หลักพุทธธรรมสำหรับสร้างความสมดุลในสังคมประชาธิปไตยแบบไทย : โดย กิตติทัศน์ ผกาทอง

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2561 ประเทศไทยประสบกับภาวะที่เรียกว่า ภยันตรายมากมาย ทั้งที่จังหวัดเชียงราย ภูเก็ต และน่าน ซึ่งภยันตรายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ 1) มนุษย์ และ 2) ธรรมชาติ เมื่อมนุษย์กับธรรมชาติขาดความสมดุลระหว่างกัน อุบัติภัยหรือภยันตรายก็เกิดขึ้นตามมา แนวทางการแก้ปัญหาจึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

ประเทศไทยโดยภาพรวมมีความปลอดภัยจากอุทกภัย วาตภัยมากกว่าประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย หรือแม้แต่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอิทธิพลของดินฟ้าอากาศ และหรือภูมิประเทศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต คนที่เกิดในผืนแผ่นดินไทยหรืออาศัยผืนแผ่นดินไทยประกอบอาชีพ จึงนับว่ามีความโชคดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีความเสี่ยงแต่มีความปลอดภัยสูง เมื่อคนไทยและหรือสังคมไทยมีความโชคดี จึงต้องมุ่งมั่นบากบั่นในการธำรงรักษาความโชคดีดังกล่าวนี้ให้มีความยั่งยืนหรือสมดุล และความยั่งยืนหรือสมดุลที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็คือ การไม่ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาให้สูญเสีย เช่น การตัดไม้ทำลายป่าจนภูเขามีสภาพเป็นหัวโล้น เพราะถูกทำลายจนเสียความสมดุล เวลาฝนตกหรือเกิดพายุไม่มีต้นไม้คอยดูดซับเพื่อชะลอความรุนแรง

นอกจากนี้ ความที่มนุษย์ขาดความสมดุลในการดำรงชีวิต หรือประกอบอาชีพ ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย เช่น เรือล่ม เพราะทนต่อแรงปะทะของคลื่นไม่ไหว หรือท่องเที่ยวถ้ำในฤดูฝน เป็นต้น ล้วนแต่เกิดจากพฤติกรรมที่เรียกว่า “ขาดความสมดุล” ทั้งสิ้น เพราะความสมดุลมีความตรงกันข้ามกับความเสี่ยงนั่นเอง

1.ลักษณะของความเสี่ยง : ความเสี่ยง คือพฤติกรรมที่เกิดจากการกระทำที่มักง่าย ฝ่าฝืนกฎระเบียบ เห็นแก่ได้ มุ่งหวังในผลกำไร ดื้อรั้นและดันทุรัง ซึ่งรวมเรียกว่าความประมาท (Heedlessness)

Advertisement

สังคมไทยในวันนี้ แม้ส่วนหนึ่งจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงสู่พฤติกรรมที่สมดุล ด้วยการเข้าวัด ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ และเจริญสมาธิภาวนา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต แต่มีอีกส่วนหนึ่งซึ่งค่อนข้างมากที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความเสี่ยงนานาชนิด ประเทศที่มีความโชคดี และภยันตรายน้อยจากภัยทางธรรมชาติ แต่มีภัยทางสังคมเข้ามาแทนที่ ดังที่มีเหตุการณ์ฆ่าฟัน จี้ปล้น และทำร้ายซึ่งกันและกันอยู่ทุกวัน ทั้งในรูปของความอาฆาตพยาบาท การแย่งชิงความรัก การข่มขืน-ฆ่า การรับน้องใหม่ที่เกินเลย เป็นต้น

2.หลักพุทธธรรมที่สร้างความสมดุล : ในช่วงระยะเวลาวันอาสาฬหบูชา ต่อเนื่องด้วย วันปุริมพรรษาหรือวันเข้าพรรษาต้น ทุกวัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีประชาชนหรือพุทธศาสนิกชนเข้าวัดทำบุญ ถวายเทียนพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนกันมากมายเป็นประวัติการณ์ โดยมิได้ใส่ใจหรือสนใจเหตุการณ์ที่วงการสงฆ์ระดับสูงถูกจับกุมและดำเนินคดีแต่อย่างใดทั้งสิ้น เรียกว่า “แม้วงการสงฆ์จะมีปัญหาแต่ประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ยังมีจิตศรัทธาไม่เสื่อมคลาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนสายมิตรภาพ และสายเอเชียรถติดกันยาวเหยียดตั้งแต่ช่วงพหลโยธิน และต่างระดับบางปะอิน

