ย้อนมองความสัมพันธ์อันใกล้ชิดลาว-เวียดนาม

การเยือนและการประชุมหารือระหว่างผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงลาวและเวียดนาม มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ ปี และในช่วงกลางเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมานี้ รัฐมนตรีกลาโหมเวียดนาม นายโง ซวน หลิก (Ngô Xuân Lịch) ได้เยือนลาวเพื่อร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการป้องกันประเทศและทั้งสองฝ่ายก็ได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ

ในวันที่ 20 มีนาคมปีนี้ ก็ได้มีการประชุมหารือด้านความร่วมมือทวิภาคีด้านการทหารในกรุงฮานอย

และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2018 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการประชุมหารือทางการเมืองครั้งที่ 3 ณ กรุงฮานอย อันเป็นการเน้นถึงความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การศึกษา การอบรม และที่สำคัญในด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

ปีที่แล้ว (2017) เป็นปีที่ครบรอบ 55 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างลาวและเวียดนาม มีการเฉลิมฉลองระหว่างสองประเทศ และจะครบรอบ 56 ปีในวันที่ 5 กันยายนที่จะถึงนี้

Advertisement

ปี 2017 ยังเป็นปีที่ครบรอบ 40 ปีแห่งการลงนามสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือเวียดนาม-ลาว ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1977

ส่วนปี 2019 ที่จะถึงนี้ จะเป็นปีที่ครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้งกองทัพประชาชนลาว และครบรอบ 75 ปีแห่งการก่อตั้งกองทัพประชาชนเวียดนาม

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเวียดนามและลาวนี้มิใช่เพิ่งจะเริ่มต้นหลังจากที่ทั้งสองประเทศได้ชนะสหรัฐในสงครามเวียดนามเมื่อปลายเดือนเมษายน 1975 และมิใช่เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกันในปี 1977 ที่มักถูกกล่าวขานว่าเป็นสนธิสัญญาแห่งความสัมพันธ์พิเศษ และสนธิสัญญาฉบับนี้ก็มิได้เป็นสนธิสัญญา หรือข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือและการป้องกันร่วมกันฉบับแรกที่ทั้งสองประเทศมีต่อกัน แต่ทั้งสองประเทศเคยมีข้อตกลงด้านการป้องกันร่วมกันมาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อต้องร่วมสู้รบกับฝรั่งเศส หนังสือในภาษาลาวเรื่อง ປະຫວັດສາດສາຍພົວພັນພິເສດ ລາວ-ຫວຽດນາມ 1930-2007 (ประวัติศาสตร์สายสัมพันธ์พิเศษ ลาว-เวียดนาม 1930-2007) อาจให้ความกระจ่างได้ดี

Advertisement

ทั้งชาวลาวและชาวเวียดนามเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่นับแต่ในอดีต ทั้งรบต่อสู้กับญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐ ในปัจจุบันยังคงมีสุสานทหารลาว-เวียดนาม และสุสานทหารลาว-เวียดนามนิรนามหลายแห่งในลาว อันรวมถึงสุสานที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐ

ย้อนมองอดีตในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1940

ฝรั่งเศสได้เข้ามาในอินโดจีนครั้งแรกในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองตูราน (Tourane) ซึ่งเวียดนามเรียกว่า ดานัง หรือด่า หนัง (Đà Nẵng) ตั้งอยู่ในภาคกลางของเวียดนาม จากนั้นฝรั่งเศสได้แผ่ขยายอำนาจไปยังลาวและกัมพูชา

ทั้งลาวและเวียดนามเริ่มตกอยู่ภายใต้การยึดครองของนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประชาชนทั้งสองชาติต่างพยายามดิ้นรนต่อสู้กับฝรั่งเศสซึ่งมีกองกำลังอาวุธที่เหนือกว่า การร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้กับฝรั่งเศสเห็นได้ชัดนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1940

