ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมื่อมนุษย์แรกประสบ…พบน้ำมัน โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

นักโบราณคดี นักธรณีวิทยาเชื่อว่าประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชนเผ่าบาบิโลเนียน (Babylonian) เป็นชนเผ่าแรกที่มีการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทนไม้

ข้อมูลอีกด้าน ระบุว่า… ชาวจีน คือชนชาติที่ค้นพบน้ำมันดิบ เมื่อราว 600 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวจีนนำน้ำมันดิบขึ้นมาใช้ ลำเลียงน้ำมันดิบทางท่อโดยใช้ลำไม้ไผ่ บรรทุกใส่เรือ ชาวจีนทำเหมืองถ่านหินและขุดเจาะบ่อก๊าซธรรมชาติลึกเป็นระยะร้อยเมตรได้

 

ส่วนข้อมูลโลกตะวันตกระบุว่า พ.ศ.2391 ซามูเอล เอ็ม เกียร์ (Samuel M. Kier) เป็นบุคคลแรกที่ถือได้ว่าขุดพบน้ำมันโดยบังเอิญจากบ่อที่เขาขุดขึ้นบนฝั่งแม่น้ำอัลเลเกนี (Allegheny) ในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ทางตะวันออกของอเมริกา และตั้งชื่อน้ำมันดังกล่าวว่า น้ำมันซีนีกา (Seneca oil) ซึ่งเป็นชื่อพื้นเมืองอเมริกัน

Advertisement

น้ำมันซีนีกาถูกนำมาใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่น ใส่ตะเกียงให้แสงสว่างกันอย่างแพร่หลาย ความต้องการน้ำมันชนิดนี้เป็นแรงผลักดันให้มีการแสวงหาปิโตรเลียมมาใช้เพื่อการพาณิชย์ และนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทเจาะหาน้ำมันชื่อ บริษัท ซีนีกาออยส์ จำกัด (Seneca Oil Company)

ในช่วง พ.ศ.2402 เป็นช่วงของยุคตื่นน้ำมัน ซึ่งเริ่มจากการที่ เอ็ดวิน แอล เดรก (Edwin L. Drake) ถูกส่งไปเจาะสำรวจหาน้ำมันที่เมืองทิทัสวิลล์ (Titusville) ในเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เขาได้ขุดพบน้ำมันดิบที่ระดับความลึก 69.5 ฟุต โดยมีน้ำมันไหลออกมาด้วยอัตรา 10 บาร์เรลต่อวัน

Advertisement

พ.ศ.2444 เดรก (Drake) ชาวอเมริกันลงมือเจาะโดยใช้เครื่องขุดเจาะเป็นครั้งแรก พบน้ำมันในรัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนสำรวจ ขุดเจาะหาน้ำมันเพื่อการค้า เป็นการเริ่มต้นธุรกิจน้ำมันในเชิงพาณิชย์ของโลก

เกิดบริษัทน้ำมัน กัลฟ์ออยล์ (Gulf Oil) เท็คซาโก (Texaco) ของอเมริกา ในช่วงเวลานั้นไม่ว่าน้ำมันจะผลิตจากที่ไหนในโลก บริษัทน้ำมันของอเมริกา คือ ผู้กำหนดราคาน้ำมัน ใช้คำว่า “ราคาอ่าวเม็กซิโก” (Gulf of Mexico)

ภาพยนตร์ชื่อ The Beverly Hillbillies ชื่อภาษาไทยว่า “กลอยใจจอมเปิ่น” ในยุคทีวีขาว-ดำ เมื่อราว 50 ปีที่แล้วนำแสดงโดย Buddy Ebsen ที่คนไทยชื่นชอบ เป็นเรื่องของชาวเท็กซัสในชนบทไปล่าสัตว์ เอาปืนยิงไปโดนพื้นดิน ปรากฏว่าน้ำมันดิบพุ่งขึ้นมาไหลนองท่วมทุ่ง แทบไม่ต้องสูบ

