การเคลื่อนไหวกู้ชาติเวียดนาม ที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร โดย ธัญญาทิพย์ ศรีพนา

เรื่องราวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวกู้ชาติของพี่น้องชาวเวียดนามรักชาติในไทย หรือ สยามในอดีต เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสเพื่อเอกราชของชาติเวียดนาม

ความใกล้ชิดของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ระหว่างไทยและเวียดนาม ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการเคลื่อนไหวกู้ชาติทางทิศตะวันตกที่ดียิ่งของเวียดนามตลอดช่วงเวลาต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

ที่พักพิงและฐานการเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสของเวียดนามในไทย มีอยู่ในหลายจังหวัดในอีสานในช่วงเวลาต่างๆ ดังเช่น ที่บ้านหนองบัวและบ้านหนองโอน จังหวัดอุดรธานี และที่บ้านใหม่ หรือบ้านนาจอก จังหวัดนครพนม และยังมีที่อื่นๆ อีก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (ใน “ไทยกับการเคลื่อนไหวกู้ชาติเวียดนาม” มติชนรายวัน วันที่ 22 สิงหาคม 2561)

และฐานการเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามรักชาติที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร ก็เป็นอีกแห่งที่ควรได้รับการกล่าวถึงอย่างยิ่ง จึงเกิดคำถามขึ้นว่า บ้านดง จังหวัดพิจิตรมีความสำคัญอย่างไรในการเป็นที่พักพิงและเป็นฐานการเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสของเวียดนาม และในท้ายที่สุด บ้านดงต้องประสบชะตากรรมอย่างไร

Advertisement

ความสำคัญของบ้านดง จังหวัดพิจิตร

ในอดีต บ้านดงขึ้นอยู่กับจังหวัดนครสวรรค์ แต่ในปัจจุบัน บ้านดงขึ้นอยู่กับตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร

เหตุใดชาวเวียดนามต้องมาเคลื่อนไหวที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร

Advertisement

ประการแรก ในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้ง บ้านดงเป็นพื้นที่ที่น้ำและดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก ทั้งข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา และมัน เป็นต้น และบ้านดงสามารถเชื่อมกับแม่น้ำน่านได้ด้วยคลองท่าหลวง ซึ่งในอดีตคลองนี้มีขนาดใหญ่กว่าในปัจจุบัน

หลังจากที่ชุมชนชาวเวียดนามที่ “บ้านถ้ำ” ริมแม่น้ำน่านที่ปากน้ำโพต้องถูกทางการไทยปิดลงในปี 1914 เนื่องจากไทยถูกฝรั่งเศสกดดัน ชาวเวียดนามต้องย้ายออกจากบ้านถ้ำ ปากน้ำโพ และต้องหาที่พักพิง ที่ดินทำกินแหล่งใหม่ ชาวเวียดนามได้เดินทางย้ายถิ่นที่พักพิงขึ้นมาทางทิศเหนือ และได้เลือกบ้านดงเป็นแหล่งพักพิงแห่งใหม่ ซึ่งบ้านดงนี้ตั้งอยู่ห่างจากปากน้ำโพราว 100 กิโลเมตร

ประการที่สอง ผู้เขียนยังสันนิษฐานว่า ที่บ้านดง หรือพื้นที่ใกล้เคียงบ้านดงนี้ น่าจะมีชาวเวียดนามที่ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ก่อนแล้วอยู่จำนวนหนึ่ง ชาวเวียดนามรักชาติ ดังเช่น ท่าน ดั่ง ทุก เหือ (Đặng Thúc Hứa) จึงได้เลือกบ้านดงเป็นชุมชน และฐานการเคลื่อนไหวแห่งใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการง่ายต่อการรวบรวมชาวเวียดนามในพื้นที่ให้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อกู้ชาติจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม

ประการที่สาม บ้านดงเป็นสถานที่ที่มีการก่อตั้งสาขาขององค์กรปฏิวัติ ที่ชื่อว่า สมาคมสหายเยาวชนปฏิวัติเวียดนาม (Việt Nam Thanh Niên Cách Mạng Đồng Chí Hội หรือ Vietnam Revolutionary Youth League) แห่งแรกในไทยในปี ค.ศ.1926 โดย โห่ ตุ่ง เหม่า (Hồ Tùng Mậu) ซึ่งอยู่ภายใต้การนำขององค์กรแม่ที่ก่อตั้งขึ้นที่กวางโจวในปี ค.ศ.1925 สมาคมสหายเยาวชนปฏิวัติเวียดนามที่บ้านดงนี้ มีท่าน หวอ ตุ่ง (Võ Tùng) เป็นเลขาธิการ

