ไทยกับการเคลื่อนไหวกู้ชาติเวียดนาม

วันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 เป็นวันที่ประธานโฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) ได้ประกาศเอกราชภายใต้ชื่อ “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม” อันถือว่าเป็นวันชาติของเวียดนาม

เมื่อญี่ปุ่นได้เข้ามาในอินโดจีนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ.1940 ฝรั่งเศสซึ่งกำลังครอบครองเวียดนามอยู่นั้น ก็ได้ยอมแพ้ต่ออำนาจและศักยภาพทางทหารของญี่ปุ่นและกระจัดกระจายไปในหลายทิศทาง ชาวเวียดนามในช่วงนั้นต้องประสบกับความทุกข์ยาก ความอดอยากและล้มตายไม่น้อยกว่าสองล้านคน

หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ประธานโฮจิมินห์ จึงได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 อันถือว่าเป็นวันชาติของเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม การประกาศเอกราชของเวียดนามขณะนั้น ไม่ได้ทำให้การต่อสู้เพื่อกู้ชาติยุติลง เพราะฝรั่งเศส (ซึ่งเข้ามาเวียดนามตั้งแต่ ค.ศ.1858) ได้หวนกลับคืนมาเพื่อครอบครองเวียดนามอีกครั้ง เวียดนามต้องต่อสู้กับฝรั่งเศสจากนั้นมาอีกหลายปี กว่าจะได้รับชัยชนะที่เดี่ยน เบียน ฝู หรือ เดียนเบียนฟู (Điện Biên Phủ) ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1954 ซึ่งทำให้เวียดนามได้รับเอกราชอย่างแท้จริงจากฝรั่งเศส

Advertisement

ในการเคลื่อนไหวกู้ชาติจากฝรั่งเศส ชาวเวียดนามไม่น้อยได้เข้ามาพักพิงเคลื่อนไหวอยู่ในไทย

อันที่จริงแล้ว ได้เริ่มเข้ามาเคลื่อนไหวในไทยนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

การเข้ามาในไทยของชาวเวียดนาม

Advertisement

ชาวเวียดนามได้เดินทางเข้ามาค้าขาย ตั้งหลักแหล่งในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าเราจะเจาะจงไม่ได้ว่าชาวเวียดนามได้เดินทางเข้ามาในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันเมื่อไร แต่เราได้เห็นหลักฐานของการอยู่อาศัยของชาวเวียดนามอยู่รอบนอกทางทิศใต้ของพระราชวังกรุงศรีอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย การคงอยู่ของชุมชน หรือหมู่บ้านของชาวเวียดนามได้ปรากฏขึ้นแล้วในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับจากนั้น ชาวเวียดนามก็เดินทางมายังไทยในหลายช่วงเวลา

สาเหตุการเข้ามาของชาวเวียดนามมีหลายประการที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ทั้งเพื่อการค้าขาย ด้วยหนีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความอดอยาก ความกดดันทางศาสนา หรือเป็นเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงครามสยาม-เวียดนาม เป็นต้น ในบางช่วงเวลาจะมีการอพยพมาโดยทางเรือ แต่โดยส่วนใหญ่ชาวเวียดนามจะอพยพเข้ามาด้วยเส้นทางทางบก ข้ามภูเขา เจื่อง เซิน (Trường Sơn) ที่กั้นระหว่างเวียดนามและลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอีสานปัจจุบันของไทย โดยชาวเวียดนามที่มายังอีสานรุ่นแรกๆ ที่เดินทางมาโดยทางบกนี้จะมาตั้งหลักแหล่งอยู่ตามหมู่บ้านริมฝั่งโขง