ครอบครัวนี้เลยกลายเป็นมหาเศรษฐี อพยพเข้าไปอยู่ในย่านเศรษฐีเบฟเวอรีฮิลล์ แคลิฟอร์เนีย แล้วทำอะไรแบบคาวบอยเชยๆ เป็นภาพยนตร์แนวตลก ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่รัฐเท็กซัสของอเมริกามีน้ำมันดิบมหาศาล

เชื้อเพลิงที่มนุษย์นำมาใช้ในยุคแรก คือ น้ำมันให้แสงสว่าง ทำเป็นน้ำมันหล่อลื่น คือ น้ำมันวาฬ ต่อมาเมื่อน้ำมันวาฬหายาก มนุษย์เริ่มมองหาสิ่งที่จะมาเป็นเชื้อเพลิงตัวใหม่

ใครจะพบน้ำมันดิบก่อน-หลัง คงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไร มนุษย์มีสติปัญญาอันเฉียบแหลมและมีพัฒนาการตลอดมาในด้านพลังงาน จากการใช้ไม้ทำฟืนให้ความร้อน ผลิตเครื่องจักรไอน้ำ ใช้ถ่านหิน จนกระทั่งเก่งกล้าไปขุดเอาน้ำมันที่นอนอยู่ใต้ดินนับแสนปีขึ้นมาใช้ มนุษย์ไปขุดหาน้ำมันและก๊าซในทะเลจนพรุนไปหมดแล้ว

ร้อยกว่าปีที่แล้วพบถ่านหิน นำมาใช้กับเครื่องจักรไอน้ำสร้างกำลังผลิตได้สารพัด ก็นับว่าได้เจอสิ่งที่วิเศษที่สุด แล้วด้านพลังงาน เครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ได้ทั้งไม้และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นการปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมทั้งโลก

มาจนถึงปัจจุบัน ศตวรรษที่ 21 มนุษย์ยังเก่งไม่หยุด ไปสำรวจพบน้ำมันที่นอนซุกอยู่ใต้ทะเลลึก วิศวกรไปตั้งสถานี กิน อยู่ หลับนอนในทะเล ขุดเอาน้ำมัน สูบเอาก๊าซใส่ท่อผ่านทะเล ข้ามภูเขา แปรรูปเอามาเป็นพลังงานใช้ถึงในครัวที่บ้านได้

นี่ยังไม่รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ ที่กำลังพัฒนาแข่งกันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอนำพาท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปในยุคลำเค็ญแสนเข็ญของกลุ่มโลกอาหรับ…และเปลี่ยนผ่านไปสู่ความร่ำรวยด้วยสาเหตุ “พบน้ำมัน” ในตะวันออกกลาง

…ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ.2457-2461 ทุกประเทศในโลกต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเทศในยุโรปหมดเนื้อหมดตัวเพราะ “สงครามโลกครั้งที่ 1” แม้กระทั่งสยามประเทศก็ประสบปัญหาในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.6 ต่อเนื่องไปถึงรัชสมัยในหลวง ร.7

พ.ศ.2444 ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยในหลวง ร.5 อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม ครอบครองดินแดนมากหลายบนโลกใบนี้ และมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำโลกอาหรับ เจ้าของทะเลทรายในตะวันออกกลาง จึงส่งนักธุรกิจชื่อวิลเลียม นอกซ์ อาร์ซี (William Knox D’arcy) เข้าไปโน้มน้าวอาณาจักรเปอร์เซีย (ปัจจุบันคือ อิหร่าน) ขอสำรวจน้ำมันในทะเลทรายที่แสนทุรกันดารเพื่อการลงทุน

บริษัทของอังกฤษสำรวจหาน้ำมัน ลองผิด ลองถูกนาน 7 ปี ก็พบแหล่งน้ำมันพอที่จะลงทุนขุด ณ บริเวณมัสยิดโซลิมัน (Masjed Soleyman) อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเปอร์เซียติดกับชายแดนเตอร์กิช เมโสโปเตเมีย (ปัจจุบันคืออิรัก)