สมาคมสหายเยาวชนปฏิวัติเวียดนามที่บ้านดงนี้ มีความสำคัญตรงที่เป็นองค์กรปฏิวัติที่มีหน้าที่อบรมและปลุกสำนึกรักชาติให้กับชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในไทย อีกทั้งทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างองค์กรในเวียดนามกับองค์กรที่กวางโจว และกับองค์กรที่ตั้งขึ้นในไทย อีกทั้งเป็นองค์กรที่ต้อนรับพี่น้องชาวเวียดนามที่เดินทางมาจากเวียดนามเพื่อรับการอบรมในการเคลื่อนไหว

ประการที่สี่ บ้านดง จังหวัดพิจิตร เป็นฐานการเคลื่อนไหวแห่งแรกของชาวเวียดนามรักชาติ และเคยเป็นสถานที่ที่ท่านโฮจิมินห์เคยพักพิง เคลื่อนไหว ให้ความรู้ อบรมการเมืองแก่ชาวเวียดนามในช่วงปลายปี ค.ศ.1928

วันเวลาของการเดินทางมาถึงเมืองไทย หรือสยาม ของท่านโฮจิมินห์ มีความแตกต่างในแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่ง แต่ผู้เขียนจะขอยึดเอาข้อมูลของชาวเวียดนามที่เคลื่อนไหวใกล้ชิดร่วมกับท่านโฮจิมินห์เป็นหลัก

ตามบันทึกของท่าน หว่าง วัน ฮวาน (Hoàng Văn Hoan) ซึ่งเป็นนักเรียนของท่านโฮจิมินห์ในขณะที่เคลื่อนไหวอยู่ที่กวางตุ้งในปี ค.ศ.1926 และได้ร่วมเคลื่อนไหวใกล้ชิดกับท่านโฮจิมินห์ บันทึกนี้ได้ระบุว่า ท่านโฮจิมินห์เข้ามาในไทยสองครั้ง ครั้งแรกท่านเดินทางมาถึงไทยในเดือนสิงหาคม คศ.1928 และพำนักอยู่ในไทยถึงราวเดือนกันยายน ค.ศ.1929 จากนั้นท่านได้เดินทางไปประชุมเพื่อก่อตั้งพรรคที่ฮ่องกง และท่านได้กลับมาไทยอีกครั้งในราวเดือนมีนาคม ค.ศ.1930 และได้เดินทางออกจากไทยในราวปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเมษายน ค.ศ.1930 เพื่อไปเคลื่อนไหวต่อนอกเมืองไทย และไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีก

เมื่อท่านโฮจิมินห์ได้เดินทางมาถึงไทย ท่านมาขึ้นบกที่ท่าเรือบีไอ ที่กรุงเทพฯ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในกรุงเทพฯ แล้ว ท่านก็ได้ออกเดินทางมายังบ้านดง จังหวัดพิจิตร

เมื่อพูดถึงบ้านดง จังหวัดพิจิตร ก็ต้องพูดถึงท่านโฮจิมินห์ด้วย และหลังจากที่ท่านออกจากบ้านดง ท่านก็ได้เดินทางไปหลายจังหวัด ไม่ว่าที่อุดรฯ หนองคาย สกลนคร เป็นต้น อีกทั้งได้ข้ามไปฝั่งลาว

กิจกรรมของท่านโฮจิมินห์ที่บ้านดง

ตามบันทึกของท่าน เล แหม่ง จิงห์ (Lê Mạnh Trinh) ซึ่งเป็นนักปฏิวัติชาวเวียดนาม เป็นนักเรียนของท่านโฮจิมินห์ที่กวางตุ้งในปี ค.ศ.1926 เป็นเพื่อนร่วมชั้นของท่าน หว่าง วัน ฮวาน และได้ร่วมเคลื่อนไหวใกล้ชิดกับท่านโฮจิมินห์และท่าน ดั่ง ทุก เหือ บันทึกได้ระบุไว้ว่า ท่านโฮจิมินห์เดินทางมาถึงบ้านดงในฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ.1928