และรุ่นต่อๆ มาก็จะตั้งหลักแหล่งไกลออกมาจากฝั่งแม่น้ำโขงมากขึ้น

ไทย : ที่พักพิงของชาวเวียดนามรักชาติ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และช่วงเวลาหลังจากนั้น กล่าวคือในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวเวียดนามได้หนีภัยฝรั่งเศสจากเวียดนามมาหาแผ่นดินทำกินในลาว บางส่วนข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังฝั่งไทย
นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขบวนการกู้ชาติในเวียดนามได้เกิดขึ้นหลายขบวนการ ชาวเวียดนามรักชาติได้หลบหนีฝรั่งเศสจากเวียดนาม ผ่านลาว มายังไทย ทั้งนี้ บนดินแดนไทยไม่มีกองกำลังของฝรั่งเศสประจำการ ชาวเวียดนามรักชาติจึงอาศัยดินแดนไทยเป็นที่พักพิงหลบภัย และเริ่มรวบรวมชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในไทย สร้างชุมชนและสะสมกำลังเพื่อกลับไปเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสในลาวและเวียดนาม อีกทั้ง ในบางช่วงเวลาได้เข้ามาเสาะหาซื้ออาวุธเพื่อไปสู้รบกับกองกำลังของฝรั่งเศสในเวียดนามด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บุคคลสำคัญที่เข้ามารวบรวมชาวเวียดนามที่กระจัดกระจายและสร้างชุมชนอยู่ในไทย หรือ สยาม ก็คือ ดั่ง ทุก เหือ (Đặng Thúc Hứa) ซึ่งได้เดินทางมาถึงไทยในช่วงปลายปี ค.ศ.1909 ดั่ง ทุก เหือ ได้เข้ามาในไทยพร้อมๆ กับ ฟาน โบ่ย เจิว (Phan Bội Châu) ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการดง ซู หรือ ขบวนการมุ่งสู่ตะวันออก (Phong trào Đông Du) (ค.ศ.1904-1909) ไทยเป็นดินแดนที่ ฟาน โบ่ย เจิว ได้พานักศึกษาชาวเวียดนามที่อยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งถูกรัฐบาลญี่ปุ่นกดดันให้เดินทางออกนอกประเทศ มาพักพิง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากเชื้อพระราชวงศ์สยามท่านหนึ่งในการให้ที่ดินทำกินที่ปากน้ำโพ

ในขณะที่ฟาน โบ่ย เจิว มองว่า ไทย หรือ สยาม เป็นเพียงที่พำนักชั่วคราว และเห็นว่าในการต่อสู้กับฝรั่งเศส เวียดนามจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น แต่ ดั่ง ทุก เหือ เห็นต่างไปจากนั้น โดยดั่ง ทุก เหือ เห็นว่า ชาวเวียดนามต้องพึ่งตนเองเท่านั้น

ด้วยความคิดนี้ ดั่ง ทุก เหือจึงได้พยายามสร้างให้สยามเป็นฐานเคลื่อนไหวในระยะยาว และนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1912 ดั่ง ทุก เหือก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานขบวนการกู้ชาติของชาวเวียดนามในประเทศไทย

ความใกล้ชิดของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของทั้งไทยและเวียดนามทำให้ไทยกลายเป็นฐานการเคลื่อนไหวกู้ชาติทางทิศตะวันตกที่ดียิ่งของเวียดนาม

ฐานการเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสของเวียดนามในไทยได้เริ่มขึ้นที่ปากน้ำโพในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1910 และได้ย้ายมาที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร ในปี ค.ศ.1914 จากนั้นได้ไปก่อตั้งขึ้นในหลายจังหวัดในอีสาน ดังเช่น ที่บ้านหนองบัวและบ้านหนองโอน จังหวัดอุดร และที่บ้านใหม่ หรือ บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม และอีกในหลายจังหวัดในช่วงเวลาต่อมา

ประธานโฮจิมินห์เอง ก็ได้เคยมาเคลื่อนไหวในไทยในช่วงกลาง หรือปลายปี ค.ศ.1928 ถึงต้นปี ค.ศ.1930

หลังจากที่ประธานโฮจิมินห์ได้เดินทางจากไป การเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามในไทยเพื่อกลับไปต่อสู้กับฝรั่งเศสในเวียดนามได้ดำเนินต่อไป ในบางช่วงเวลาสามารถทำการเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี แต่ในบางช่วงเวลาต้องประสบกับความกดดันจากรัฐบาลไทยที่ถูกกดดันจากฝรั่งเศสอีกต่อหนึ่ง หรือด้วยการกดดันจากนโยบายของรัฐบาลไทยเอง ชาวเวียดนามรักชาติต้องถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมคุมขัง บางคนถูกขังในเรือนจำนานเกือบ 10 ปี ดังเช่น สตรีที่ชื่อ ดั่ง กวิ่ง แอ็งห์ (Đặng Quỳnh Anh) ผู้ซึ่งเดินทางมายังไทยในปี ค.ศ.1913 เพื่อช่วยเหลือดั่ง ทุก เหือ ที่ปากน้ำโพ และต่อมาที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร

นับจากช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ชาวอินโดจีน ซึ่งหมายถึง ชาวเวียดนาม ลาว กัมพูชา สามารถเดินทางเข้ามายังภาคอีสานของไทยได้สะดวกขึ้น ด้วยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (ในขณะนั้นหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลนี้) เห็นว่าการเดินทางเข้ามาของชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากเป็นผลดีต่อไทย เพราะจะเป็นการเพิ่มประชากรในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับอินโดจีนฝรั่งเศส และจะมีผลบวกต่อการเรียกร้องดินแดนจากฝรั่งเศส
ดังนั้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1937 รัฐบาลไทยจึงเริ่มใช้กฎหมายฉบับใหม่สำหรับคนเข้าเมืองชาวเวียดนาม ลาว กัมพูชา โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งไปยังเจ้าหน้าที่ชายแดนมิให้ทำการขัดขวางการเดินทางเข้าประเทศ อีกทั้ง มิให้ปิดกั้นการขอเอกสารเข้าเมืองของบุคคลเหล่านี้ ทำให้ในช่วงเวลานั้น ชาวเวียดนามข้ามแม่น้ำโขงมายังไทยเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลต่อการสร้างฐานการเคลื่อนไหวในไทยที่เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศสในเวียดนามในเวลาต่อมา

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1940 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แสวงหาการสนับสนุนจากชาวเวียดนามสืบเนื่องจากการกระทบกระทั่งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในเรื่องดินแดนในระหว่างปี 1940-1941 ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายที่ผ่อนปรนต่อชาวเวียดนามมากขึ้น อันรวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบในการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวเวียดนาม การปล่อยตัวนักโทษชาวเวียดนามที่เป็นนักเคลื่อนไหว นักปฏิวัติจากเรือนจำ

การผ่อนปรนนี้มีผลทำให้การเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามในการต่อต้านฝรั่งเศสมีความสะดวกมากขึ้นอีกครั้ง

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 การเคลื่อนไหวเพื่อกู้ชาติของเวียดนามในไทยเป็นไปอย่างแข็งขันมากขึ้น มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มรักชาติเวียดนามในไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและแนวร่วมเวียตมินห์ในเวียดนามอย่างสะดวก

รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น ได้มีส่วนช่วยเหลือการเคลื่อนไหวกู้ชาติของเวียดนามในหลายด้าน และยังให้ความช่วยเหลือชาวเวียดนามที่อยู่ในลาว ดังเช่น ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวเวียดนาม อีกทั้งชาวลาวที่หนีการสู้รบ หนีการปราบปรามของฝรั่งเศสมาจากเมืองท่าแขก ประเทศลาว ในวันที่ 21 มีนาคม 1946 ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล ความช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัยและการทำมาหากิน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังอนุญาตให้ชาวเวียดนามตั้งฐาน หรือสถานที่ฝึกอบรมในหลายจังหวัดในอีสานเพื่อเตรียมการกลับไปต่อสู้รบกับฝรั่งเศสในเวียดนาม อนุญาตให้เวียดนามก่อตั้งสำนักงานผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามประจำประเทศไทย
และที่สำคัญ รัฐบาลไทยยังได้มอบอาวุธของฝ่ายสัมพันธมิตรสหรัฐและอังกฤษให้กับเวียดนาม อีกทั้ง ช่วยเวียดนามติดต่อซื้ออาวุธเพื่อนำไปต่อสู้กับฝรั่งเศส

ที่สำคัญ ได้ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของทหารอาสาเวียดนามที่อาศัยอยู่ในไทยและลาว หรืออีกนัยหนึ่ง กองกำลังทหารอาสาเหวียตเกี่ยว ไปยังภาคใต้ของเวียดนามเพื่อสู้รบกับฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน

กองกำลังทหารอาสานี้มีสี่กองกำลัง โดยหนึ่งในสี่กองกำลังมีชื่อว่า กองกำลังเจิ่นฝู (Chi đội Trận Phú) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1946 ที่บ้านพุ่มแก ตำบลพุ่มแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นกองกำลังที่ประกอบด้วยทหารอาสาจำนาน 426 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับกองกำลังอื่นๆ กองกำลังเจิ่นฝู ได้ทำการฝึกฝนการรบประมาณ 4 เดือน ณ ที่มั่นเล็กๆ ที่บ้านพุ่มแกนี้
หลังการฝึกอบรม กองกำลังนี้ก็ได้เดินทางจากบ้านพุ่มแกไปยังอำเภอธาตุพนม ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.1946 จากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งขณะนั้นอำเภอเดชอุดมเป็นอำเภอชายแดนติดกับกัมพูชา โดยการเดินทางของกองกำลังที่มีจำนวนถึง 426 คน จากอำเภอธาตุพนมไปยังอำเภอเดชอุดมนี้ ได้รับความช่วยเหลือในการขนส่งกองกำลังจากทางการไทยในรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น

