วงถก‘คณะกก.ปฏิรูป’ ‘3 สารเคมี’ก่อวิกฤต

หมายเหตุ – การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 คณะ คือ ด้านสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือถึงประเด็นไม่ใช้สารเคมี 3 ชนิด ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมมีรายละเอียดดังนี้

นพ.เสรี ตู้จินดา
ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

การประชุมครั้งนี้ได้เชิญคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมมาร่วมหารือกัน ในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทางประธาน คือ นายรอยล จิตรดอน ได้มอบให้ทางนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาแทน แต่ปรากฏว่าก่อนการประชุมได้แจ้งมาว่าติดภารกิจมาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้มาไม่ได้ ทางที่ประชุมจะนำผลจากการหารือวันนี้ส่งไปยังคณะกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ที่ประชุมยังคงเห็นเหมือนเดิมคือ ต้องไม่ใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมก็มีความคิดเห็นแนวทางเดียวกันจากการประชุมครั้งนี้ ทางส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขจะส่งรายงานไปยัง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการปฏิรูปจะนำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย

Advertisement

ส่วนในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีการประชุมในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมนั้น จะมีการนำข้อมูลจากการประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปเสนอประกอบการพิจารณาผ่านทางกรรมการที่ได้นั่งอยู่ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีด้วย ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปด้านอื่นๆ จะมีการหารือของคณะกรรมการตัวเอง แต่ก็อยู่ในแนวทางเดียวกัน

วินัย ดะห์ลัน
กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม

ในการประชุมวันที่ 22 สิงหาคมนี้ของคณะกรรมการปฏิรูปจะหารือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความชัดเจนว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจด้วย คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมค่อนข้างเห็นพ้องกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข เชื่อว่าคณะกรรมการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมก็เห็นตรงกันหมด แต่ต้องเข้าใจว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้น หน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปคือให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสารเคมีทั้ง 3 ชนิด หากชี้ให้เห็นด้วยว่ามีผลกระทบด้านสังคมอย่างไรทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นในการให้ข้อมูลกับรัฐบาล

Advertisement

ส่วนตัวมองว่าสารเคมีทั้ง 3 ตัวนี้จะส่งผลกระทบด้านสังคม แง่มุมที่สำคัญคือเรื่องแรงงาน ประชากรแรงงานของไทยมีแนวโน้มลดลง หากแรงงานที่เหลืออยู่มีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งของตนเองและต้องดูแลคนในครอบครัวที่ป่วย ก็จะยิ่งทำให้คนในวัยแรงงานออกไปดูแลคนป่วย เพราะฉะนั้น ไม่ได้สูญเสียแรงงานแค่คนที่ป่วย แต่จะรวมถึงคนปกติที่ต้องออกไปดูแลคนป่วยด้วย จะส่งผลต่อโครงสร้างประชากรในอนาคตและกลุ่มแรงงานที่เป็นผู้หารายได้หลัก

สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้หากทำให้คนตายเลยอาจจะกระทบต่อประชากรแรงงานน้อยกว่าทำให้คนป่วยระยะยาว เพราะเมื่อเจ็บป่วยในลักษณะผู้ป่วยติดเตียง ทำให้สูญเสียแรงงานในคนที่ป่วย คนที่ดูแล ขณะที่แรงงานที่มีคุณภาพก็มีจำนวนน้อย รายได้ประเทศในอนาคตก็จะน้อย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดของประเทศ เหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง การตัดสินใจนโยบายในเรื่องนี้จึงค่อนข้างสำคัญ นอกจากนี้ ไม่มั่นใจว่าสารเคมี 3 ชนิดนี้อาจจะมีส่วนทำให้เพศสภาพเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากสารเคมีนี้มีผลกระทบต่อสมอง มีผลต่อเพศสภาพ ก็จะทำให้การเพิ่มประชากรในอนาคตเป็นเรื่องยาก

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

รู้สึกผิดหวังกับคณะกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สุดท้ายไม่ได้ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมด้วย แม้ตอนแรกเตรียมจะมาแล้วก็ตาม เนื่องจากกังวลว่าจะมีผลต่อการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีศัตรูพืชฯในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ เพราะจริงๆ หน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปต้องไม่คิดเรื่องอื่น คิดเพียงว่าต้องทำงานเพื่อประชาชนคนไทย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันที่ 22 สิงหาคม ผมเป็นหนึ่งในกรรมการต้องยืนหยัดว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีอันตราย มีข้อมูลวิชาการมากมาย ล่าสุดยังพบว่ามีผลต่อตับ ทำให้เกิดไขมันสูง ตรงนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ เพราะผลกระทบต่อสุขภาพมีมาก

อย่างเรื่องผลกระทบต่อฮอร์โมนมีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศไทยมีผลการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่ากบในท้องนามีลักษณะการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ รวมทั้งงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มีผลต่อฮอร์โมนเพศ ยังพบว่าฮอร์โมนนี้มีผลให้เกิดมะเร็งเต้านมอีกด้วย ผลงานวิจัยยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2012 มีการตรวจคอมพิวเตอร์สมองในเด็กพบว่า สารคลอร์ไพริฟอสมีผลต่อเชาวน์ปัญญาและระบบพฤติกรรมทางเพศ พบว่าพฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เห็นว่าเนื้อสมองส่วนหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม จากที่ควรหนาก็บางลง หรือจากที่บางก็หนาขึ้น ส่งผลให้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ศาลสหรัฐได้สั่งแบนสารเคมีตัวนี้ภายใน 60 วัน

ปัญหาที่เกิดขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายต้องรับผิดชอบ เพราะข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพมีมาเป็น 20 ปีแล้ว คณะกรรมการวัตถุอันตรายทราบเรื่องนี้ดี ขณะนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมเตรียมฟ้องร้องที่ละเลยไม่สนใจผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ต้องหาผู้กระทำผิดที่จงใจละเลยเรื่องนี้ และต้องให้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งก็ต้องให้ออกจากงาน

อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์
รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม

คณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมต่างก็มีความห่วงใยเรื่องนี้ไม่แพ้คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข เห็นด้วยกับข้อเสนอ เพียงแต่จะต้องมีการประชุมในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมในช่วงบ่ายวันที่ 22 สิงหาคมนี้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image