‘ราคา’ของการขับรถ 160 บนทางด่วน หรือจอดแปะลงซื้อของกลางซอย โดย : กล้า สมุทวณิช

ในการปกครองแบบ “นิติรัฐ” ฉบับไทยๆ นั้น เมื่อไรก็ตามที่หวังจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนหรือควบคุมสังคมให้อยู่กับร่องกับรอยด้วยกฎหมายแล้ว ข้อเสนอแรกๆ จะเริ่มที่การ “เพิ่มโทษ” ให้แก่พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

เช่นข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรของไทยสองฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ และพระราชบัญญัติจราจรทางบกเข้าเป็นฉบับเดียว (ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำมานานแล้ว) โดยสาระสำคัญที่ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน คือการเสนอเพิ่มโทษในการไม่พกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และการขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาต หรืออยู่ระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาตให้สูงขึ้น โทษจำคุกที่เป็น “โทษหนัก” นั้นสังคมไม่สนใจเท่าไร (เพราะเชื่อว่าในที่สุดไม่ใช่ความผิดซ้ำซากหรือพฤติการณ์ร้ายแรงถึงขนาดศาลมักจะรอการลงโทษอยู่แล้ว) แต่ไปเพ่งเล็งที่ส่วนของ “โทษปรับ” ที่จะสูงขึ้นถึงหลักหมื่น สูงสุดที่ 50,000 บาท ที่ถ้าจะพูดให้ดูมากอย่างมีนัย คือ “ครึ่งแสน”

อันที่จริงแล้ว การเพิ่มโทษให้สูงเพื่อผลในการบังคับใช้กฎหมายนั้นก็มีหลักการรองรับอยู่ โดยเฉพาะโทษเชิงป้องปรามในความผิดที่เกิดจากเจตนาที่ไตร่ตรองได้ ว่าจะปฏิบัติตามหรือละเมิดกฎหมาย ภายใต้สมมุติฐานว่า “มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ” ที่การตัดสินใจใดๆ โดยพื้นฐานจะมาจากการคิดชั่งน้ำหนักส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้กฎง่ายๆ ว่า หากทำสิ่งใดแล้วผลดีมากกว่าผลเสียก็ทำ หากในทางกลับกันทำแล้วเสียกว่าดีก็เลี่ยง คือการพิจารณา “ความคุ้มค่า” ของการกระทำ อันเป็นพื้นฐานสัญชาติญาณของมนุษย์ทั้งหลายในสภาพปกติ

เช่นนี้ในทางนิติเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics) การกำหนดโทษจึงจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการกำหนดขนาดและวิธีการของโทษให้อยู่ในระดับที่ไม่คุ้มค่าต่อการกระทำความผิด รวมถึงสร้างโอกาสให้รัฐจะเอื้อมมือไม้ไปลงโทษนั้นได้จริงด้วย

Advertisement

ในอุดมคติ รัฐจึงต้องจับกุมและลงโทษผู้กระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายให้ได้มากที่สุด หรือถ้าไม่อาจทำเช่นนั้นได้ข้อจำกัดประการใด ก็ต้องกำหนดโทษสำหรับความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษให้สูงจนคนไม่กล้าที่จะเสี่ยงทำความผิด

พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้ารัฐจะปรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้ทุกกรณี ค่าปรับกำหนดไว้สักหนึ่งพันบาทก็ได้ แต่ถ้ารัฐอาจจะจับได้บ้างไม่ได้บ้าง ค่าปรับอาจจะสูงเป็นหมื่นเป็นแสน เพื่อให้คนไม่กล้าที่จะเสี่ยง เพราะเท่ากับว่าโชคร้ายกรณีถูกจับได้ “ราคา” ของการกระทำความผิดนั้นจะไม่คุ้มค่าอย่างเทียบกันไม่ได้กับประโยชน์

