ค่ายทหารพ้น กทม. นัยยะการเมือง นัยยะจัด(การ)เมือง

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากกองทัพบก

ว่ากรมยุทธการทหารบก (ยก.ทบ.) เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมจัดทำแผนรายการปรับโอนหน่วย และย้ายที่ตั้งหน่วยทหารออกจากกรุงเทพมหานคร

ซึ่งมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม และล่าสุดประชุมเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม

สำหรับหน่วยทหารที่จะถูกย้าย ส่วนใหญ่เป็นหน่วยยานเกราะระดับกองพัน กองร้อยจากกรุงเทพฯ จะย้ายออกจากพื้นที่ตั้งเดิมไปอยู่ที่จังหวัดสระบุรี

Advertisement

นอกจากนั้นหากมีความจำเป็นจะย้าย หน่วยปืนทั้งปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยาน ไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ตามแผนระยะที่ 2 ต่อไป

ส่วนการปรับโอนหน่วยนั้น จะยุบเลิกหน่วยงานของทหารราบบางหน่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ

โดยให้โอนกำลังพลเฉพาะกำลังรบ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ตามประเภทและความต้องการไปยังหน่วยรับโอน

Advertisement

ทั้งนี้ ทบ.จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการ โดยมีเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ) เป็นประธาน

ส่วนคณะทำงานดำเนินการปรับโอนหน่วย จะมีเจ้ากรมยุทธการทหารเป็นประธาน โดยให้กำหนดแผนงานให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2561 และให้เริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2562

ในช่วงนี้ให้หน่วยที่ต้องโอนย้ายเตรียมชี้แจง ขอบเขตที่ดิน อาคาร พร้อมเสนอที่ตั้งใหม่ ความต้องการงบประมาณในการดำเนินการ

โดยจะต้องดูแลและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกำลังพลและครอบครัวให้ได้มากที่สุด

ก่อนหน้านี้ไม่นาน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขอใช้ที่ดินราชพัสดุในพื้นที่ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แปลงสนามกอล์ฟชลประทาน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน และปัจจุบันใช้ประโยชน์เป็นสนามกอล์ฟ

เพื่อก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่

โดยระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ประกอบกับความแออัดคับแคบของสภาพพื้นที่โดยรอบ ทำให้ส่วนราชการหลายแห่งย้ายสถานที่ปฏิบัติงานออกไป

ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ก็ประสบกับปัญหาความแออัดคับแคบเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีอาคารสิ่งก่อสร้างบางหลังในกระทรวงมหาดไทย บดบังทัศนียภาพอันงดงามของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดหาที่ดิน

เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการของกระทรวงและส่วนราชการในสังกัดมหาดไทยแห่งใหม่

ความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันสองหน่วยราชการใหญ่

ฉายภาพของการ “จัดระเบียบเมือง” ออกมาอย่างชัดเจน

ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานราชการพลเรือนอื่นๆ

ประเด็นที่จะต้องขบคิดก็คือ หากจะต้องมีการโยกย้ายออกจากพื้นที่ “เมืองเก่า”

การโยกย้ายนี้จะดำเนินไปอย่างกระจัดกระจาย

หรือจะมีการวางแผนให้การก่อสร้างศูนย์กลางราชการของหลายหน่วยงาน จับกลุ่มและรวมศูนย์กันอย่างไร

ทั้งเพื่อประสิทธิภาพของการทำงาน ลดต้นทุนการก่อสร้างโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภค

และเพื่อความสะดวกสบายในการติดต่อราชการของประชาชนทั่วไป

ในฝั่งของหน่วยทหารยิ่งมีประเด็นน่าพิจารณายิ่งกว่า

อาทิ การเคลื่อนที่ตั้งของหน่วยคุมกำลังออกไปจากเมืองหลวง จะมีส่วนสัมพันธ์กับโอกาสของการทำรัฐประหารในอนาคตมากน้อยเพียงใด

พิจารณาจากความทุลักทุเลของการรัฐประหาร 2549 ที่ใช้ทหารหัวเมืองเป็นกำลังหลัก

กับความพรั่งพร้อมในการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ที่ทุกหน่วยกำลังในกรุงเทพมหานครออกปฏิบัติการพร้อมเพรียงกัน

ประการต่อมา ที่ดินทหารที่ย้ายออกไปส่วนใหญ่อยู่ในทำเลอันเป็นย่านธุรกิจและที่อยู่อาศัยชั้นดีใจกลางเมือง

ที่ดินว่างเปล่าในอนาคตเหล่านี้ จะถูกใช้ไปในทิศทางใด

เป็นปอด เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่

หรือเข้าสู่กระบวนการธุรกิจมูลค่ามหาศาล

ในเวลา 2-3 ปีข้างหน้าจากนี้ ทิศทางทั้งการเมือง การจัดการเมือง และการจัดการธุรกิจ

จะเป็นไปในทิศทางใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image