พรุ่งนี้-พรุ่งนี้ ตอบก็ได้

การเมืองมีเรื่องให้พูดให้ถามกันทุกวันในทุกวงสนทนา คุยกันไปคุยกันมาในเรื่องสัพเพเหระ แล้วใครคนหนึ่งต้องหันกลับมาถามถึงคำถามเก่าที่ยังไม่มีคำตอบเสียทีหนึ่ง ก่อนแยกย้ายกันไปว่า “เมื่อไหร่จะมีเลือกตั้ง”

ถามแล้วไม่ต้องการคำตอบ หรือใครบางคนอาจตอบว่า “ไม่รู้” เท่านั้น

หาเนื้อหาสาระนำไปเป็นคำตอบให้ใครไม่ได้สักที

วันนี้มีคำตอบใหม่แนะนำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นำไปใช้ ไม่มีการสงวนสิทธิ์ หรือคิดค่าลิขสิทธิ์

Advertisement

เป็นคำตอบที่ครั้งแรกผู้รับฟังคำตอบกระตือรือร้นที่จะฟัง แต่เมื่อฟังแล้วอาการ “เฮ่ย” เกิดขึ้นทันที

คำตอบเมื่อถูกถามว่า “เมื่อไหร่จะมีเลือกตั้ง” คำตอบคือ “ปีหน้า” ซึ่งเป็นคำตอบที่ทุกคนรู้แล้วว่าถึงอย่างไรปีหน้าต้องมีเลือกตั้งแน่ แต่เมื่อไหร่ไม่รู้

ดังนั้นคำตอบที่ถูกต้องคือ “ปีหน้าถามใหม่”

Advertisement

ว่าแล้วผู้ตอบต้องหลบฉากทันที เพราะผู้ถามมักจะหัวเสีย หรือไม่ก็เงื้อหมัดเงื้อศอก กลายเป็นว่าตอบอย่างนั้นได้ยังไง
ระบอบประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ไหนแต่ไร เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีคำตอบในตัว คือ “มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และ “มาตรา 3 อำนาจธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แม้รัฐธรรมนูญหลายฉบับระบุว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

การนิยามคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ยังไม่มีความชัดแจ้งสักทีหนึ่ง

เคยมีแต่คำนิยามที่กำหนดออกมาเพียงเพื่อไม่ให้นานาชาติที่เป็นประเทศประชาธิปไตยรังเกียจว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย คือกำหนดให้มีการเลือกตั้ง มีการจัดตั้งพรรคการเมือง มีฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ทั้งยังบอกแก่นานาชาติไม่เต็มปากเต็มคำว่า “ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ”

ไม่ทราบว่าใครจะรู้ไหมว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” คืออย่างไร

เคยบอกกับนานาประเทศว่า “ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบ ไทย-ไทย” ซึ่งเป็นอย่างไรไม่รู้อีกเหมือนกัน
เพราะนิยามคำว่าคนไทยคือ “ทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้”

ขณะที่นานาอารยประเทศ ประชาธิปไตยของเขาคือ ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน

การยกร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง โดยเฉพาะครั้งสุดท้าย มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดให้จัดตั้งพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง จะลงสมัครอิสระมิได้

พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกพรรคเท่านั้นเท่านี้จึงเป็นพรรคการเมืองได้ ระบบการเลือกตั้งแม้ยังไม่ประกาศออกมาชัดเจนว่าทำอย่างไร แต่มีออกมาว่า ต้องเลือกตั้งบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในสองสามรูปแบบ

ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

ทั้งที่สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนไม่สมควรต้องกำหนดให้ไปเลือกตั้ง หรือลงประชามติ เพราะการเลือกตั้ง หรือลงประชามติคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือไม่ไปลงประชามติ คือสิทธิของประชาชนเช่นเดียวกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติ

แล้ว “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นอย่างไรดี พรุ่งนี้ค่อยตอบก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image