หลังจากการประกาศเอกราชของเวียดนามในวันที่ 2 กันยายน 1945 ท่านโฮจิมินห์และเจ้าเพ็ดซะลาดได้พบกับเจ้าสุพานุวง ทั้งสองท่านได้แนะนำให้เจ้าสุพานุวงเดินทางกลับประเทศเพื่อเข้าร่วมกับรัฐบาลลาวในการต่อสู้กับฝรั่งเศส ขณะนั้นเจ้าสุพานุวงเป็นวิศวกร หัวหน้าการโยธาอยู่ที่เมืองญาจาง (Nha Trang) ในเวียดนาม สร้างระบบชลประทานและอ่างเก็บน้ำให้ฝรั่งเศส

เมื่อตอนที่เจ้าสุพานุวงเดินทางกลับลาว ทหารเวียดนามยังได้ให้การอารักขาท่านตลอดเส้นทางจากเวียดนามมาถึงลาว ซึ่งมีกองกำลังของฝรั่งเศสลาดตระเวนผ่านตลอดทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านต้องเดินทางผ่านเซโปน เมืองพิณและไปยังเวียงจันทน์

ท่านได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวและรบต่อสู้กับกองกำลังฝรั่งเศสในลาว ซึ่งต่อมาท่านได้กลายเป็นผู้นำการปฏิวัติที่สำคัญคนหนึ่งของลาวและเป็นประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนแรกหลังจากที่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชอาณาจักรมาเป็นสาธารณรัฐเมื่อปี 1975

ในเดือนสิงหาคม 1945 เมื่อญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงคราม ฝรั่งเศสก็ได้หวนกลับคืนมาเพื่อครอบครองเวียดนามอีกครั้ง การสู้รบกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในอินโดจีน และฝรั่งเศสพยายามยึดเมืองทุกเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงของลาว

ลาวและเวียดนามได้ร่วมกันต่อสู้กับฝรั่งเศสในหลายพื้นที่ และได้ร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือระหว่างลาวและเวียดนาม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1945 และข้อตกลงว่าด้วยการก่อตั้งกองทหารร่วมสัมพันธ์ลาว-เวียดนาม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 1945

นี่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ลาว-เวียดนามอันความใกล้ชิดยิ่งนับแต่ในอดีต

ในลาว หลังจากที่ฝรั่งเศสกลับคืนมา ฝรั่งเศสก็เริ่มเปิดศึกรุกในหลายทิศทาง หลายพื้นที่ รวมทั้งจากเซโปน เมืองพิน ดงเหน เซโน (XENO) เมืองและสถานที่เหล่านี้ตั้งอยู่บนเส้นทางหมายเลข 9 บนระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ในปัจจุบัน

XENO หมายถึง สี่แยกที่เส้นทางเหนือ-ใต้ และเส้นทางตะวันออก-ตะวันตกในลาว มาตัดกัน อยู่นอกตัวเมืองท่าแขก XENO เป็นคำย่อในภาษาฝรั่งเศส

X หมายถึง Sud แปลว่า ทิศใต้

E หมายถึง Est แปลว่า ทิศตะวันออก

N หมายถึง Nord แปลว่า ทิศเหนือ

O หมายถึง Ouest แปลว่า ทิศตะวันตก

เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วนในลาว

ในเดือนมีนาคม 1946 ฝรั่งเศสเริ่มโจมตีลาวและเวียดนามหนักขึ้น

วันที่ 21 มีนาคม 1946 เป็นวันที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ลาว เป็นวันที่เมืองท่าแขกถูกฝรั่งเศสโจมตีและทิ้งระเบิดก่อนรุ่งสาง มีผู้เสียชีวิตเกลื่อนกราดจำนวนมาก แม้ว่าการรบที่ท่าแขกใช้เวลาเพียง 1 วัน แต่มีความรุนแรงโหดเหี้ยมมากที่สุด จากหนังสือของท่านสีชะนะ สีสาน เรื่อง ເຈົ້າສຸພານຸວົງ ຜູ້ນຳປະຕິວັດ (นุวง ผู้นำปฏิวัติ) ชาวลาวและชาวเวียดนามเป็นส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คน โดยรวมถึง ผู้เสียชีวิตในตัวเมือง ริมฝั่งและกลางแม่น้ำโขงอีก 300 กว่าคน จำนวน 1 ใน 5 ของจำนวน 3,000 คนนี้ เป็นเด็ก