อย่างไรก็ดี หลักพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรดพวกปัญจวัคคีย์ ซึ่งเรียกว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น จัดเป็นหลักพุทธธรรมที่สร้างความสมดุลสำหรับชีวิตเป็นอย่างดียิ่ง เพราะชีวิตที่ดำเนินด้วยความสุดโต่งสุดขั้วนั้น เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เลิกหรือละประกอบด้วย

Advertisement

2.1 อัตตกิลมถานุโยค (Self-Mortification) คือการมุ่งมั่น เอาจริงเอาจังมากจนเกินไป รวมทั้งการทุ่มเทชนิดหมดเนื้อหมดตัว หรือการบีบคั้นกาย-ใจตนเองให้ทุกข์ทรมานด้วยวิธีการต่างๆ ล้วนจัดเป็นพฤติกรรมที่สุดโต่งหรือเสี่ยงทั้งสิ้น

2.2 กามสุขัลลิกานุโยค (Self-Indulgence) คือ การหมกมุ่นและลุ่มหลงในเรื่องกาม กิน และเกียรติ จนลืมการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย มีอายุอานามใกล้จะเข้าโลงแล้ว แต่ยังเสาะแสวงหากามสุขไม่หมดสิ้น เรียกว่าประมาทในวัย ในชีวิต และในความไม่มีโรคอยู่ตลอดเวลา ล้วนจัดเป็นพฤติกรรมที่สุดโต่งเช่นกัน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงปฏิเสธการดำเนินชีวิตทั้งสองรูปแบบว่าเป็นทางสุดโต่ง คือตีบตันต่อการเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือความสมดุล จึงทรงแนะนำเส้นทางในการดำเนินชีวิตสู่ความสมดุล ซึ่งเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 ประการ

3.ชีวิตที่สมดุล : ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา จัดเป็นชีวิตที่ประเสริฐสุดของมนุษย์ และปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ประการหนึ่งคือ การฟัง (สุตมยปัญญา)

พวกปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่เคยติดตามพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งออกผนวชใหม่ๆ แต่ภายหลังเกิดการแตกคอด้านแนวคิดและทฤษฎีกับพระพุทธองค์ (เมื่อครั้งทรงเป็นสิทธัตถะ)

เมื่อทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือตรัสรู้ (Enlightenment) แล้วได้เสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทเปล่าไปโปรดหรือเทศน์ให้ฟังเป็นกลุ่มแรก แม้ช่วงแรกพวกปัญจวัคคีย์จะยังมีทิฐิมานะในเชิงปฏิเสธความหวังดีของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่เมื่อทรงใช้วาทศิลป์เกลี้ยกล่อมให้ยอมจำนน จึงตั้งใจฟัง และท่านโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมได้บรรลุโสดาบันคือเข้าใจหลักการของชีวิตอย่างจริงแท้ จนสามารถปรับความสมดุลได้ก่อนเพื่อน

และกลายเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา

ความสมดุลของชีวิตหมายถึงความรู้ความเข้าใจของชีวิตที่ต้องเกี่ยวข้องกับธรรมสัจจะ คือ ของสมมุติ กับสัจธรรม คือของจริงแท้ อย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งหากจะพูดแบบวิชาการสมัยใหม่ ก็คือ การเข้าใจวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) กับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Science) ต่างมีนัยสำคัญนั่นเอง

อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ จัดเป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามเส้นทางของอริยมรรค มีองค์ 8 ประการ คือ สัมมาทิฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, และสัมมาสมาธิ เรียกว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ส่วนผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบสุจริตชน ละชั่ว ประพฤติดี มีจิตใจที่เมตตา มีจิตอาสา แม้จะเห็นแก่ตัวอยู่บ้างแต่เห็นแก่ส่วนรวมเป็นใหญ่ เรียกว่าเป็นผู้ดำเนินชีวิตตามหลักวิทยาศาสตร์ประยุกต์

4.งดเหล้าเข้าพรรษา : อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในเทศกาลต่างๆ ล้วนมีสาเหตุจากการดื่มสุรา หรือเมรัยทั้งสิ้น สุรา คือเครื่องดื่มที่ปรุงสำเร็จรูปที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเหล้า ส่วนเมรัย คือเครื่องดื่มที่หมักดอง และของมึนเมาประเภทต่างๆ ที่เมื่อเสพแล้วมีอาการทางจิตประสาท หรือออกฤทธิ์ทางพฤติกรรมจากคนดีกลายเป็นคนเลว เมื่อสุราและเมรัยมีผลกระทบต่อพฤติกรรมของมนุษย์มากมาย เหตุใดจึงต้องอนุญาตให้มีการจำหน่ายสุราและเมรัยได้ คำตอบคือ ประเทศเสรีทุนนิยม ไม่สามารถห้ามจำหน่ายได้ แต่ห้ามดื่มได้ ??

การงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยเป็นการพักตับได้ในระยะหนึ่ง เพราะพิษของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะมีผลกระทบต่อตับและหัวใจค่อนข้างรุนแรง รวมทั้งบุหรี่ด้วย

หากต้องการให้ชีวิตมีความสมดุล และตายแบบธรรมชาติ ควรละเว้นสุรา เมรัยและบุหรี่โดยเด็ดขาด ไม่เพียงแค่ 3 เดือนในพรรษาเท่านั้น ต้องงดเว้นหรือสลัดมันทิ้งอย่างถาวรไปเลย ชีวิตจะได้อยู่ดูรัฐบาล คสช.ไปอีกนาน

5.ชีวิตที่สมดุลทางการเมือง : การเมืองกับชีวิตเป็นของคู่กัน เพราะการเมืองเป็นเรื่องของบ้านเมือง หากบ้านเมืองเจริญรุ่ง ชีวิตก็จะมีความผาสุกและเป็นปึกแผ่นมั่นคง การพูดในลักษณะนี้เป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) ซึ่งหัวหน้ารัฐบาลปัจจุบันมักกล่าวถึงเนืองๆ ว่า การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เพราะทำให้บ้านเมืองพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

การเมืองในสังคมไทยมีความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา เพราะการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ และอำนาจ เมื่ออำนาจและผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็เกิดความขัดแย้งและแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายอยู่ตลอกเวลา ด้วยเหตุนี้

เมื่อโรดแมปการเลือกตั้งเริ่มชัดเจนขึ้น ราคาต่อรองทางการเมืองก็เกิดขึ้น พรรคการเมืองที่ไม่มีนายทุนหนุนหลัง จึงยากที่จะดำรงอยู่ได้ เพราะการเมืองในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนานั้น จัดเป็นวิทยาศาสตร์สังคม (Social Science)

และวิทยาศาสตร์สังคมนี้มีลักษณะดุจเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือต้องผสมผสานระหว่างการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมืองกับการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง การจะให้นักการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมือง ในรูปของรัฐศาสตร์ (Political Science) ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะต้องลงทุนสูง

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องผสมผสานกันระหว่างวิทยาศาสตร์ธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สังคม การเมืองแบบไทยจึงจะไปรอด ที่สำคัญต้องให้กระบวนการทางการเมืองกลั่นกรองตัวมันเอง ซึ่งปรัชญาการเมืองเรียกว่า “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง”

หากการเมืองแก้ด้วยวิธีรัฐประหาร หรือปฏิวัติจะไม่สามารถพัฒนาจิตสำนึกเชิงบวกให้กับนักการเมืองได้ ความสมดุลทางการเมืองจึงมิอาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะต้องเริ่มต้นใหม่อยู่เนืองๆ ดังที่ 86 ปี ในการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอุทาหรณ์

สรุป
สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ การพัฒนาประชาธิปไตยแบบไทยนิยม จึงต้องยึดโยงกับหลักการทางพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างความสมดุล ระหว่างผลประโยชน์ของบ้านเมืองกับผลประโยชน์ของนักการเมือง ด้วยวิธีการนำหลักพุทธธรรมทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา มาประยุกต์ใช้ นั่นก็คือไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป การปิดกั้นเวทีทางการเมือง เพื่อป้องกันนักการเมืองแสดงจำอวด จะอันตรายพอๆ กับเขื่อน สปป.ลาวแตกนั่นแหละ ทางที่ดีต้องหาวิธีผ่อนคลายหรือปลดล็อกทางการเมืองโดยเร็ว เพื่อให้นักการเมืองมีพื้นที่หายใจจะเป็นคุณมากกว่าโทษ เพราะการเมืองเป็นวิทยาศาสตร์สังคม สถานการณ์เปลี่ยน พฤติกรรมก็ต้องเปลี่ยน

รัฐบาล คสช.ทำหน้าที่กำกับเวทีก็พอแล้ว

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image