1 ปีต่อมา จึงตั้งบริษัท Anglo-Persian Oil Company (APOC) ขึ้นในลอนดอน อังกฤษปฏิวัติเปลี่ยนเครื่องยนต์ของเรือสินค้าในทันที…เปลี่ยนจากใช้ถ่านหินเป็นน้ำมัน ในยุคนั้นอังกฤษจ่ายค่าสัมปทานเป็นเงิน 20,000 ปอนด์ กับส่วนแบ่งอีก 16% ของกำไรจากการขายน้ำมันที่สูบขึ้นมา

อังกฤษ อเมริกา มีข้อมูลทรัพยากรน้ำมัน มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าใครในโลก กล้าพอที่จะขอลงทุน ในขณะที่กลุ่มประเทศในโลกอาหรับเจ้าของดินแดนเองไม่ทราบว่าใต้แผ่นดินของตนเองนั้นอุดมไปด้วยน้ำมันมหาศาล

เมื่อพบทองคำสีดำมหาศาลใต้ดินแห่งแรก ก็ยากที่จะหยุดตรงนั้น

การสำรวจ ขุดเจาะ การลงทุนเกิดขึ้นในอิรัก (พ.ศ.2470) บาห์เรน (พ.ศ.2475) การ์ตา (พ.ศ.2485) ซาอุดีอาระเบีย และคูเวต (พ.ศ.2481) ยูเออี (พ.ศ.2501) และโอมาน (พ.ศ.2507)

นายทุนใหญ่ล้วนมาจากอังกฤษ อเมริกา ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ คือ เส้นเขตแดนระหว่างรัฐอาหรับในทะเลทรายที่ยังไม่ได้กำหนด ทุกรัฐอยู่ในทะเลทรายที่หาภูมิประเทศเด่นชัดเป็นเขตแดนได้ยากมาก จะแบ่งดินแดนกันอย่างไร เพราะมันคือจำนวนน้ำมันใต้ดิน

ความรู้โดดเด่นเรื่องภูมิศาสตร์ เรื่องเขตแดนระหว่างรัฐ อังกฤษ คือ เจ้าของหลักการที่ไปยึดครองแผ่นดินมาทั่วโลก อังกฤษกุมสภาพการเมือง การปกครอง ชี้เป็น ชี้ตายได้ อังกฤษมีอิทธิพลสูงสุดในตะวันออกกลาง เรียกว่า อังกฤษ คือ เจ้ามือที่กินรอบวง

เจ้าผู้ปกครองอาณาจักรในตะวันออกกลางเริ่มแตกคอกัน ฝ่ายหนึ่งต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนหาน้ำมันเพื่อเป็นรายได้

เจ้าผู้ครองดินอีกฝ่ายหนึ่งขอปฏิเสธชาวต่างชาติที่จะเข้ามารุ่มร่าม เกะกะขุดหาน้ำมันในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของตน

เมื่อมีผลประโยชน์ล้นฟ้าเป็นเดิมพัน เจ้าผู้ครองดินแดนในโลกอาหรับเลยขัดแย้งกันเอง ในที่สุดเจ้าผู้ครองอาณาจักรต้องขอแยกดินแดนออกเป็นประเทศย่อยๆ ให้-ไม่ให้ ต่างชาติเข้ามาสำรวจ ขุดเจาะหาน้ำมัน

ซาอุดีอาระเบีย พี่เบิ้มแห่งโลกอาหรับ ยินยอมให้อังกฤษเข้ามาลงทุน สำรวจ ขุดเจาะหาน้ำมัน

ขอย้อนประวัติศาสตร์ไปราว 100 ปี ดูดินแดนทะเลทรายที่แสนกันดารมีแต่ทรายกับอูฐที่ทุกคนเบือนหน้าหนี…

ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 จักรวรรดิออตโตมานเป็นมหาอำนาจควบคุมพื้นที่ส่วนมากของคาบสมุทรอาระเบีย ผู้นำออตโตมานปกครองดินแดนโดยการติดต่อกับหัวหน้าชนเผ่า