หนังสือเรื่อง ເຈົ້າສຸພານຸວົງ ຜູ້ນຳປະຕິວັດ เขียนไว้อีกว่า เครื่องบินของฝรั่งเศส 2 ลำได้บินไปในทิศทางสู่แม่น้ำโขง ระดมยิงผู้คนที่หนีมาจากตลาดท่าแขกและจากจุดอื่นๆ ในเมือง อีกทั้งระดมยิงเรือที่อยู่ริมฝั่งและเรือที่ลอยอยู่กลางแม่น้ำ กำลังทหารของฝรั่งเศสที่เข้าโจมตีเมืองท่าแขกครั้งนี้ มีทั้งเครื่องบิน รถถัง ปืนใหญ่ และมีทหารใหม่ซึ่งส่งมาจากไซง่อนร่วมกับกำลังที่ซ่องสุมตระเตรียมอยู่ก่อนหน้านี้หลายกองร้อย กำลังของฝรั่งเศสที่ใช้ยึดเมืองท่าแขกครั้งนี้มีประมาณ 2 กองพัน ประกอบด้วย ทหารฝรั่งเศส ทหารแขกดำจากอัฟริกาเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งทหารลาวจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีรถหุ้มเกราะ ปืนใหญ่ เครื่องบินสังเกตการณ์ 1 ลำ เครื่องบินขับไล่ 4 ลำ และเครื่องบินใบพัดอีก 2 ลำที่จอดอยู่ที่สนามบินเซโน ด้วยเครื่องบินสังเกตการณ์ทำให้ฝรั่งเศสสามารถรู้จุดที่ตั้งของกองกำลังปฏิวัติลาวและกองกำลังผสมลาว-เวียดนามที่เมืองท่าแขก

กองกำลังฝรั่งเศสได้ยิงปืนกราดใส่ผู้คนที่ยังตกค้างอยู่ริมฝั่งโขงด้วยปืนกลหนัก ล้มตายเป็นจำนวนมาก เรือหลายลำในแม่น้ำโขงที่กำลังมุ่งมายังฝั่งไทย ถูกเครื่องบินสปิตไฟร์ (Spitfire) ทิ้งระเบิดกระจัดกระจาย

ชาวนครพนมเฝ้าดูเหตุการณ์จากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง ได้ประจักษ์ถึงความรุนแรงของการปราบปรามครั้งนี้ ได้พายเรือฝ่ากระสุนจากท่าหน้าเมืองนครพนมไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่กำลังจะจมน้ำตาย ฉุดขึ้นจากน้ำและพายเรือนำเข้าฝั่งไทย

เสียงปืนและระเบิดดังสนั่นทั่วเมืองท่าแขก คงมีเพียงทหารอาสาสมัครลาว-เวียดนามที่วิ่งฝ่าห่ากระสุน ต่อสู้เพื่อปกป้องเมืองร่วมกัน อีกทั้งเหล่าพยาบาลที่ยังคงช่วยรักษาผู้บาดเจ็บ

การสู้รบและการปราบปรามที่ท่าแขกนี้เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวกู้ชาติของลาวและเวียดนามที่ทั้งทางการไทย ชาวบ้านไทย และคนเวียดนามที่อาศัยอยู่ในนครพนมมีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บชาวลาวและเวียดนามที่หนีข้ามแม่น้ำโขงในขณะนั้น และได้หาที่อยู่อาศัยให้พักพิง ในวัด ในโรงเรียน และแม้แต่ใต้ถุนบ้านของตัวเอง อีกทั้งให้การรักษาพยาบาล

สหายที่ตายแทนกัน…..

