ความนิยมของประชาชน ในรัฐราชการ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อ คสช.ยึดอำนาจได้ในระยะแรกๆ “รัฐราชการ” กลับมาเป็นที่นิยมใหม่ ไม่ใช่ตัวรัฐราชการในฐานะความเป็นจริงเชิงภววิสัยที่กลับมาได้รับความนิยม แต่คือ “รัฐราชการ” ที่เป็นทางการวิเคราะห์การเมืองไทยต่างหาก ที่ถูกใช้อธิบายเป้าหมายทางการเมืองของ คสช.อยู่เสมอ

การวิเคราะห์การเมืองในแนวนี้ถูกใช้ในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนามามาก แต่เมื่อนำมาใช้กับการเมืองไทย โดยเฉพาะหลังการพัฒนาของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เห็นกันว่าไม่อาจครอบคลุมกลุ่มคนที่เข้าไปแบ่งปันอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรได้หมด เพราะขาดนายทุนและคนชั้นกลางนอกระบบราชการ ซึ่งมีบทบาทในการแบ่งปันอำนาจมากขึ้นทุกที และด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นแนวการวิเคราะห์การเมืองที่ขาดพลวัต เพราะดูไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไปได้

ข้อนี้ก็จริงอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจแยกนายทุนไทยออกไปจากกลไกของรัฐไทยได้ชัดเจนนัก ถึงพวกเขาอยู่นอกระบบราชการ แต่ก็มีเอเยนต์ในระบบจำนวนมาก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงอุดมการณ์ จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่าเขาคือส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ สนับสนุนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ในระบบราชการให้มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมากกว่ากลุ่มอื่น

พฤติกรรมของนายทุนไทยเช่นนี้พอเข้าใจได้ หากผมมีเงินสักหนึ่งพันล้าน ผมจะเอาเงินนั้นไปฝากไว้กับ “สิทธิ” ที่ถูกเพิกถอนได้ง่ายๆ อย่างที่เกิดขึ้นเสมอในเมืองไทย หรือเอาไปฝากไว้กับอำนาจที่อยู่เหนือกลไกรัฐ ซึ่งแม้ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางอย่างไร ก็มีความมั่นคงกว่า “สิทธิ” ตามกฎหมาย ไม่ใช่หรือ

Advertisement

ดังนั้น การเติบโตของทุนในประเทศไทยจึงกระทบต่อแนวการวิเคราะห์ด้วย “รัฐราชการ” ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือระบบราชการไทยนั้นไม่เคยเป็นเอกภาพ (อันเป็นสิ่งที่ Fred Riggs เองก็ชี้ให้เห็นแล้ว) ไม่เคยเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้แต่หลัง ร.5 ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ระบบราชการสมัยใหม่ก็ยังไม่เป็นเอกภาพอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและมากล้นพระบารมีอย่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปแล้ว ระบบราชการก็แตกกันเอง เสนาบดีแย่งชิงความโปรดปรานกันอยู่ตลอดเวลา บางครั้งด้วยวิธีการที่แรงอย่างไม่น่าเชื่อ ก่อน พ.ศ.2475 เสนาบดีกระทรวงคมนาคมกับเสนาบดีกระทรวงกลาโหมบาดหมางกันอย่างออกหน้า ถึงขนาดไม่มองหน้ากันเลย

โดยสรุปก็คือ หากไม่มีผู้นำที่กุมอำนาจได้เด็ดขาดดังสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยากที่จะสร้างเอกภาพขึ้นในระบบราชการ จะใช้เป็นเครื่องมือในการทำดีก็ไม่ถนัด ทำชั่วก็ไม่ถนัด

Advertisement

ในระยะแรก คสช.คงเข้าใจผิดว่า เมื่อคุมกลไกรัฐ (ซึ่งรวมนายทุนด้วย) ไว้ได้แล้ว ก็ย่อมได้เครื่องมือในการคุมอำนาจได้ตลอดไป แต่ก็เหมือนคนใช้ฟันปลอมที่พยายามเคี้ยวกระดูก เพราะระบบราชการที่ตกอยู่ในมือ คสช.หาได้มีเอกภาพไม่ แม้ใช้อำนาจเด็ดขาดของ ม.44 โยกคนนี้ ย้ายคนนั้น ปลดคนโน้น อย่างไร ระบบราชการก็ไม่ “นิ่ง” คือไม่มีเอกภาพที่จะใช้เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจได้สะดวกสบายอยู่นั่นเอง

(ผมควรขยายความไว้ด้วยว่า ระบบราชการไทยในปัจจุบันมีความแตกต่างจนถึงแตกแยกอย่างมาก ไม่ใช่ระหว่างหน่วยงานเพียงอย่างเดียว ยังมีความแตกต่างถึงแตกแยกในระหว่าง “ชนชั้น”, “ช่วงชั้น”, “สำนักเรียน”, และ “ช่วงอายุ” ของข้าราชการแม้ในหน่วยงานเดียวกันอีกด้วย ยิ่งปราศจากความเคารพต่อกฎเกณฑ์ที่เป็นกลางและตรวจสอบได้ ความแตกต่างเหล่านี้ก็มีแนวโน้มเป็นความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น)

นี่คือเหตุผลที่ในปีหลังๆ ของ คสช. จำเป็นที่ คสช.ต้องลงมาแสวงหาความนิยมของประชาชน (popularity) อย่างเป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น ไม่แต่เพียงเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่โดยตัวของมันเองก็มีความสำคัญในการเมืองไทยมากขนาดที่อาจกล่าวได้ว่า เป็น “เสาหลัก” อีกอันหนึ่งที่เคียงคู่กับกลไกรัฐ เคียงคู่ในที่นี้หมายความว่า จะถืออำนาจทางการเมืองได้อย่างยั่งยืนในประเทศนี้ คุณต้องมีทั้งสองอย่าง คือมีอำนาจควบคุมกลไกรัฐที่ขาดเอกภาพให้พอทำงานไปได้ และคุมความนิยมของประชาชนไว้ในมือ มีอะไรเพียงอย่างเดียวก็ยากที่จะมีอำนาจทางการเมืองได้อย่างมั่นคง

