สถานีคิดเลขที่ 12 : สร้างโรงพักช้า-คดีก็ช้า : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

เพิ่งจะมีคำแถลงยืนยันจาก ป.ป.ช.ว่า ได้มีมติไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ให้แจ้งข้อกล่าวหา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกแล้ว ในคดี 396 โรงพัก และ 136 แฟลตตำรวจ อันอื้อฉาวยาวนาน

ขั้นตอนต่อไปก็ต้องรอรับฟังคำชี้แจงและพยานหลักฐานต่างๆ จากฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา

สุดท้ายจะสรุปออกมาอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป ด้วยความอดทน

ที่ว่าด้วยความอดทน เพราะกว่าจะมาถึงขั้นตอนวันนี้ก็รอกันแล้วรอกันเล่า ทั้งที่คดีนี้ไม่น่าจะมีอะไรสลับซับซ้อน

Advertisement

จะสร้างโรงพัก 396 แห่ง กับแฟลตตำรวจอีก 136 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ในภาคต่างๆทั่วประเทศ แต่ไปแก้สัญญา จากเดิมที่เปิดให้ประมูลกระจายรายภาค ให้ผู้รับเหมาแต่ละพื้นที่รับผิดชอบในการก่อสร้าง

กลับรวมเป็นสัญญาเดียว ให้เจ้าเดียวดำเนินการ แล้วจะไปสร้างสำเร็จเสร็จทันได้อย่างไร

เรื่องมีอยู่เพียงแค่นี้ ไม่ควรยืดเยื้อยาวนานเลย

Advertisement

หากนับเวลาความเป็นมาของเรื่องนี้ จะพบว่า โครงการเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2552 ในยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯดูแลงานตำรวจ มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็น ผบ.ตร. โดยกำหนดรายละเอียดไว้ชัดเจนว่า ต้องกระจายการประมูลตามรายภาค

จากนั้นในช่วงกลางปี 2552 ได้เกิดข้อขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.พัชรวาทกับรัฐบาล แถมเกิดวิกฤตแต่งตั้ง ผบ.ตร. เพื่อมาแทน พล.ต.อ.พัชรวาทซึ่งจะเกษียณใน 30 กันยายน 2552 โดยนายอภิสิทธิ์ผลักดัน พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ “มืองบประมาณ” แต่คณะกรรมการ ก.ต.ช.ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ส่วนใหญ่เห็นว่า พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย มือสืบสวนปราบปราม เหมาะสมกว่ามาก

นายอภิสิทธิ์ดันแล้วดันเล่า ประชุมหลายรอบก็ไม่สำเร็จ แต่กลับใช้วิธีให้ พล.ต.อ.ปทีป ทำหน้าที่รักษาการแทน ผบ.ตร.ไปเรื่อยๆ เกือบปี

ช่วงนี้แหละ ที่ไม่เปลี่ยนสัญญาสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ

จนกระทั่งอีก 2 ปี จึงเริ่มก่อสร้าง แต่ลงเอยก็ทิ้งร้าง กลายเป็นสถานีที่มีแต่เสากันไม้เลื้อยพัน หรือผนังก่ออิฐแต่เปลือยเปล่า ปล่อยให้ตำรวจใน 396 โรงพักที่อยู่ในโครงการ ต้องไปใช้อาคารจอดรถ โรงอาหาร กระทั่งห้องน้ำ เป็นที่ทำงานแทน

จนในปี 2556 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ส.ส.พรรครักประเทศไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯดูแลงานตำรวจ โดยงัดเรื่อง 396 โรงพักร้างออกมาแฉ มีหลักฐานภาพถ่ายประจานพร้อม สร้างความตื่นตะลึงไปทั้งสังคม

ก่อนที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอขณะนั้น จะเข้ามาสอบสวนและสรุปพยานหลักฐานส่งเข้า ป.ป.ช.ให้ดำเนินการเอาผิดต่อไป

จนปี 2556 มีการชัตดาวน์จากม็อบที่นำโดยนายสุเทพ และมีรัฐประหารในพฤษภาคม 2557 จากนั้นคดีนี้ก็เหมือนจะเงียบหายไป

ต่อมานายสุเทพยื่นฟ้องนายธาริต และหนังสือพิมพ์ข่าวสด-มติชน ฐานหมิ่นประมาท กรณีนายธาริตแถลงข่าวสรุปคดี 396 โรงพัก

กระทั่ง 29 มีนาคม 2561 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ชี้ว่านายธาริตแถลงตามอำนาจหน้าที่และเป็นคดีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ขณะที่มติชน-ข่าวสด เสนอไปตามข้อเท็จจริง โดยสุจริต

และในคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทนี้ชี้ว่า นายสุเทพได้เบิกความยอมรับเองว่า ได้เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอให้เปลี่ยนแปลงสัญญา เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับมติ ครม.และระเบียบสำนักนายกฯ

ผลจากคดีหมิ่นประมาท ทำให้ ป.ป.ช.ต้องคัดคำพิพากษา เพื่อนำไปประกอบการไต่สวนคดีทุจริต 396 โรงพัก

แต่กว่า ป.ป.ช.จะสรุปได้ ก็ล่าช้า ไม่แพ้ตอนสร้างโรงพัก ที่ช้าจนกลายเป็นโรงพักร้าง

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image