รื่นร่มรมเยศ : บาลีเถื่อน : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

วันนี้ขอว่าด้วยปัญหาของ “ผู้สงสัยชาวฝั่งธนบุรี” ว่าได้อ่านพบข้อความภาษาบาลีในหนังสือฉบับหนึ่งว่า “อสฺสามิกตา ปรมา ลาภา (ความไม่มีสามีเป็นลาภอันประเสริฐ) สามิกตา ปรมา ทุกฺขา (ความมีสามีเป็นทุกข์อย่างยิ่ง)”

“ผู้สงสัยฯ” กล่าวว่า มีความสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าข้อความดังกล่าวเป็นพระพุทธวจนะหรือไม่ ถ้าเป็นพระอรหันต์ตรัสไว้ในที่ไหน อยู่ในมงคลชีวิตข้อใด ทำไมพระพุทธองค์ไม่ตรัสด้วยว่า “ความไม่มีภรรยาเป็นลาภอันประเสริฐ ความมีภรรยาเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” หรืออะไรทำนองนั้น

ขอเรียนว่า ผมไม่เคยพบข้อความเช่นนี้ในพระไตรปิฎกเล่มไหน และเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ทรรศนะเช่นนี้ไม่ใช่พระพุทธพจน์ เพราะพระพุทธองค์มิได้ตำหนิการมีสามีภรรยา หรือยกย่องการไม่มีสามีภรรยา ทรงตำหนิคู่ผัวตัวเมียที่ไร้ศีลไร้ธรรม สรรเสริญการครองเรือนที่อยู่ในศีลธรรมเท่านั้น ผมจึงกล้ายืนยันว่าไม่ใช่พุทธวจนะ หรือใครว่าเป็น ก็บอกผมไป

สงสัยจะแต่งประจบประแจงคนไม่มีผัวไม่มีเมียเสียมากกว่า

Advertisement

มองปราดเดียวก็รู้ว่า ผู้แต่งเป็นเปรียญภูมิรู้ภาษาบาลีไม่เกิน 5 ประโยค คือพอมีความรู้ไวยากรณ์แต่งประโยคถูก แต่ไม่รู้ฉันทลักษณ์ จึงแต่งฉันท์ผิดครุ ลหุ

ดูเหมือนตั้งใจจะแต่ง “ปัฐยาวัตรฉันท์” แต่หารู้ไม่ว่าฉันท์นี้มีบาทละ 8 พยางค์ ไม่ใช่ 9 หรือ 10 พยางค์

ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีลิงค์ วจนะ วิภัติ ปัจจัย ศัพท์คำเดียว ถ้าทำหน้าที่ต่างกันในแต่ละประโยค รูปคำจะเปลี่ยนไปตามหน้าที่ ไม่มีบุพบทต่อหน้าคำเหมือนภาษาอังกฤษ หรือเอาคำหลายๆ คำมาต่อกันเป็นประโยคเหมือนภาษาไทย ผู้ใช้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด

Advertisement

ความผิดพลาดที่เห็นชินตาคือ พระพุทธวจนะใน “ธรรมบท” ว่า “อาโรคฺยปรมา ลาภา (ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นยอด)” มักเขียนเพี้ยนพูดเพี้ยนเป็น “อโรคยา ปรมา ลาภา แปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”

ไม่ทราบว่าเริ่มเพี้ยนกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ จำได้ว่าเคยอ่านพบพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสังฆราชในอดีตพระองค์หนึ่งสมัยยังเป็นสมเด็จพระราชาคณะอยู่ ท่านใช้ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา”

ถ้าสืบสาวไม่ได้ไกลกว่านั้น ก็เห็นจะต้องลงความเห็นว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวเป็นผู้พาเขว

อีกบทหนึ่ง ที่ผู้รู้ท่านแต่งถวายพระพรในหลวง ร.9 ว่า “ทีฆายุโกโหตุ มหาราชา” นั้นถูกต้องดีอยู่แล้ว แต่ยังมีคนเขียนผิดเป็น “ฑีฆายุโก…” (ใช้ ฑ แทน ท) เสมอ ยิ่งกว่านั้นเมื่อนำข้อความนี้ไปใช้กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็เขียนผิดๆ ว่า “ทีฆายุโก โหตุ มหาราชินี” แทนที่จะเป็น “ทีฆายุกา…”

ความเชยเช่นนี้ปรากฏให้เห็นทุกวันที่ 12 สิงหาคม และวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีมานานแล้ว แม้กระทั่งคำถวายพระพรของหน่วยงานราชการสำคัญๆ เรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งเช่นนี้ยังสะเพร่าไม่รอบคอบแล้วเรื่องอื่นๆ จะมิเลอะเทอะกว่านี้หรือ

ภาษาบาลีที่แต่งตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงวิภัติปัจจัยอย่างนี้เขาเรียกว่า “บาลีเถื่อน” ไม่ต้องเรียนไม่ต้องสอบเป็นมหาเปรียญหรอก แม่ค้าขายผักแกก็แต่งได้พูดได้

แม่ค้า ก.ตวาดว่า “ทิตัง มะตัง จะมะตัง ทิกุนัง”

แม่ค้า ข.สวนทันควันว่า “ทินัง มะนัง จะมะนัง ทิกุตัง”

แปลว่า

“ที่ตั้งไม่ตั้ง จะมาตั้งที่กูนั่ง”

“ที่นั่งไม่นั่ง จะมานั่งที่กูตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image