP) ของสมเด็จฯฮุน เซน ได้

ต่อมาการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนมิถุนายน 2017 ได้ผลงานดีสำหรับสมเด็จฯฮุน เซน จึงทำให้มองในขณะนี้ว่า ฮุน เซน คงจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้ง วันที่ 29 กรกฎาคม 2018 นี้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มี สม รังสี และพรรคกู้ชาติกัมพูชาลงสมัครด้วยก็ยิ่งชนะแน่

ตลอดจนพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับฮุน เซน ก็ถูกล็อกไว้หมด คืออยู่ในคุกหรือไม่ก็ลี้ภัยออกนอกประเทศ จึงคาดหมายได้ว่าสมเด็จฯฮุน เซน คงจะได้ครองอำนาจต่อไปอีก 10 ปี

Advertisement

หลังการเลือกตั้งทั่วไป 29 กรกฎาคม 2018 กัมพูชาภายใต้การปกครองของสมเด็จฯฮุน เซน จะเป็นอย่างไร เจริญอย่างไร ก็พอจะคาดได้ดังได้กล่าวมาแล้ว เพราะการเมืองกับการทหารอยู่ในมือผู้มีอำนาจคนเดียวคือฮุน เซน มา 30 กว่าปีแล้ว คงเหลือปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นปัญหามายาวนานกับความเป็นอยู่ของชาวเขมร แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้รัฐบาลต้องล้มและค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับมิตรประเทศในเอเชีย จึงใคร่นำเรื่องจากบทความใน “มติชนรายสัปดาห์” เป็นรายงานพิเศษของคุณชนัดดา ชินะโยธิน ที่ได้คุยกับท่านลง วิซาโล (H.E. Mr.Long Visalo) ทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ยอมรับกันว่าการมีสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัมพูชากับไทยเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 1950 ทั้ง 2 ประเทศมีวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน

ท่านทูตลง วิซาโล บอกว่ากลไกหารือระหว่างกัมพูชากับไทย อันดับแรกคือการประชุมร่วมกันแบบทวิภาคี คือการหารือกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของแต่ละฝ่าย เป็นเวทีสำหรับการเจรจาตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในทุกๆ ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว ซึ่งถือว่ามีการร่วมมือกันมากที่สุด อันดับที่ 2 คือการประชุมคณะกรรมาธิการเขตร่วมแดน อันดับที่ 3 คือการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป จัดขึ้นที่เมืองเสียมราฐ เมื่อปีที่แล้ว (2017) และที่กรุงเทพฯ โดยมีการพบกันทั้ง 2 ฝ่ายที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ความมั่นคง และคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนทั้ง 2 ประเทศควบคู่กันไป

ส่วนอันดับที่ 4 คือการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค มีแม่ทัพของแต่ละภูมิภาค ทหารของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นประธาน ประชุมปีละ 2 ครั้งสลับกัน เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระดับท้องถิ่น แก้ไขปัญหาอาชญากรรม สินค้าผิดกฎหมาย ส่งเสริมการค้าชายแดน ตลอดจนโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดน

รายงานพิเศษของชนัดดา ชินะโยธิน เน้นบทบาทของกัมพูชาที่มุ่งหวังเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน หรืออย่างน้อยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งระดับไทยและเวียดนาม ซึ่งโครงการเหล่านี้กัมพูชาจะได้รับเงินทุนสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากจีน ปีต่อปี และได้รับประโยชน์มาจากโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้จีนกำลังเตรียมกองทุนเพื่อสร้างสนามบินใหม่ที่จังหวัดเสียมราฐ และอีกแห่งคือพนมเปญ

เราคงจะได้เห็นกัมพูชากลายเป็นพัฒนาแล้วในเร็ววันข้างหน้านี้เป็นอย่างแน่นอน หากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะ 10 ปีเป็นไปตามเป้าหมาย

ประโคนชัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image