ในวันนั้น เจ้าสุพานุวงเป็นผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยและป้องกันท่าแขก หรือที่เรียกว่า กองกำลังผสมลาว-เวียดนาม เมื่อทหารของฝรั่งเศสได้บุกเข้ามาถึงกลางเมืองท่าแขกในช่วงเที่ยงวัน กองเสนาธิการได้ร้องขอเจ้าสุพานุวงหลายครั้งให้หนีข้ามโขงสู่ฝั่งไทย แต่ท่านก็ยังไม่ยอมละทิ้งเมืองท่าแขก ต่อมาเมื่อสถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ท่านจึงยอมลงเรือยนต์ขนาดเล็ก ข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยพร้อมด้วยทหารอาสาสมัครลาวและเวียดนามติดตามมาด้วยกันจำนวนหนึ่ง

ในขณะที่เรือยนต์ข้ามแม่น้ำโขงมาได้กว่าครึ่งทาง เครื่องบินสปิตไฟร์ได้บินมาทิ้งระเบิดและกราดปืนกลใส่เรือของเจ้าสุพานุวง เป็นเหตุให้ทหารอาสาสมัครลาว-เวียดนามบาดเจ็บ ตามเอกสารภาษาลาวหลายฉบับ รวมทั้งเอกสารภาษาเวียดนาม ได้กล่าวว่า ทหารอาสาสมัครในเรือได้กระโจนเอาร่างตนเองบังร่างของเจ้าสุพานุวงไว้ ทำให้ทหารผู้นั้นถูกกระสุนเสียชีวิตอยู่บนร่างของท่าน ส่วนเจ้าสุพานุวงเองก็ถูกกระสุนบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน ขณะเดียวกันเครื่องยนต์เรือก็ดับลง ทหารอาสาเวียดนามอย่างน้อย 2 คน และนายทองลายคนขับเรือชาวลาวจึงได้กระโดดลงน้ำและลากเรือเข้าฝั่ง

ผู้เขียนพยายามใช้เอกสารหลากหลายในการศึกษาเรื่องนี้ ทั้งในภาษาลาว เวียดนาม ไทย และฝรั่งเศส เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน อีกทั้ง ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลในหลายพื้นที่ ทั้งในและนอกเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนในลาว

เอกสารเวียดนามและเอกสารลาวบางฉบับ ดังเช่น ປະທານສຸພານຸວົງ ຊີວິດແລະການເຄື່ອນໄຫວປະຕິວັດ (ประธานสุพานุวง ชีวิตและการเคลื่อนไหวปฏิวัติ) ระบุว่า เจ้าสุพานุวงถูกยิงที่สีข้างด้านซ้ายบาดเจ็บ บางฉบับระบุว่า เจ้าสุพานุวงถูกยิงด้านหลัง แต่จากเอกสารฉบับหนึ่งที่บันทึกโดยทหารเวียดนามที่ร่วมสู้รบในเหตุการณ์ที่ท่าแขกในวันนั้น และจากคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณท์สุพานุวงที่นครเวียงจันทน์ขณะที่ผู้เขียนไปเก็บข้อมูลที่พิพิธภัณท์แห่งนี้ ระบุตรงกันว่า เจ้าสุพานุวงบาดเจ็บจากกระสุนที่ยิงทะลุร่างของทหารอาสาสมัครเวียดนามที่เอาร่างกำบังเพื่อปกป้องท่าน โดยกระสุนได้ยังเข้าที่หลังและทะลุมาข้างหน้าที่ท้องน้อย ปลิดชีพทหารอาสาสมัครเวียดนามคนนี้ และกระสุนนี้ได้ทะลุมาที่ชายโครงของเจ้าสุพานุวงทำให้ท่านได้รับบาดเจ็บสาหัส เอกสารฉบับหนึ่งระบุว่า กระสุนลูกปืนนั้นเป็นกระสุนขนาด 12.7 มิลลิเมตร เอกสารอีกฉบับระบุว่าเป็นกระสุนขนาด 20 มิลลิเมตร

เอกสารเวียดนามฉบับหนึ่งยังระบุว่า เรือลำนั้นมีทหารอาสาสมัครลาวติดตามเจ้าสุพานุวงไปด้วย ส่วนทหารอาสาเวียดนามที่ลงเรือมากับท่านนั้น มีชื่อว่า เล เถี่ยว ฮวี (Lê Thiệu) ฮว่าง ซวน บิ่งห์ (Hoàng Xuân Bình) เหงวียน จ่อง เถื่อง (Nguyễn Trọng Thường) และสองคนหลังนี้ เป็นผู้กระโดดลงน้ำเพื่อดึงเรือเข้าฝั่งไทยร่วมกับนายทองลาย