และนอกจากนี้ ความ “คุ้มค่า” ในการละเมิดกฎหมายในแต่ละกรณีก็ต้องถูกนำมาคิดคำนวณไม่ให้เกิดข้อแลกเปลี่ยนการ “จ่าย” ค่าละเมิดกฎหมาย ในกรณีที่ค่าปรับหรือการลงโทษตามกฎหมายนั้นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับประโยชน์จากการฝ่าฝืน แม้ว่าจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทุกกรณีก็ตามที

Advertisement

เช่นบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นกับกฎหมายควบคุมอาคารสมัยก่อน ที่แม้จะมีค่าปรับรายวันในอัตราที่สูง (และฝ่ายปกครองปรับได้จริง) แต่ค่าปรับนั้นก็เป็นเหมือนแค่ส่วนหนึ่งของต้นทุน “ค่าเช่า” เมื่อเทียบกับผลประโยชน์จากการใช้อาคารผิดกฎหมายนั้น

อย่างไรก็ตาม โทษปรับในทางทฤษฎีก็ถือเป็นโทษอาญาที่ไม่เป็นธรรมในแง่ที่ว่า น้ำหนักของโทษนั้นจะไม่เท่ากันระหว่างบุคคลซึ่งแปรผันตามฐานะ ยกตัวอย่างแบบเข้าใจง่ายคือ สมมุติค่าปรับของการจอดรถในลักษณะกีดขวางทางอยู่ที่ 500 บาท สำหรับคนมีสตางค์ที่จอดรถขวางซอยเพื่อลงไปซื้อทุเรียน ก็เท่ากับทุเรียนนั้นจะมีราคาเพิ่มอีก 500 บาท ซึ่งไม่ทำให้สะดุ้งสะเทือนอะไร แต่สำหรับคนฐานะด้อยกว่านั้นจึงจะไม่คุ้มค่า ดังนั้นโทษปรับตามกฎหมายที่อัตราเดียวกันจึงใช้ข่มขู่หรือสร้างความเจ็บปวดให้ผู้คนได้ไม่เท่ากัน แตกต่างจากโทษที่ลงแก่เสรีภาพหรือเนื้อตัวร่างกาย เช่นโทษจำคุก ที่ใครๆ ก็น่าจะรับน้ำหนักของโทษไปอย่างเท่าเทียมกัน หรืออาจจะกลับกันกับโทษปรับเลยด้วยซ้ำ เพราะสำหรับคนมีฐานะดี ติดคุกเพียง 3 เดือน ชีวิตก็พังทั้งกายใจ ยิ่งกว่าคนหาเช้ากินค่ำติดคุกสักปีด้วยซ้ำ

สำหรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเพิ่มโทษปรับเอากับเรื่องพกไม่พก หรือมีไม่มีใบขับขี่นั้นไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร เพราะอุบัติเหตุจากการขับขี่โดยประมาทหรือการขับรถผิดกฎหมายกีดขวางการจราจรนั้น ส่วนใหญ่ก็เกิดกับคนที่มีใบขับขี่ สอบใบขับขี่ผ่านทั้งนั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็จริงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ใบขับขี่นั้น คือเครื่องมือเบื้องต้นในการควบคุมกฎหมายจราจรทั้งระบบ เพราะมันคือ “ประตู” ในการลงสู่ถนนขับรถของผู้คน อย่างน้อยก็ในด้านเกณฑ์อายุที่เหมาะสมที่จะให้เริ่มขับรถหรือจักรยานยนต์ได้ หรือแม้แต่พื้นฐานการขับรถเบื้องต้น เช่น การถอยจอดให้แนบฟุตปาธ ท้ายไม่ยื่นออกมา หรือจอดล้ำออกมาครึ่งเลนในซอยแคบ

หากส่วนสำคัญที่สุด ก็คือ การจะทำอย่างไรให้การบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบกและกฎหมายรถยนต์เรื่องอื่นๆ ให้มีสภาพบังคับและเกิดผลจริงมากกว่า