ที่บ้านดง ท่านโฮจิมินห์พำนักอยู่ที่บ้านของท่าน หวอ ตุ่ง และคู่ชีวิตที่ชื่อ ดั่ง กวิ่ง แอ็งห์ (Đặng Quỳnh Anh) ในยามค่ำคืน ท่านโฮจิมินห์จะอบรมให้ความรู้ชาวเวียดนามทั้งหลาย สร้างความสำนึกรักชาติ ให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง การปฏิวัติ การเมืองระหว่างประเทศ สถานการณ์การต่อสู้กับฝรั่งเศสในเวียดนาม เพื่อเตรียมตัวชาวเวียดนามให้พร้อมและกลับไปต่อสู้กับฝรั่งเศสในประเทศของตน ส่วนในช่วงกลางวัน ท่านจะร่วมทำงานในไร่นา หรือทำความสะอาดบ้าน นอกจากนี้ ท่านยังออกเดินทางสำรวจพื้นที่รอบข้างเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกินของคนไทย สิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ

การเดินทางมาเคลื่อนไหวในไทยของท่านโฮจิมินห์นี้ มิใช่เรื่องบังเอิญ และเรื่องการตั้งถิ่นฐาน หรือที่พักพิงของชาวเวียดนามรักชาติในไทยก็มิใช่เรื่องบังเอิญเช่นกัน การพบปะระหว่างท่านโฮจิมินห์กับชาวเวียดนามรักชาติทั้งหลายก็มิใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีการเตรียมการ ประสานงานเอาไว้ล่วงหน้า ระหว่างเครือข่ายของชาวเวียดนามรักชาติในไทยและอาจจะรวมถึงชาวเวียดนามรักชาติในประเทศอื่น เช่น จีน และชาวจีนรักชาติในไทยด้วย

ก่อนที่ท่านโฮจิมินห์จะมาถึงที่บ้านดง ได้มีชาวเวียดนามที่มาตั้งถิ่นฐานและมีชาวเวียดนามที่เคลื่อนไหวมารวบรวมชาวเวียดนามให้เป็นกลุ่มก้อนอยู่ก่อนแล้ว ท่าน ดั่ง ทุก เหือ (Đặng Thúc Hứa) ผู้ที่เสียชีวิตที่จังหวัดอุดรธานีและร่างถูกฝังอยู่ที่นั่นนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1932 ตราบจนทุกวันนี้แล้ว ท่านมีความสำคัญยิ่งในการรวมรวมชาวเวียดนาม

ผู้มีบทบาทสำคัญบางคนที่ทำงานร่วมกับ ท่าน ดั่ง ทุก เหือ ดังเช่น ท่าน หวอ ตุ่ง (Võ Tùng) โดยเมื่อตอนที่ท่านเคลื่อนไหวอยู่ที่กวางตุ้ง ท่านใช้ชื่อว่า หลือ เถ แห่งห์ (Lữ Thế Hành) หรือ เลิว ขาย ห่ง Lưu Khải Hồng)

นอกจากนี้ ยังมี ดั่ง ถาย เถวียน (Đặng Thái Thuyến) ซึ่งบุคคลเหล่านี้ มักจะทำงาน ประมวลสถานการณ์ ปรึกษาหารือและเดินทางสำรวจพื้นที่ร่วมกับท่าน
โฮจิมินห์ด้วย

ชะตากรรมของฐานการเคลื่อนไหวกู้ชาติที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร

ฐานการเคลื่อนไหวกู้ชาติที่บ้านดงนี้ มีที่มาและย้ายมาจากบ้านถ้ำ ปากน้ำโพในปี ค.ศ.1914 สตรีที่ชื่อ ดั่ง กวิ่ง แอ็งห์ (Đặng Quỳnh Anh) หรือ บ่าญอ (Bà Nho) หรือ ป้าญอ ผู้เป็นลูกผู้น้องของ ท่าน ดั่ง ทุก เหือ เป็นผู้ดูแลความเป็นอยู่ของเยาวชนเวียดนามทั้งหลายทั้งที่บ้านถ้ำ ปากน้ำโพ และที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร ในทุกๆ ที่ที่เป็นที่พักพิงและฐานการเคลื่อนไหว รวมทั้งที่บ้านดง จะมีการทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเอง และเพื่อขายแก่ชาวไทยในท้องถิ่นไม่ไกล นำรายได้มาเจือจุนชีวิตความเป็นอยู่ และใช้จ่ายในการเคลื่อนไหว ทุกคนจึงช่วยกันทำงานด้วยความมุ่งมั่นอดทน