ทหารอาสาสมัครเวียดนามที่สละชีพปกป้องเจ้าสุพานุวงครั้งนี้ มีชื่อว่า เล เถี่ยว ฮวี (Lê Thiệu)

เลือดของเล เถี่ยว ฮวี ไหลอาบร่างเจ้าสุพานุวง ผู้ที่ได้พบเห็นสภาพของเจ้าสุพานุวงต่างเข้าใจว่าเป็นเลือดของท่าน และต่างคิดว่าท่านเสียชีวิตแล้ว

เล เถี่ยว ฮวี เป็นผู้ที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่และปกป้องเจ้าสุพานุวง

เล เถี่ยว ฮวี เป็นลูกชายของ เล เทื๊อก (Lê Thước) (ปัญญาชนเวียดนามที่ศึกษาค้นคว้าภาษาหาน โนม Hán Nôm) ขณะนั้นเจ้าสุพานุวงไม่รู้ว่า เล เถี่ยว ฮวี เป็นใคร

แท้ที่จริงแล้ว เล เถี่ยว ฮวี เป็นบุคคล 1 ใน 10 คน ที่ท่านนายพลหวอ เงวียน ซ๊าป หรือที่คนไทยออกเสียงว่า โว เหงียน เกี๊ยบ (Võ Nguyên Giáp) (ผู้นำทัพเวียดนามรบชนะฝรั่งเศสที่เดี่ยน เบียน ฝู) ขอให้เดินทางไปช่วยเหลือลาวเคลื่อนไหวสู้รบ และท่านฝ่าม วัน ด่ง (Phạm Văn Đồng) เป็นผู้จัดส่ง 10 คนนี้มายังลาว (ท่านฝ่าม วัน ด่ง นี้ ต่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนามและได้มาเยือนไทยในเดือนกันยายน 1978)

หมอประดับที่หนีภัยข้ามแม่น้ำโขงมาจากเมืองท่าแขกมายังนครพนมก่อนที่การสู้รบที่ท่าแขกจะเกิดขึ้น และหมอถาวรได้ทำการปฐมพยาบาลเจ้าสุพานุวงในเบื้องต้น แล้วนำตัวส่งโรงพยาบาลนครพนมในทันที

เจ้าสุพานุวงได้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนครพนมจนบาดแผลค่อยบรรเทา แล้วจึงได้ย้ายไปอยู่บ้านพักหลังหนึ่งข้างสนามบินนครพนมพร้อมภรรยาของท่าน คือ เจ้าเวียงคำ ซึ่งเป็นเจ้าจากเมืองเว้ ท่านมีชื่อเวียดนามว่า เหงวียน ถิ กี่ นาม (Nguyễn Thị Kỳ Nam) (ซึ่งชื่อของท่านได้ปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณท์สุพานุวงในนครเวียงจันทน์อย่างชัดเจน) พร้อมกับทหารอาสาทั้งลาวและเวียดนามที่บาดเจ็บก็มาพักรักษาตัวอยู่ที่นี่ด้วยเช่นกัน ด้วยความช่วยเหลือจากทางการไทย

เอกสารเวียดนามฉบับหนึ่งกล่าวว่า จากนั้น เจ้าสุพานุวงได้เดินทางไปรักษากระดูกซี่โครงกับหมอชาวเยอรมันที่จังหวัดอุดรธานี และได้ไปร่วมกับรัฐบาลลาวอิสระ ซึ่งได้อพยพออกจากเวียงจันทน์มาอยู่ที่หนองคายหลังจากที่เวียงจันทน์ถูกฝรั่งเศสยึดได้ในวันที่ 24 เมษายน 1946 โดยอาศัยบ้านญาติของเจ้าเพ็ดชะลาด คือ ขุนสีมะสิงห์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางขณะนั้น

