สถานีคิดเลขที่ 12 : พรรค(พวก) : โดย นฤตย์ เสกธีระ

นอกจากตัวเลข 70,000 เสียงที่เป็นตัวเลขที่พรรคการเมืองใดทำได้ถึงก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เก้าอี้แล้ว
ยังมีเรื่องของตัวเลขที่แว่วเสียงดังมาจากวงการเมืองอีกนิด

จากประมาณการตัวเลข 50 ล้านเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ มาสู่ค่าเฉลี่ยต่อเขตเลือกตั้ง 350 เขตเลือกตั้ง

กลายเป็น 140,000 คนต่อเขต

และจาก 140,000 คนต่อเขตโดยประมาณคร่าวๆ เมื่อคำนวณว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 70 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

คาดว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 98,000 คน

ดังนั้น ถ้าใครได้คะแนนเสียงประมาณ 50,000 เสียงก็แบเบอร์เข้าวิน ได้เป็น ส.ส.เขต

แต่ข้อมูลจาก กกต. มีกลุ่มการเมืองที่สนใจจัดตั้งพรรคเป็นร้อย

Advertisement

แสดงว่าใน 1 เขตจะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 1 พรรคเสนอตัวเข้าแข่งขัน

ยิ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต เป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคพึงมี ยิ่งมีความจำเป็นต้องส่ง ส.ส.ลงให้ครบทุกเขต

หรือถ้าลงได้ไม่ครบทุกเขตก็ต้องลงให้มากเขตที่สุด

ดังนั้น ใน 1 เขตจึงมีตัวหารมากขึ้นจนคะเนได้ว่า ส.ส.เขตที่ชนะการเลือกตั้งหากได้ 30,000 แต้มก็หรูแล้ว

ตัวเลขคะแนนชนะการเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละเขต จึงประมาณกันว่าอยู่ที่ 30,000 คะแนน

จากตัวเลขที่ปรากฏ เมื่อเทียบกับตัวเลข 70,000 คะแนนก่อนหน้านี้ ทำให้แบ่งคะแนนการได้มาของ ส.ส.ในสภาได้เป็น 2 ประเภท

นั่นคือ หนึ่ง ส.ส.เขต จะได้คะแนนน้อยกว่า 70,000 คะแนนแน่นอน

และหนึ่ง พรรคต้องได้คะแนนมากกว่า 70,000 คะแนน จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

จากตัวเลขเหล่านี้ ทำให้ประเมินต่อไปได้ว่า พรรคใดได้ ส.ส.เขตมาก ย่อมมีคะแนนไม่พอที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม

นี่จึงเป็นที่มาว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ อาจไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส่วนพรรคการเมืองที่มีความนิยมในบางจังหวัด อาจจะได้ ส.ส.เขต ผสมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ต้องพึ่งพาอาศัยคะแนนของพรรค

ต้องสะสมให้ได้มากกว่า 70,000 คะแนน จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

ความซับซ้อนในการเลือกตั้งที่จะถึงคือ ไม่น่ามีพรรคการเมืองใดที่ได้คะแนนเกินครึ่ง

หากจะได้คุมสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่ง

ดังนั้นพรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องแสวงหาเพื่อน

หากพรรคการเมืองใหญ่จับมือกับพรรคการเมืองใหญ่แล้วคะแนนเกินครึ่งก็น่าจะจบ

แต่ถ้าพรรคการเมืองใหญ่กับพรรคการเมืองใหญ่จับมือกันไม่ได้

พรรคการเมืองใหญ่ก็ต้องจับมือกับพรรคขนาดกลาง จับมือกับพรรคการเมืองใหม่

มองมุมหนึ่งก็เป็นการบังคับให้พรรคการเมืองจับมือกัน

มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นการทำให้พรรคการเมืองต้องวางแผนร่วมกันแต่เนิ่นๆ

วางแผนเพื่อที่จะจับมือกันหลังเลือกตั้ง

ทั้งนี้เพราะสภาผู้แทนฯหลังเลือกตั้ง ไม่น่าจะมีพรรคที่เสียงข้างมากเกินครึ่ง

มีแต่พรรคกับพรรคที่เป็นพวกกันมารวมกันถึงจะได้เสียงเกินครึ่ง

ยุคนี้จึงเป็น “พรรค(พวก)”

นั่นคือ มีพรรคแล้วยังต้องมีพวก ถึงจะได้เสียงข้างมากในสภา

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image