ชะตากรรมของฐานการเคลื่อนไหวกู้ชาติที่บ้านดง จังหวัดพิจิตรนี้ มีขึ้นและมีลง

หลังจากย้ายถิ่นฐานจากบ้านถ้ำ ปากน้ำโพ มายังบ้านดงในปี ค.ศ.1914 การไปมาหาสู่ในหมู่ชาวเวียดนามก็มีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเดินทางจากเวียดนาม ผ่านลาว เข้ามาทางอีสาน เช่นที่จังหวัดนครพนม และเดินทางต่อมายังบ้านดง

บันทึกของท่าน เล แหม่ง จิงห์ ได้กล่าวว่า ชาวบ้านพี่น้องชาวไทยต่างมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อชาวเวียดนามในทุกแห่งหน ทั้งที่บ้านถ้ำ ปากน้ำโพ และที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเหล่านี้มิได้รอดสายตาของฝ่ายความมั่นคงของฝรั่งเศสแต่อย่างใด ในที่สุด ในปี ค.ศ.1917 ทางการไทยก็ถูกฝรั่งเศสกดดันให้ปิดชุมชนที่บ้านดง อันหมายถึงฐานการเคลื่อนไหว

ชาวเวียดนามต่างกระจัดกระจายไปหลายทิศทาง ชาวบ้านพี่น้องชาวไทยได้ช่วยรับซื้อไร่นาของชุมชนเวียดนามที่บ้านดง ดั่ง กวิ่ง แอ็งห์ ต้องเดินทางไปอาศัยอยู่ที่ลำปาง ส่วนท่าน ดั่ง ทุก เหือ ต้องลี้ภัยไปจีน

แต่แล้ว ในปี ค.ศ.1919 บ้านดงก็ฟื้นคืนมาอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองที่บ้านดงผ่อนคลายลง และท่าน ดั่ง ทุก เหือ เดินทางกลับมาจากจีน และมาร่วมสร้างชุมชนและฐานการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ร่วมกับ ดั่ง กวิ่ง แอ็งห์ และชาวเวียดนามอื่นๆ

ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.1920 ถึง ค.ศ.1930 ฐานการเคลื่อนไหวที่บ้านดงมีความมั่นคงยิ่ง ชาวเวียดนามทั้งที่อาศัยอยู่ในไทยและที่เดินทางมาจากเวียดนาม ลาว ได้หลั่งไหลมายังบ้านดงมากขึ้น มาร่วมรับการฝึกอบรมด้านอุดมการณ์รักชาติ ความเสียสละเพื่อชาติ และการฝึกศิลปะป้องกันตัว
เป็นต้น

บ้านดงจึงกลายเป็นฐานการเคลื่อนไหวหลัก เป็นศูนย์กลางของการอบรมทางการเมือง เป็นสถานที่รับหนุ่มสาวเวียดนามรักชาติที่เดินทางมาจากเวียดนาม ฐานการเคลื่อนไหวที่บ้านดงในขณะนั้นจึงมีความมั่นคงแข็งแกร่งยิ่ง และในราวปลายปี ค.ศ. 1928 ท่านโฮจิมินห์ก็ได้เดินทางมา ณ ที่นี้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 ฝรั่งเศสทำการสอดส่อง จับจ้องการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวเวียดนามในไทยมากขึ้น เพราะชาวเวียดนามเดินทางเข้ามายังไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากฐานการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์จีนในกวางตุ้งที่ถูกเจียง ไคเช็คทำลายในปี ค.ศ.1927 มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของสมาคมสหายเยาวชนปฏิวัติเวียดนามที่กวางตุ้ง ทำให้นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามต้องเดินทางออกจากจีน นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของขบวนการโซเวียต เหงะ-ติ๋งห์ (Phong Trào Xô Viết Nghệ-Tĩnh) ซึ่งเป็นการลุกขึ้นต่อสู้กับฝรั่งเศสของชาวเวียดนาม ที่เริ่มมีขึ้นในเวียดนามในปี ค.ศ.1930 ทำให้ฝรั่งเศสต้องจับจ้องการติดต่อสื่อสารและการเคลื่อนไหวระหว่างชาวเวียดนามในเวียดนามและในไทยมากขึ้น