พ.ศ.2459 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษสนับสนุนให้ผู้ปกครองแห่งมักกะห์ (Sharif of Mecca) นามว่า ฮุสเซน บินอาลี ให้นำชาติอาหรับลุกขึ้นก่อขบถต่อจักรวรรดิออตโตมัน เพื่อสร้างสหรัฐอาหรับ การกบฏที่ต่อสู้กัน 2 ปี ล้มเหลว

อังกฤษและชาติสัมพันธมิตรเข้าล้มล้างอำนาจของออตโตมาน แล้วเข้ามาปกครองเอง เป็นอันสิ้นสุดอำนาจออตโตมานในคาบสมุทรอาระเบีย

ชนเผ่าอาหรับในทะเลทรายแย่งชิงอำนาจและการต่อสู้กันเอง พ.ศ.2475 อาณาจักรฮิญาซ (Hejaz) และนัจด์ (Nejd) ก็รวมเป็นหนึ่งในนาม “ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย”

ซาอุดีอาระเบีย ที่แจ้งเกิดใหม่เป็นราชอาณาจักรที่แร้นแค้น แสนจะกันดาร ดินแดนแห่งทะเลทราย รายได้หลัก ต้องพึ่งพาพืชผลการเกษตรและหารายได้จากผู้เดินทางไปแสวงบุญที่นครมักกะห์

กษัตริย์ผู้ปกครองซาอุดีอาระเบีย พยายามทำทุกสิ่งเพื่อแก้ปัญหาประชากรที่กำลังจะอดตาย บริษัทของอังกฤษได้รับอนุญาตให้เข้าไปสำรวจหาน้ำมันดิบตามหลักการทางธรณีวิทยา

หลังจากหลายทศวรรษผ่านพ้นไป บริษัทอังกฤษที่ลงทุนสำรวจหาน้ำมัน หมดเงินไปมหาศาลแทบสิ้นเนื้อปะดาตัว

พ.ศ.2475 บริษัท Standard Oil Company of California (Socal) ของอเมริกาตามไล่หลังอังกฤษเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำประเทศได้สำเร็จ ก็เป็นผู้ได้สัมปทานในประเทศบาห์เรนและพบแหล่งน้ำมันปริมาณมากพอที่จะทำในเชิงพาณิชย์ได้

4 มีนาคม 2481 ชาวซาอุดีอาระเบีย เผ่าเบดูอิน ชื่อ Khamis Bin Rimthan ช่วยให้นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันพบบ่อน้ำมันดิบบ่อแรก ที่หลุมดัมมัม หมายเลข 7 (Dammam No.7) บรรยากาศที่กำลังท้อแท้กลับฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจที่จะต้องหาน้ำมันดิบต่อไปอีก

ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียมีพื้นที่ 2,149,690 ตร.กม. มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน (มี.ค.-ต.ค.) อุณหภูมิ 32-50 องศาเซลเซียส อากาศร้อน แห้งแล้ง มีพายุทรายพัดในวันที่อากาศร้อนจัด ช่วงเปลี่ยนฤดูจะมีฝนตกเล็กน้อย

ฤดูหนาว (พ.ย.-ก.พ.) อุณหภูมิ 2-20 องศาเซลเซียส ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของคาบสมุทรอาหรับ

ดินแดนแห่งทะเลทรายอันอุดมไปด้วยน้ำมันดิบที่นอนอยู่ใต้พิภพ ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตย โดยมีกษัตริย์เป็นประมุข มีนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แบ่งการปกครองท้องถิ่นเป็น 14 มณฑล (Provinces) มีเมืองหลวงและเมืองบริวาร โดยเจ้าผู้ครองมณฑลเป็นผู้ว่าราชการปกครอง ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในราชวงศ์

ซาอุดีอาระเบียไม่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ยึดถือเอาธรรมนูญแห่งอิสลามที่มีพื้นฐานมาจากคัมภีร์อัล-กุรอ่านเป็นธรรมนูญสูงสุด ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ (MAJLIS AL SHOURA) ซึ่งมีหน้าที่ถวายคำแนะนำแก่กษัตริย์