เหตุผลประการหนึ่งที่อัตราการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตของไทยสูงติดอันดับหนึ่งของโลก นั่นก็เพราะว่ากฎหมายจราจรนั้น กลายเป็นกฎหมายผู้คนฝ่าฝืนมากที่สุดแล้วในชีวิตประจำวันของคนไทย เอาง่าย ๆ เรื่องการจำกัดความเร็วตามกฎหมาย ก็เชื่อว่าไม่มีใครที่ขับรถจริงบนท้องถนนในประเทศไทยจะไม่เคยฝ่าฝืน เอาเป็นว่าเหยียบถึงร้อยเมื่อไรก็ผิดกฎหมายไปแล้วเมื่อนั้น ถ้าไม่ใช่ทางหลวงหมายเลข 7 และ 9 (มอเตอร์เวย์) ซึ่งเป็นถนนเพียงสองสายในประเทศไทยที่กำหนดความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (และกลายเป็นว่าในเส้นทางที่ว่านั้น 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็กลายเป็นเหมือน “ความเร็วขั้นต่ำ” อีกต่างหาก)

แม้จะมีการจับและปรับการขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดด้วยระบบกล้องอัตโนมัติ แต่เพราะความไม่สม่ำเสมอแน่นอน คือไม่ใช่ทุกครั้งที่ขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วจะมีใบสั่งส่งไปที่บ้าน จึงเป็นเหมือนการเสี่ยงโชคว่าจะโดนหรือไม่โดน ซึ่งต่อให้โดนก็ปรับประมาณ 1,000 บาท ซึ่งคนรายได้ปานกลางส่วนใหญ่ก็ไม่เดือดร้อนเท่าไรนัก ทั้งๆ ที่การขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเป็นรองก็แต่เรื่องเมาแล้วขับ

ดังนั้น หากเราคิดว่าจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อหวังจะแก้ปัญหา 2 ประการ คือ ปัญหาจราจรที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจากการละเมิดกฎหมายการใช้ทาง และปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เราก็อาจจะต้องมาคิดเรื่อง “นิติเศรษฐศาสตร์” ของ 2 เรื่องนี้กัน เพื่อสร้างสภาพที่ “ไม่คุ้มค่า” ต่อการละเมิดกฎหมายจราจรให้สูงขึ้น เพื่อให้กฎหมายมีสภาพบังคับตามที่ควรจะเป็น

ในกรณีของการละเมิดกฎหมายจราจรเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยโดยตรง แต่เป็นเรื่องของระเบียบการใช้ทาง เจตนาของผู้ฝ่าฝืน คือต้องการ “ไปเร็ว” กว่าคนอื่นหรือต้องการ “ความสะดวก” จึงฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ฝ่าไฟแดง เปลี่ยนเลนเส้นทึบ แทรกคอสะพาน ขวางเลนบังคับเลี้ยว จอดในที่ห้ามจอด เช่นนี้ “ราคา” ที่จะทำให้การฝ่าฝืนกฎหมายในกลุ่มนี้ “ไม่คุ้มทุน” คือทำให้ “ช้าลง” และ “ไม่สะดวก” เห็นได้ชัดคือเรื่องจอดรถในที่ห้ามจอดบนถนนเส้นที่ขึ้นชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะมาล็อกล้อให้แน่นอนหรือค่อนข้างแน่นอน คนจะฝ่าฝืนขืนจอดกันน้อย เพราะจะเสียเวลาและความสะดวกในการตามตำรวจมาปลดล็อกให้ ส่วนค่าปรับหรืออะไรนั้นดูเป็นเหมือนเรื่องรองสำหรับกรณีนี้

ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราจะกำหนดโทษว่ารถที่ขับอย่างมักง่ายไม่แยแสกฎจราจรในเรื่องนี้ ถ้าถูกจับได้ก็ให้หาที่ล็อกล้อหรือลากรถคันนั้นไปควบคุมไว้ในที่เหมาะสมสัก 2 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการละเมิดกฎหมายหรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะไม่คุ้มค่า (แทนที่จะปาดสามเลนเข้าซอยไปได้เลย ก็รอไป 2 ชั่วโมงถึงจะขับรถต่อได้)