ในที่สุด ฝรั่งเศสได้กดดันให้ทางการไทยปิดชุมชนและฐานการเคลื่อนไหวที่บ้านดงในปี ค.ศ.1930 อีกครั้ง

การปิดบ้านดงครั้งนี้เป็นการปิดครั้งสำคัญ เพราะเหล่าชาวเวียดนามรักชาติทั้งหลายต่างกระจัดกระจายไปในหลายทิศทาง ท่าน ดั่ง ทุก เหือ ต้องออกเดินทางขึ้นไปทางเหนือก่อนจะไปยังจังหวัดอุดรธานี และต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับในปี ค.ศ.1932 ด้วยความเหนื่อยอ่อน ตรากตรำตลอดทั้งชีวิตของการเสียสละในการเคลื่อนไหวกู้ชาติ

อย่างไรก็ตาม การปิดบ้านดงมิได้เป็นการสิ้นสุดของการเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสของชาวเวียดนามรักชาติในไทย เพราะการเคลื่อนไหวมิได้มีแต่เพียงที่บ้านดงเท่านั้น และเหล่าผู้รักชาติก็มิได้สูญหายไปที่ใด แต่ยังคงเตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนไหวต่อไปเมื่อสถานการณ์อำนวย

เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาในอินโดจีนในปี ค.ศ.1940 ชาวเวียดนามก็ต้องต่อสู้กับทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งเศส แม้ว่าฝรั่งเศสจะถอยร่นไปก็ตาม และเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 และออกไปจากเวียดนามแล้ว ฝรั่งเศสก็ได้หวนกลับเข้ามาเกือบจะทันที

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 การเคลื่อนไหวต่อสู้ดำเนินไปตลอดทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1940 การเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามในไทยเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น โดยรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น เปิดโอกาสให้เคลื่อนไหว อีกทั้งชาวเวียดนามยังได้เคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการเสรีไทย

จึงเกิดคำถามว่า ในช่วงต้นและกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1940 การเคลื่อนไหวที่บ้านดงได้ฟื้นคืนมาอีกหรือไม่

จากการเก็บข้อมูลที่บ้านดงทำให้ทราบว่า เรื่องราวการเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร ยังมีประเด็นให้ค้นหาอีกมากมาย ในหลายแง่มุม หลายมิติ ซึ่งผู้เขียนพยายามจะดำเนินการค้นคว้าต่อ ด้วยหวังว่าจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชเวียดนาม ที่ยังต้องการการศึกษาค้นคว้ารอบด้านอย่างจริงจัง องค์ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อพิพิธภัณฑ์ที่บ้านดงที่จะเปิดขึ้นเร็วๆ นี้ และองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์นี้จะบันทึกอยู่ในความทรงจำของทั้งชาวเวียดนาม ชาวไทย และชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป

เรื่องราวของการเคลื่อนไหวของท่านโฮจิมินห์และชาวเวียดนามรักชาติที่บ้านดงที่ได้เขียนมาข้างต้นนี้ ยังเป็นส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับเรื่องราวทั้งหมดที่บ้านดง ยังมีเรื่องราวของชาวเวียดนามรักชาติ หรืออาจจะเรียกว่า นักปฏิวัติ คนสำคัญอีกหลายคนที่เคลื่อนไหวที่บ้านดง ที่ต้องประสบชะตากรรมต่างๆ นานาในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชจากฝรั่งเศส

“พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จังหวัดพิจิตร”

ในวันที่ 1 กันยายน 2561 นี้ จังหวัดพิจิตรจะได้ทำการเปิด “พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ จังหวัดพิจิตร” ขึ้นที่บ้านดง จังหวัดพิจิตร อันจะเป็นการรำลึกถึงวันชาติเวียดนามในวันที่ 2 กันยายน โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ จังหวัดพิจิตร เป็นกลไกสำคัญในการทำงาน บริหารจัดการในการเปิดพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งความรู้ แหล่งท่องเที่ยว และเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดพิจิตร

จากนั้นในช่วงฤดูหนาวจะได้มีงานฉลองพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้เข้าร่วมงานถ้วนหน้ากัน

ธัญญาทิพย์ ศรีพนา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image