ทรัพยากรที่สำคัญคือน้ำมันใต้ทะเลทรายมีจำนวนมหึมาดังน้ำในมหาสมุทร ส่วนมากจะอยู่แถบบริเวณภาคตะวันออกของประเทศที่ติดกับอ่าวอาหรับ นอกจากนี้มีทรัพยากรที่เป็นแร่ธาตุต่างๆ อีกมาก เช่น ทองแดง ทองคำ เหล็ก

ใน พ.ศ.2496 ซาอุดีอาระเบียมีรายได้จากน้ำมันเพิ่มเป็น 200 ล้านเหรียญ เป็นเรื่องน่าตกใจไม่น้อยสำหรับประเทศที่กำลังยากจน

น่าตื่นเต้นนะครับ…ผู้เขียนเปรียบเปรย เหมือนคนไทยลงทุนเจาะน้ำบาดาลเพื่อเอาขึ้นมาใช้ สูบเท่าไหร่ก็มีให้สูบ ส่วนในซาอุดีอาระเบีย เครื่องสูบขนาดยักษ์ สูบได้เป็นสิบปีทั้งวันทั้งคืน เค้าสูบขึ้นมาเป็นน้ำมันดิบขายไปทั่วโลก

ซาอุดีอาระเบียที่ยากแค้นแสนเข็ญ เปล่งประกายของความร่ำรวยเจิดจ้าด้วยน้ำมันดิบที่นอนทับถมอยู่ใต้ดินมานานนับล้านปี เงินทองไหลบ่าเข้าท่วมประเทศซาอุดีอาระเบียไม่หยุดทั้งวันทั้งคืน

รถยนต์ เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องบิน เรือ สรรพสิ่งบนโลกใบนี้ต้องใช้น้ำมันจากโลกอาหรับ โดยเฉพาะจากซาอุดีอาระเบีย

ระเริงกับเงินทองท่วมท้นแบบไม่ต้องเกรงใจใคร ต่อมาบรรดาผู้นำโลกอาหรับมาคุยกัน บวก ลบ คูณ หารกันแล้วพบว่า ชาวต่างชาติ นักลงทุนที่มาขุดเจาะน้ำมันบรรทุกเรือเอาไปขายทั่วโลก มาโกยกำไรแบบหูดับตับไหม้ ในขณะที่กลุ่มประเทศอาหรับเจ้าของบ่อ มีรายได้เพียงเล็กน้อย…ฝรั่งเอาเปรียบ ขูดรีด เกินที่จะอดทนต่อไป

ประมาณ พ.ศ.2510 ผู้ปกครองประเทศต่างๆ ที่มีแหล่งน้ำมัน ระดับบิ๊ก 5 คือ เวเนซุเอลา ซาอุดีอาระเบีย คูเวต อิรัก อิหร่าน จึงรวมตัวกันตั้งองค์กรชื่อว่า The Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) หรือโอเปค ที่คนไทยเราคุ้นชื่อกันดี เพราะถ้าโอเปคขยับปากเมื่อใด เป็นอันเดือดร้อนกันทุกคราไป

โอเปค ที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อรอง กำหนดราคาน้ำมันทั้งโลก เริ่มเบ่งกล้าม ขอปรับสัญญาระหว่างเจ้าของบ่อกับบริษัทผู้รับสัมปทาน เป็นการถือหุ้นในบริษัทร่วมในสัดส่วนที่เท่ากัน และฝ่ายต่างชาติต้องขายหุ้นในส่วนของตนให้กับฝ่ายเจ้าของบ่อไปทุกปีๆ ไปจนหมด

ก่อนจะถึง พ.ศ.2525 ประเทศเจ้าของบ่อน้ำมันรอบอ่าวทั้งหมดก็กลายเป็นเจ้าของบริษัทน้ำมันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนผู้ลงทุนชาวต่างชาตินั้นจะเป็นเพียงผู้รับจ้างการผลิตเท่านั้น