ส่วนกรณีการละเมิดกฎหมายจราจรที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ขับเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมาแล้วขับ ขับรถโดยประมาทไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น ก็อาจจะต้องมีการคำนวณโทษไม่ว่าจะเป็นค่าปรับที่สูงพอให้เข็ดหลาบในเรื่องที่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ง่าย หรือกำหนดโทษขั้นสูงจนเสี่ยงว่าถ้าถูกจับกุมดำเนินคดีนั้นไม่คุ้มอย่างรุนแรง (เช่นที่ช่วงหนึ่ง ยี่ต๊อกของศาลกรณีขับรถไม่คำนึงถึงความปลอดภัยอย่างร้ายแรง หรือการแข่งรถในทาง ศาลจะสั่งให้ริบรถที่ใช้กระทำความผิดนั้นด้วย) และอาจจะต้องประกอบด้วยโทษที่ลงแก่เสรีภาพ เช่น การจำคุกด้วยในกรณีที่ร้ายแรงและเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้อื่น เพื่อไม่ให้คนที่อยากลองรถแรงๆ คิดว่าจ่ายสักพันกว่าบาทเป็นค่าเช่าถนนลองอัดความเร็วของรถเล่น

อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่พูดไปก็อาจจะเฉิ่มเชยแบบสูตรสำเร็จ แต่ก็เป็นความจริง คือ เรื่องนี้บางครั้งมันอยู่ที่ “จิตสำนึก” ของผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย

ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่า การเมาแล้วขับเป็นเรื่องที่ไม่ผิดอะไร มีเพจประเภท “มีด่านบอกด้วย” หรือวิธีการหลบเลี่ยงการเป่า หรือการขับรถเร็ว แซงซ้ายแซงขวา ปาดไปปาดมาได้ เป็น “ความสามารถ” ในการขับรถ หรือสามารถใช้ความเร็วได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในซอยลัดที่มีโรงเรียนอนุบาลกับบ้านพักคนชราอยู่ในซอยนั้น แถมยังขับจี้หรือแซงรถคันอื่นในซอยที่ขับช้ากว่า ขับย้อนศร หรือตัดสองเลนขึ้นสะพาน ยัง “จอดแปะ” กลางซอยโดยเปิดไฟฉุกเฉินไว้แล้วลงไปจ่ายเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านสะดวกซื้อได้ พฤติกรรมที่ยกตัวอย่างมานี้และมีอีกมาก แสดงให้เห็นถึงความไม่แยแสต่อกฎหมายจราจร ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อจัดระเบียบการใช้รถใช้ถนน และรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ปกป้องชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน ซึ่งอันที่จริงแม้แต่กฎหมายในส่วนที่เป็นไปเพื่อปกป้องความปลอดภัยของฝ่ายคนขับเองเช่นการคาดเข็มขัดนิรภัย บางคนก็ยังฝ่าฝืนอย่างไม่ให้ราคา แต่งตัวสวยไม่อยากคาด อึดอัดก็ไม่คาด

หรือแม้แต่ผู้ใช้กฎหมายที่ยอมอะลุ้มอล่วยให้ โดยการไม่ดำเนินคดีจริงจัง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาทุจริตรับสินบนหรือไม่ ก็เป็นผลจากจิตสำนึกว่าการละเมิดกฎหมายนี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ทั้งๆ ที่จริงๆ การปล่อยรถที่เมาแล้วขับไปสักคัน ก็เหมือนส่งฆาตกรแบบสุ่มออกไปฆ่าคนบนท้องถนน

แต่จิตสำนึกนั้นก็ไม่ได้เกิดงอกขึ้นมาเอง ต้องเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วหน้าและมีประสิทธิภาพนั่นแหละ เรื่องมันจึงเหมือนวนมาวนไปในอ่างอยู่เช่นนี้เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image