ดังนั้น จึงควรหันมาพิจารณา popularity ในฐานะเงื่อนไขสำคัญทางการเมืองไทยกันให้ดี

Popularity หรือความนิยมของประชาชนมีความสำคัญในทุกระบอบการเมือง แต่ไม่เคยเป็นเงื่อนไขสำคัญเช่นนี้ในการเมืองไทยมาก่อน จนหลัง 14 ตุลา (ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากหนังสือ Bureaucratic Polity ได้รับการตีพิมพ์ไปนานแล้ว) ก่อนหน้านั้นความนิยมของประชาชนในการเมืองเป็นสิ่งที่กลไกรัฐ “จัดการ” (manage) ได้ หรือถึงขนาด “ชักใย” (manipulate) ได้ด้วยซ้ำ แต่หลัง 14 ตุลา ความนิยมของประชาชนกลายเป็นพลังอิสระที่เข้ามากำหนดการเมืองได้มากขึ้นทุกที ถึงการ “จัดการ” และ “ชักใย” ยังมีอยู่ในบางกรณี แต่ไม่เคยได้ความนิยมที่พร้อมเพรียงอีกแล้ว

และนั่นคือเหตุที่ กปปส.ต้องเป่านกหวีดใส่หูคนไทยด้วยกันเอง แทนที่จะเป่าใส่หน้าคนอื่น

ไม่ว่า คสช.จะหวงแหนกีดกันคนอื่นอย่างไรในขณะนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า popularity หรือความนิยมของประชาชนเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปิดทางการเมือง ไม่แต่เพียงมีพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเข้ามาช่วงชิงกันอย่างเข้มข้นกับ คสช. หรือช่วงชิงกันเองเท่านั้น องค์กรหรือหน่วยต่างๆ ของกลไกรัฐ ซึ่งขาดเอกภาพ และ คสช.ควบคุมไว้ไม่ได้ ก็เข้ามาช่วงชิงบทบาทหน้าที่ในพื้นที่เปิดนี้เหมือนกัน

ขอยกตัวอย่างที่ค่อนข้างสุดโต่ง แต่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เช่น กองทัพ

เมื่อแรก คสช.ยึดอำนาจได้ ใครๆ ก็มองบทบาทของกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของ คสช. กองทัพออกไปจัดระเบียบทางเท้า, ทวงคืนผืนป่า, ไล่จับผู้เห็นต่าง, ยับยั้งการเคลื่อนไหวทางการเมือง, ฯลฯ ในช่วงนั้น ในความเข้าใจของคนทั่วไป คือการกระทำของ คสช. แต่บทบาทอันสูงเด่นของหน่วยซีลในการช่วยเด็กติดถ้ำเมื่อเร็วๆ นี้ กลับเป็นความเข้าใจว่าคือผลงานของกองทัพเรือหรือของหน่วยซีลเอง ไม่ใช่ของ คสช. และแท้จริงแล้วคนใหญ่คนโตใน คสช.ต้องพยายามแหวกผู้คนเข้าไปเสนอหน้าในภายหลัง ซ้ำยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างประจักษ์ชัดเสียอีก ผมไม่แน่ใจว่าจะมีใบหน้าของคนใหญ่คนโตใน คสช.ปรากฏบนภาพขนาดใหญ่ที่ศิลปินเชียงรายกำลังจะนำไปติดตั้งที่หน้าถ้าหลวง-ขุนน้ำนางนอนหรือไม่

เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นในระบบราชการ เช่น หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม, มหาวิทยาลัย (บางแห่ง), ข้าราชการฝ่ายปกครอง (บางแห่ง), ฯลฯ ความชอบธรรมที่หน่วยงานเหล่านี้ต้องแสวงหาไม่ใช่จาก คสช.ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจเหนือกลไกรัฐเท่านั้น แต่ความชอบธรรมในสายตาประชาชนก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น (ซึ่งผมจัดอยู่ใน popularity เหมือนกัน)

บนสนามแข่งขันความนิยมของประชาชนนี้ หาก คสช.ล้มเหลว คือไม่อาจรวบรวมความนิยมได้เป็นปึกแผ่นกว่าฝ่ายอื่น การเกาะอยู่กับ คสช.ย่อมเป็นอันตรายต่อหน่วยงาน, องค์กร, หรือสถาบันนั้นๆ ในระยะยาว เป็นผลให้ต้องปรับเปลี่ยนอำนาจที่ควบคุมกลไกรัฐเสียใหม่ อาจจะปรับกลุ่มอำนาจใน คสช. หรือยกเลิกอำนาจสูงสุดในการควบคุมกลไกรัฐของ คสช.ออกไปเลย แล้วหาวิธีใหม่อย่างอื่นในการควบคุมกลไกรัฐอีกแบบหนึ่ง

แต่อย่าหวังเป็นอันขาดว่าการปรับเปลี่ยนใดๆ ในภายหน้า (ยกเว้นชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้ง) จะเป็นผลให้เงื่อนไขความนิยมของประชาชนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญสูงสุดในการเมืองไทย และเหนืออำนาจควบคุมกลไกรัฐ ดุลระหว่างเงื่อนไขสองอย่างคืออำนาจเหนือกลไกรัฐและความนิยมของประชาชน จะยังต้องอยู่คู่เคียงไปในการเมืองไทยอีกนานพอสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image