และแล้ว… ราคาน้ำมันจากกลุ่มโอเปคทะยานพุ่งพรวดขึ้นไปปานจรวด เมื่อประธานาธิบดีกัดดาฟี ของลิเบีย เปิดเจรจาขอทบทวนเรื่องราคา และซ้ำเติมด้วยสงครามอิสราเอล-อาหรับ ครั้งที่ 4 โลกแทบหยุดหมุน เดือดร้อนกันไปหมดทุกหย่อมหญ้า

น้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคยังคงขึ้นราคาไม่หยุด น้ำมันกลายเป็นสินค้าทางยุทธศาสตร์ ที่มหาอำนาจต่างต้องช่วงชิงและเข้าควบคุมให้ได้ โลกนี้ยังไม่พร้อมที่จะอยู่โดยปราศจากน้ำมัน อเมริกาเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก
และนี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดสงครามต่อเนื่องในตะวันออกลางจนถึงทุกวันนี้

อเมริกา คือประเทศมหาอำนาจที่มองว่าราคาน้ำมันที่กลุ่มโอเปคกำหนดตามอำเภอใจนั้นเป็นภัยคุกคามต่ออเมริกาและสังคมโลก

ท่านผู้อ่านบางท่านที่ช่วงอายุราว 60 ปีขึ้นไป คงระลึกได้ถึงเหตุการณ์สำคัญของโลก เรื่องราคาน้ำมันพุ่งพรวดขึ้นมา คงพอจำได้นะครับ เมื่อก่อน พ.ศ.2514 เมื่อขับรถเข้าปั๊มน้ำมัน สั่งเด็กปั๊มเสียงดัง “เต็มถัง” ราว 40-45 ลิตร ใช้เงินเพียง 100 บาท และยังแถมผ้าสำลีเช็ดรถสีสันสวยงามอีก 1 ผืน

ปัจจุบัน โอเปค ประกอบด้วย แอลจีเรีย แองโกลา เอกวาดอร์ อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย การ์ตา ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี และเวเนซุเอลา

เมื่อน้ำมันกลายเป็นเรื่อง “คอขาดบาดตาย” เลยมีการเปรียบเปรยว่า “น้ำมัน” คือ “คำสาปของธรรมชาติ” เพราะใครก็เชื่อว่าประเทศที่ร่ำรวยน้ำมัน เช่น ซาอุดีอาระเบียจะผลิตน้ำมันจากบาร์เรลละ 10 เหรียญ เคยปั่นราคาขึ้นไปถึงบาร์เรลละกว่า 100 เหรียญ และซาอุดีอาระเบียยังมีน้ำมันให้ขุดขึ้นมาขายได้อีก 70 ปี

ว่าไปแล้ว “พี่เบิ้ม” ในชาติอาหรับตะวันออกกลางที่รวยน้ำมันระดับเบอร์ 1 นั้น คือ ซาอุดีอาระเบีย รองลงมาก็คือ อิหร่าน

ต้นเดือนเมษายน 2561 กระทรวงน้ำมันของบาห์เรนแถลงว่า บาห์เรนค้นพบบ่อน้ำมันใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เริ่มการผลิตน้ำมันมานานเกือบ 90 ปี

บาห์เรน ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่ไม่ได้อยู่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) เปิดเผยว่า แหล่งน้ำมันดังกล่าวมีปริมาณน้ำมันอย่างน้อย 8 หมื่นล้านบาร์เรล และมีก๊าซธรรมชาติ 10-20 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

บริษัทที่ปรึกษาน้ำมัน เช่น DeGolyer, MacNaughton, Halliburton และ Schlumberger ต่างก็ยืนยันการค้นพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบ่อนอกชายฝั่งตะวันตกของบาห์เรนในบริเวณคาลีจ อัล บาห์เรน เบซิน

นับเป็นโชคดีของประเทศต่างๆ ในทะเลทรายที่ไม่ต้องรอฟ้า รอฝน ไม่ต้องปลูกต้นหมากรากไม้อะไรทั้งนั้น ไม่ต้องกลัวฝนตก น้ำท่วม ไม่ต้องไปแก่งแย่งแบ่งสมบัติกับใคร รวยแล้ว รวยอีก รวยซ้ำซาก…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image