สถานีคิดเลขที่ 12 : องค์กรไม่อิสระ : โดย นฤตย์ เสกธีระ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นองค์กรอิสระ
มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

กกต.นี้เกิดขึ้นในไทยในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 เพราะก่อนหน้านั้นสังคมไม่ไว้วางใจกระทรวงมหาดไทย

เหตุเพราะกระทรวงมหาดไทยอยู่ภายใต้รัฐบาล จึงเกรงว่าจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นกลาง

และเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นกลาง จึงให้ กกต.เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระ

Advertisement

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ก็เช่นกัน และยังเพิ่มอำนาจให้ กกต.ทำมากมาย

แต่ปรากฏว่าเมื่อ กกต.เริ่มทำหน้าที่ โดยคัดเลือกผู้ตรวจการการเลือกตั้ง 616 คน

ความไม่วางใจ กกต.ชุดปัจจุบันก็เกิดขึ้น

Advertisement

เกิดเป็นข้ออ้างว่าการที่ กกต.ออกระเบียบตั้งผู้ตรวจการฯเองนั้นจะเป็นช่องทางให้การเมืองเข้าแทรก

กลายเป็นเงื่อนไขที่เข้าชื่อเพื่อแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.

หัวใจสำคัญของร่างแก้ไขคือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือกผู้ตรวจการฯ แทนการเปิดทางให้ กกต.ออกระเบียบตั้งผู้ตรวจการฯกันเอง

เหลียวไปดูบทบัญญัติที่เสนอแก้ไข พบว่าคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการฯ ที่ สนช.นำเสนอนั้นประกอบด้วยกลุ่มข้าราชการในจังหวัดมี

ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าสํานักงานอัยการจังหวัด ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัด

ประธานหอการค้าจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นกรรมการ

ผู้อํานวยการสํานักงาน กกต.ประจําจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ

พนักงานของสํานักงาน กกต.ประจําจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

ในกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ข้าราชการส่วนกลาง

ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ผู้แทนอัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตํารวจนครบาล ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ

ผู้อํานวยการสํานักงาน กกต.ประจํากรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ

พนักงานของสํานักงาน กกต.ประจํากรุงเทพมหานครที่ได้รับมอบหมาย 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

จากรายชื่อตำแหน่งที่กำหนดพบว่าคณะกรรมการคัดเลือกมีข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ และพ่อค้านักธุรกิจเป็นส่วนรอง

เท่ากับว่ารายชื่อผู้ตรวจการการเลือกตั้งซึ่งเป็นแขนขาของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นมาจากข้าราชการและพ่อค้า

กรณีการเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายของ สนช.ครั้งนี้ นอกจากจะถูกครหาว่าต้องการเลื่อนเลือกตั้งแล้ว

ยังมีคำถามจากเจตนาที่แก้ไข

เจตนารมณ์ที่ต้องการควบคุมการเลือกตั้ง

และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กกต.จะเป็นองค์กรอิสระได้อย่างไร?

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image