วิธีรับน้องใหม่ที่ชาญฉลาดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

อนุสาวรีย์จอห์น ฮาวาร์ด แสดงให้เห็นถึงจารึกแห่งความเท็จ 3 ประการ

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) มหาวิทยาลัยเอกชนในเมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกแห่งหนึ่ง และเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา โดยก่อตั้งเมื่อปี 8 กันยายน พ.ศ.2179 (สมัยพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ก็คือสมัยออเจ้านั่นแหละ) มีอายุครบ 380 ปี ใน พ.ศ.2559 ฮาร์วาร์ดเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีก (ไอวีคือเถาไม้เลื้อยที่นิยมปลูกเกาะคลุมผนังด้านนอกของตึกเรียนเก่าแก่ของมหาวิทยาลัย มีสีแดงในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อกลุ่มมหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันเป็นไอวีลีกนี้ยังมีลักษณะร่วมที่คล้ายคลึงกันคือ มีความเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง มีผู้เลือกเข้าเรียนมากที่สุดในสหรัฐ และในโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของการจัดอันดับทั้งในสหรัฐ และระดับโลก มีเงินกองทุนขนาดใหญ่มาก เกือบทั้งหมดก่อตั้งก่อนการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา (วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2319) มหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีกมีอยู่ 8 มหาวิทยาลัยเรียงตามลำดับอายุได้ดังนี้

1) พ.ศ.2179 ก่อตั้ง ม.ฮาร์วาร์ด 2) พ.ศ.2244 ก่อตั้ง ม.เยล 3) พ.ศ.2283 ก่อตั้ง ม.เพนซิลเวเนีย 4) พ.ศ.2289 ก่อตั้ง ม.ปรินซ์ตัน 5) พ.ศ.2297 ก่อตั้ง ม.โคลัมเบีย 6) พ.ศ.2307 ก่อตั้ง ม.บราวน์ 7) พ.ศ.2312 ก่อตั้ง ม.ดาร์ตมัธ 8)พ.ศ.2408 ก่อตั้ง ม.คอร์เนลล์

ในปัจจุบัน ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยได้ชื่อว่าเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ประกอบด้วยห้องสมุด 79 แห่ง มีหนังสือกว่า 18 ล้านเล่ม และฮาร์วาร์ดได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเงินกองทุน (Endowment) สูงที่สุดในโลก คือ ประมาณ 3 หมื่น 5 พันล้าน เหรียญสหรัฐ

การรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้นจัดว่ารับเข้ายากมาก อัตราส่วนเฉลี่ยการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด คือ 1 : 95

Advertisement
หน้าตาที่ไม่ใช่จอห์น ฮาร์วาร์ด

ครับ ! เมื่อรับนักศึกษาใหม่ระดับปริญญาตรีที่กว่าจะเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่แสนยากแต่การรับน้องใหม่ที่ฮาร์วาร์ดนี่ไม่ป่าเถื่อนเหมือนมหาวิทยาลัยของบางประเทศหรอกครับ การรับน้องใหม่จัดในรูปของการปฐมนิเทศโดยทั่วไปแต่หลายวันนะครับเพื่อแนะนำว่าจะอยู่อย่างไร จะกินจะนอนและจะเรียนหนังสืออย่างไร และการเข้าสมาคมในแวดวงมหาวิทยาลัยอย่างไร (รวมทั้งการหาแฟนด้วยนั่นแหละ จะกระมิดกระเมี้ยนไปทำไม) สรุปโดยรวมแล้วคือแนะวิธีการใช้ชีวิตระหว่างเรียนหนังสือที่ฮาร์วาร์ดอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องให้นักศึกษาใหม่คลำ เดาสุ่มเอาเองหรือถูกรุ่นพี่มาจูงจมูกหลอกลวง ข่มเหง โกหกต่างๆ อย่างที่เป็นข่าวจนชินตาอยู่ทั่วไป