และจากนั้นในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1946 ก็ได้ออกเดินทางจากอำเภอเดชอุดมไปยังภาคใต้ของเวียดนาม และถึงอำเภอเจิวแถ่งห์ (Châu Thành) จังหวัดไตนิงห์ (Tây Ninh) อันเป็นจังหวัดชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1947 และเดินทางต่อไปยังเมืองซาแด๊ก (Sa Đéc) ในภาคใต้ของเวียดนามในท้ายที่สุด ระยะเวลาในการเดินทางจากอำเภอเดชอุดมไปถึงจังหวัดไตนิงห์รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 65 วัน

การเดินทางนี้ต้องผ่านกัมพูชา เป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องเดินขึ้นเขาลงห้วย ข้ามเทือกเขาพนมดงเร็ก หรือ พนมดงรัก เผชิญกับความหนาวเหน็บ ความเจ็บป่วย ความอดอยาก จากนั้นต้องเสาะหาเส้นทางครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อต่อแพข้ามแม่น้ำโขงที่กว้างสุดลูกหูลูกตา การข้ามเกาะใหญ่ถึง 3 เกาะกลางแม่น้ำโขงเป็นสิ่งที่ยากลำบากยิ่ง อีกทั้งต้องหลบหลีกกองกำลังของฝรั่งเศสเพื่อมิให้เกิดการปะทะขณะที่อยู่ในกัมพูชาและเวียดนาม แต่ก็ยังถูกกองกำลังของฝรั่งเศสดักซุ่มโจมตีหลายครั้ง

เมื่อเดินทางถึงภาคใต้ของเวียดนามแล้ว ทหารอาสาเวียดนามทั้งหลายได้กระจายไปเป็นกำลังสำคัญของกองกำลังต่างๆ ที่ตั้งขึ้นในเวียดนามที่ต่อสู้กับฝรั่งเศสในหลายพื้นที่

กว่าจะได้มาซึ่งเอกราช

การเคลื่อนไหวและปฏิบัติการของกองกำลังทหารอาสาที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กู้ชาติจากฝรั่งเศสโดยรวม ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่เหนือฝรั่งเศสที่เดี่ยน เบียน ฝู หรือ เดียนเบียนฟู ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1954 อันมีผลทำให้ฝรั่งเศสต้องออกจากอินโดจีนนับจากนั้น

ด้วยความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ทำให้ไทยกลายเป็นฐานและที่พักพิงในการเคลื่อนไหวกู้ชาติที่ดียิ่งของเหล่าชาวเวียดนามรักชาติที่กลับไปต่อสู้กับฝรั่งเศสในเวียดนาม อันรวมถึงการเคลื่อนไหวของประธานโฮจิมินห์ในสยาม ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

กว่าที่เวียดนามจะได้มาซึ่ง “เอกราช” และ “เสรีภาพ” ที่แท้จริงดังเช่นในปัจจุบัน ชาวเวียดนามต้องต่อสู้อย่างทรหดอดทนและยอมสูญเสียผู้อันเป็นที่รักนับไม่ถ้วน เมื่อสงครามกับฝรั่งเศสได้จบลง สงครามกับสหรัฐอเมริกาก็ได้อุบัติขึ้นในบ้านของตนเองในเวลาต่อมา แต่เวียดนามก็ได้รับชัยชนะในที่สุด

หากปราศจากซึ่งความสามัคคี ความมุ่งมั่น ความอดทน การใช้สติปัญญา ความเสียสละส่วนตนด้วยชีวิตแล้ว “ความเป็นชาติ” และ “เอกราช” ของประเทศเวียดนาม ก็คงจะไม่มีในวันนี้

“Không có gì quý hơn độc lập tự do”
ไม่มีอะไรมีค่ามากไปกว่าเอกราชและเสรีภาพ
(ประธานโฮจิมินห์)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image