เรื่องวุ่นๆ อธิการบดี อายุเท่าไหร่ดี โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด วันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ตัดสินกรณีฟ้องร้องมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี โดยชี้ว่า ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือไม่เป็น ต้องมีอายุไม่เกินหกสิบปีไม่เพียงแต่สร้างความฮือฮาให้กับชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคลทั่วประเทศเท่านั้น รวมไปถึงมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เนื่องเพราะเกี่ยวโยงถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 37/2560 ที่บัญญัติรองรับไว้ว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาจากผู้ที่เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่เป็นก็ได้ โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของอายุชัดเจนว่าเกินหกสิบปีไปแล้วเป็นได้หรือไม่

ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้บางคนเลยกล่าวโทษว่า เพราะคำสั่งระบุไว้เพียงประเด็นเดียว ไม่ได้พูดถึงอีกประเด็นหนึ่ง เขียนไม่สะเด็ดน้ำ เลยทำให้เกิดปัญหา ว่างั้นเถอะ

หลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมา จึงทำให้ที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ออกประกาศกำหนดแนวทางที่เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อการปฏิบัติเดียวกัน เพราะยังมีกรณีฟ้องร้องผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอายุเกิน 60 ปีอีกหลายแห่ง

Advertisement

ทำให้เกิดข้อคิดเห็นแตกต่างกันว่า แนวทางคำตัดสินดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะกรณีของมหาวิทายาลัยราชภัฏกาญจนบุรีแห่งเดียวเท่านั้น ไม่มีผลเป็นการทั่วไปต่อกรณีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย หรือมีผลต่อทุกมหาวิทยาลัย ไม่ว่ากระบวนการสรรหาและแต่งตั้งอธิการบดีจะสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วหรือยังอยุู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้นก็ตาม

ต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงท่าทีความคิดเห็นชัดเจน ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานกลางการปฏิบัติใดๆ ออกมาอีกเพราะคำพิพากษาของศาลชัดเจน เป็นบรรทัดฐานสำหรับการปฏิบัติอยุู่แล้ว ต้องให้ความเคารพ

พร้อมกันนั้นมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เชิญประชุมเพื่อปรึกษาหารือหาแนวทางออกร่วมกัน ระหว่างนายกสภามหาวิทยาลัยทุกแห่งที่เกิดกรณีปัญหาการฟ้องร้อง จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดความราบรื่น เรียบร้อย ไม่กระทบต่อภารกิจการบริการทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

Advertisement

ครับ ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังรอติดตาม จับตาว่า เวทีการหารือจะมีทางออกเรื่องนี้กันอย่างไร อย่างใจจดใจจ่อ

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นต่อมาอีกว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดควรบังคับใช้ไปข้างหน้า หรือย้อนหลังไปถึงกรณีที่กระบวนการสรรหา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หรือรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีผ่านไปแล้ว ซึ่งเกี่ยวโยงถึงหลักการ ผลการบังคับใช้ของกฎหมายย้อนหลังได้หากเป็นคุณแต่หากเป็นโทษต้องไม่ย้อนหลัง แต่เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

กรณีนี้จะใช้แนวคิดใดเป็นหลักการพื้นฐานรองรับการปฏิบัติ

การแต่งตั้งผู้มีอายุ 60 ปีเป็นอธิการบดีได้ หรือไม่ควรแต่งตั้ง ต่างล้วนมีเหตุผลรองรับด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะมองในมุมของการบริหารจัดการ หรือมองในมุมของกฎหมาย

มิติด้านการบริหารจัดการ ฝ่ายหนึ่งมองว่า คนอายุเลย 60 ปีผู้ที่ยังมีความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถ มีกำลังวังชา น่าจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้อีก แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เป็นการปิดกั้นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถจะก้าวขึ้นมา ขณะเดียวกันอาจจะทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจกันขึ้น

แต่เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 บัญญัติไว้ชัดว่าข้าราชการพ้นจากราชการเมื่อมีอายุครบหกสิบปี ผู้ที่่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐจึงต้องยึดตามคุณสมบัติข้อนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือไม่เป็นก็ตาม

คำพิพากษาของศาลจึงยึดหลักตามกฎหมายที่บัญญัติไว้

การที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นย่อมมีที่มาที่ไป มีเหตุผลทางการบริหารจัดการรองรับเช่นกัน การกำหนดอายุเกษียณ ควรอยู่ที่ 60 ปี ขณะนั้น

ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในประเด็นนี้เพื่อขยายเวลาอายุเกษียณของข้าราชการพลเรือนยังไม่เป็นที่ยุติ กรณีนี้จึงเป็นเรื่องท้าทาย เวทีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างนายกสภามหาวิทยาลัยทั้งหลายอย่างยิ่งว่าจะหาทางออกอย่างไร

หากไม่กล้าเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกรอบให้ชัดเจน ซึ่งก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อกระแสการคัดค้านและโจมตีหนักหน่วงอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image