‘ความเห็น’เมกะโปรเจ็กต์ ซีพีสร้างเมืองใหม่‘แปดริ้ว’

หมายเหตุความเห็นหลากหลายต่อ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยโครงการสร้างเมืองใหม่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 10,000 ไร่ รูปแบบสมาร์ทซิตี้ เชื่อมต่อโครงการ “อีอีซี” มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเข้ามายังสถานีมักกะสัน มูลค่าหลายแสนล้านบาท อีกทั้งเมืองใหม่ในอีอีซีควรมี 3 แห่ง คือ แปดริ้ว พัทยา และระยอง โดยชวนนักธุรกิจไทยและต่างประเทศร่วมลงทุน

รศ.มานพ พงศทัต
อาจารย์ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง

กรณีทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีแนวคิดที่จะพัฒนาเมืองใหม่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่นับหมื่นไร่มูลค่าการลงทุนนับแสนล้านบาทว่า จ.ฉะเชิงเทรา นับเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาเมืองในพื้นที่ดังกล่าวต้องศึกษาลงรายละเอียดก่อนว่าจะเป็นเมืองหรือสมาร์ทซิตี้ในรูปแบบไหน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรตามที่กลุ่มซีพีถนัดมากกว่า เนื่องจากในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ก็เป็นเมืองเกษตรกรรมอยู่แล้ว การพัฒนาก็จะต้องให้สอดคล้องกับผังเมืองเดิมของพื้นที่ด้วย ขณะเดียวกันการพัฒนาก็จะต้องสอบถามประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าต้องการรูปแบบไหนอย่างไร อีกทั้งจะไปวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำหรือการแบ่งสรรปันน้ำที่จะนำมาใช้ภายในเมืองด้วย

เชื่อว่าเมืองดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะจะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาก่อน รวมทั้งการพัฒนาเมืองก็ต้องรอการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ซึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา นั้นก็มีสถานีรถไฟอยู่ด้วย จากนั้นก็จะมีการพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานีก่อนแล้วจึงกระจายออกไปพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่อง” นายมานพกล่าว

Advertisement

กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา

กรณีซีพีจะเข้ามาทุ่มเงินหลายแสนล้านบาท สร้างเมืองใหม่ที่แปดริ้ว บนพื้นที่ 10,000 ไร่ เพื่อรองรับอีอีซี นับเป็นโครงการที่ดีและเห็นด้วยที่เข้ามาสร้างเมืองใหม่ ทำให้มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งเป็นการรองรับอีอีซีภาคตะวันออกด้วย เป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์คือพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียงได้มีงานทำ ที่ดินบริเวณรอบด้านจะได้เจริญรุ่งเรือง มีรถไฟความเร็วสูงอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 40 กิโลเมตร การเดินทางไปมาได้สะดวก

นอกจากนั้น พื้นที่ฉะเชิงเทรายังอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมทั้งขนส่งทางน้ำ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ห่างแปดริ้วเพียง 70 กิโลเมตร หรือสนามบินอู่ตะเภา เส้นทางคมนาคมทางอากาศอยู่ห่างประมาณ 100 กิโลเมตร

Advertisement

ถ้าได้ซีพีมาทำตรงนี้ ขอฝากความหวังไว้ ขอให้ท่านมาทำจริงๆ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของชาวแปดริ้ว และจังหวัดภาคตะวันออก ส่วนโครงการสร้างเมืองใหม่ต้องใช้พื้นที่นับหมื่นไร่ ที่ดินจำนวนมากเช่นนี้ ส่วนใหญ่พื้นที่เป็นสีเขียวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะผ่านเข้ามาเชื่อมต่อนั้น คงต้องรอดูรายละเอียดกันต่อไป

สุนทร ธัญญวัฒนกุล
ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี

เห็นด้วยในเรื่องการสร้างถนนยกระดับในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา อยากให้มุ่งมาทางพื้นที่ อ.พนัสนิคม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เพื่อออกไปสู่ จ.ระยอง ถือเป็นการเชื่อมต่อพื้นที่อีอีซี คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง อีกเส้นทางหนึ่ง เชื่อว่าจะมีประโยชน์มาก และยังเป็นการรองรับพื้นที่อีอีซี จะมีการพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมตามเส้นทางดังกล่าวด้วย หากทำได้อยากให้เน้นผ่านมาตามเส้นทาง 331 และเส้นทางฉะเชิงเทรา-พนัสนิคม-บ้านบึง มุ่งหน้าออกเส้นทางระยองตามถนนสาย 344 บ้านบึง-แกลง จะทำให้ระบายการจราจรในพื้นที่เขตตัวเมืองชลบุรีอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่ จ.ชลบุรี ปัจจุบันแม้มีถนนหนทางที่จะระบายรถจำนวนมากก็ตาม อาทิ ถนนมอเตอร์เวย์ ถนนสายเลี่ยงเมืองชลบุรี บูรพาวิถี แต่ปัจจุบันยังแออัด โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน

ฐาปนา บุณยประวิตร
อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย

เห็นด้วยในหลักการที่กลุ่มซีพีมีแผนที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ มองว่าฉะเชิงเทราเป็นทำเลที่มีศักยภาพสามารถที่จะมีการพัฒนาเมืองใหม่ได้ตามที่กลุ่มซีพีมีการวางแผน อย่างไรก็ตามอยากให้มีการพิจารณาใน 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ พื้นที่ที่จะพัฒนาอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำหรือเป็นทางน้ำผ่านหรือไม่ เพราะหากไปปิดกั้นทางน้ำผ่านก็จะได้รับผลกระทบ จึงควรมีการเช็กรายละเอียดข้อมูลจากทางกรมโยธาธิการและผังเมือง และประการที่สอง คือ พื้นที่เมืองใหม่จะเข้าไปรุกล้ำพื้นที่การเกษตรหรือไม่ เพราะในลุ่มแม่น้ำบางปะกง มีหลายพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการทำการเกษตรกรรม ซึ่งหากมีการนำพื้นที่ไปใช้ผิดประเภทการนำกลับคืนมาจะยากและความเหมาะสมของพื้นที่อาจจะลดลง

ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นรายละเอียดแผนการพัฒนาของกลุ่มซีพี แต่การพัฒนาเมืองใหม่ในอนาคตโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อการเดินทางควรจะเป็นระบบราง เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในทั่วโลก หากกลุ่มซีพีใช้การเชื่อมต่อเข้าพื้นที่โดยใช้ถนนหรือมอเตอร์เวย์ อาจจะไม่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองใหม่ที่จะต้องเน้นการประหยัดพลังงาน หรือกรีนซิตี้ ที่การเชื่อมต่อการเดินทางในเมืองใหม่ควรจะมีการใช้ทางเท้า ทางจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะ สัดส่วนราว 60% ของเมือง ขณะที่รถยนต์ก็ยังใช้ได้ สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ย่านจูร่งของสิงคโปร์ ก็ใช้หลักนี้โดยมีพื้นที่กว่า 65% ที่เป็นทางเท้า ทางจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image