สำหรับทีเด็ดของการปฐมนิเทศของฮาร์วาร์ดคือการนำนักศึกษาใหม่ไปที่อนุสาวรีย์ของนายจอห์น ฮาร์วาร์ด ที่ตั้งอยู่หน้ายูนิเวอร์ซิตี้ ฮอลล์ ในมหาวิทยาลัยนั่นเอง และเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ฮาร์วาร์ดโด่งดังไปทั่วโลก โดยทั่วไปแล้วบรรดาผู้ที่ไปเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแทบทุกคนจะต้องไปถ่ายรูปคู่กับนายจอห์น ฮาร์วาร์ด ที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ (bronze) เป็นอนุสาวรีย์ที่มีคำจารึกที่ฐานว่า “จอห์น ฮาร์วาร์ด ผู้ก่อตั้ง 1638” โดยมีเคล็ดด้วยว่าจะต้องลูบคลำรองเท้าของอนุสาวรีย์เพื่อความโชคดี จนทำให้บริเวณปลายรองเท้าของอนุสาวรีย์สัมฤทธิ์เป็นมันวาวเลยทีเดียว

อนุสาวรีย์จอห์น ฮาร์วาร์ด นี้คือสัญลักษณ์ที่ถือเป็นวัตรปฏิบัติของชาวฮาร์วาร์ดที่เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกคนจะต้องตระหนักอยู่เป็นนิตย์ โดยบรรดาผู้ที่รู้ความลับของอนุสาวรีย์แห่งนี้พากันเรียกอนุสาวรีย์จอห์น ฮาร์วาร์ด ว่า “อนุสาวรีย์แห่งความเท็จ 3 ประการ” กล่าวคือ

Advertisement

ความเท็จข้อที่ 1 : อนุสาวรีย์ของจอห์น ฮาร์วาร์ด นั้นปั้นขึ้นโดยนายแดเนียล ซี. เฟร้นซ์ เมื่อ ค.ศ.1884 หลังจากที่นายจอห์น ฮาร์วาร์ด เสียชีวิตไปแล้วถึง 246 ปี โดยไม่ทิ้งรูปถ่ายไว้เลย ดังนั้นประติมากรจึงใช้นักศึกษาฮาร์วาร์ดคนหนึ่งชื่อนายเชอร์แมน ฮอร์ เป็นนายแบบแทน นี่คือความเท็จข้อที่หนึ่ง

นายแบบเชอร์แมน ฮอร์

ความเท็จข้อที่ 2 : นายจอห์น ฮาร์วาร์ด ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพราะว่าสภากรรมการของบริษัท แมสซาชูเซตส์ เบย์ ซึ่งบริหารอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ในขณะนั้น ได้มีมติในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น หากแต่นายจอห์น ฮาร์วาร์ด ได้ยกมรดกของเขาครึ่งหนึ่งพร้อมทั้งหนังสือในห้องสมุดของเขาทั้งหมดประมาณ 300 เล่ม ให้แก่มหาวิทยาลัยเมื่อเขาสิ้นชีวิต ในขณะที่มหาวิทยาลัยเพิ่งตั้งขึ้นได้เพียง 2 ปีเท่านั้น จึงต้องการเงินและหนังสือบริจาคเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจากผลของการบริจาคที่สำคัญที่สุดของนายจอห์น ฮาร์วาร์ด ในสมัยนั้น คณะกรรมการผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงตั้งชื่อมหาวิทยาลัยให้เป็นเกียรติแก่นายจอห์น ฮาร์วาร์ด ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ความเท็จข้อที่ 3 : ปี ค.ศ.1638 ที่จารึกที่ฐานอนุสาวรีย์นั้นเป็นปีที่นายจอห์น ฮาร์วาร์ด ตาย มิใช่ปีที่สถาปนามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งปีที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนั้นคือ ค.ศ.1636

ครับ ! นี่คือตัวอย่างของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกรับน้องใหม่อย่างสมศักดิ์ศรีที่สุดด้วยการให้บทเรียนอันทรงคุณค่าสมกับเป็นปัญญาชนอย่างแท้จริง คือ

“อย่าได้รีบเชื่ออะไรง่ายดายนัก ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองเสียก่อน ไม่ใช่ว่าอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่อย่างฮาร์วาร์ดแล้วจะถูกต้องไปเสียหมด ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะไม่จริง ไม่ถูกได้ ความสงสัยนี่แหละคือบ่อเกิดของปัญญา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image