ตามคำบอกเล่าของคุณศุขปรีดา พนมยงค์หลายปีก่อนหน้านี้ ได้กล่าวว่า ต่อมาเจ้าสุพานุวงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านคุณประสิทธิ์ สิทธิสารีบุตร ซอยเทียนเซี้ยง สาทรใต้ และตามข้อมูลใน ປະທານສຸພານຸວົງ ຊີວິດແລະການເຄື່ອນໄຫວປະຕິວັດ ได้กล่าวว่า ในเวลาต่อมา ท่านได้ไปพักพิงอยู่ที่เมืองเชียงตุงของพม่า ด้วยความช่วยเหลือของเจ้าเมืองเชียงตุง

หลังจากที่เจ้าสุพานุวงได้ตั้งรัฐบาลปลดแอกลาวอิสระในวันที่ 13 สิงหาคม 1950 แล้ว รัฐบาลนี้ได้มีมติในวันที่ 19 กันยายน 1950 กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันเคียดแค้นศัตรู” เพื่อระลึกถึงผู้เสียสละในเหตุการณ์วันที่ 21 มีนาคม 1946

อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนได้รับทราบว่ารัฐบาลลาวได้ล้มเลิก “วันเคียดแค้นศัตรู” ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน

จดหมายจากเจ้าสุพานุวงถึงครอบครัวสหายเวียดนาม

เจ้าสุพานุวงได้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของเล เถี่ยว ฮวี ผู้เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องท่าน และได้มอบทองคำให้แก่ เล เทื๊อก บิดาและครอบครัวของ เล เถี่ยว ฮวี เป็นการขอบคุณ แต่ เล เทื๊อก ขออนุญาตไม่รับทองคำนี้ ด้วยเหตุผลว่าเป็นเกียรติยิ่งแล้วที่ลูกได้ปกป้องชีวิตของท่านและได้รับใช้ชาติ ร่วมกู้ชาติจนชีวิตหาไม่

จากนั้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1951 เจ้าสุพานุวงได้มีจดหมายแสดงความเสียใจมายังครอบครัวของเล เถี่ยว ฮวี และสรรเสริญความเสียสละของ เล เถี่ยว ฮวี โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่ง ดังนี้

เรียน ท่านที่เคารพ
เล เถี่ยว ฮวี ลูกผู้เป็นที่รักของท่านได้จากไป ไม่เพียงแต่ครอบครัวของท่านได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ประเทศเวียดนามและลาวก็ได้เสียนักรบที่ได้เสียสละเพื่อความถูกต้องไปด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าพเจ้าแล้ว การเสียสละของ เล เถี่ยว ฮวี นำมาซึ่งความเจ็บปวด เศร้าโศก อาลัยยิ่ง เพราะ เล เถี่ยว ฮวี ได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับข้าพเจ้าในการกอบกู้เอกราชของประเทศและประชาชนลาว………
………การเสียสละอันสูงส่งของ เล เถี่ยว ฮวี ครั้งนี้ ได้เตือนใจให้เยาวชนและประชาชนชาวลาวมีความอุตสาหะ สามัคคีเพื่อลุกขึ้นต่อสู้กับจักรวรรดินิยมเพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศชาติ
วันที่ 21 มีนาคม จะเป็นวันรำลึกถึงการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของ เล เถี่ยว ฮวี และเป็นวันเคียดแค้นของชาวลาว
ด้วยความจริงใจของข้าพเจ้า ขอขอบคุณครอบครัวของ เล เถี่ยว ฮวี และขออวยพรให้ทุกท่านจงประสบแต่ความสุข
ลงชื่อ …..”สุพานุวง”

จากเรื่องราวเหตุการณ์ที่ท่าแขกและความเสียสละของ เล เถี่ยว ฮวี ในการปกป้องชีวิตท่านสุพานุวง และจากเรื่องราวความช่วยเหลือ ความร่วมมือระหว่างลาวและเวียดนามในการต่อสู้ร่วมกันเพื่อเอกราชดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงรากฐานและที่มาอันหนึ่งของความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสองประเทศนี้ในทุกด้าน อันรวมถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศจากอดีตถึงปัจจุบัน

หมายเหตุบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง “ไทยกับการกู้ชาติเวียดนามในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20” ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image