สถานีคิดเลขที่ 12 : ยินดีในที่สุด : โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

เพื่อนบ้านกัมพูชาของเราเลือกตั้งและเปิดการประชุมรัฐสภา “พรรคเดียว” ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

กระบวนการต่างๆ ราบรื่นมากจนมาถึงสัปดาห์นี้มีข่าวให้เซอร์ไพรส์พร้อมๆ กัน

ข่าวแรกคือผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชา เขม โสกา ออกมาจากเรือนจำเพื่อไปรักษาอาการป่วย ซึ่งลูกสาวให้ข่าวว่าพ่อป่วยหนักและต้องเข้ารับการผ่าตัด

เขม โสกา ถูกเล่นงานแทน สม รังสี ซึ่งยังลี้ภัยในต่างประเทศ ข้อกล่าวหาร้ายแรงมากว่าทรยศชาติ และติดคุกมานาน 10 เดือนแล้ว

Advertisement

อีกข่าว พนมเปญโพสต์ สื่อที่เปลี่ยนมือเจ้าของ ลงข่าวน่าดีใจกับรัฐบาล ว่า นางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ชาติยักษ์ใหญ่ของยุโรป ส่งจดหมายแสดงความยินดีต่อ นายฮุน เซน แล้ว โดยเป็นผู้นำชาติตะวันตกคนแรกที่แสดงความยินดีกับผู้นำกัมพูชา

กัมพูชาเลือกตั้งเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. แต่จดหมายแสดงความยินดีเพิ่งจะมาถึง ดีเลย์ไปนานเกินเดือน

เรื่องนี้ไม่น่าเกี่ยวกับระบบการสื่อสารของโลกยุคนี้รวดเร็วมาก แต่เพราะชาติตะวันตกไม่ปลื้มกับกระบวนการที่กัมพูชาใช้ “จัดการ” ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

Advertisement

ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรสนับสนุนประชาธิปไตย ไปจนถึงสื่อมวลชนถูกไล่บี้เปิดเปิง จนเป็นที่มาของเสียงวิจารณ์ว่าเกมนี้ไม่แฟร์เอาเสียเลย

ยิ่งนายกฯฮุน เซน ออกอาการช่างมันฉันไม่แคร์ เพราะมีพี่ใหญ่จีนหนุนอยู่ ยิ่งทำให้ชาติตะวันตกห่างเหินออกไปอีก

กระทั่งจดหมายจากนายกฯหญิงแมร์เคิลเดินทางมาถึงกัมพูชาครั้งนี้ อาจส่งสัญญาณว่าเกมนี้อาจจะเริ่มพลิก

จดหมายของผู้นำเยอรมนีมีถ้อยคำที่พร้อมจะช่วยเหลือสนับสนุนให้กัมพูชาเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางประชาธิปไตย และเปิดการเจรจาทางการเมืองในประเทศ แนบมาด้วย

ท่าทีของชาติตะวันตกต่อประเทศอาเซียนนั้นดูไปแล้วไม่ได้แข็งกร้าวมาเป็นเวลานานนับจากหมดยุครัฐบาลทหารพม่า

อย่างกรณีของไทย ในทริปที่มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ มูลนิธิการเมืองของเยอรมนีที่สนับสนุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ เชิญสื่อมวลชนไทยไปพูดคุยกับนักการเมืองถึงถิ่นเยอรมนีเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ สังเกตได้ว่า ประเทศในถิ่นนี้ไม่ใช่ไฮไลต์ในด้านการต่างประเทศของเขาเท่าไรนัก

ผิดกับจีน มหาอำนาจของเอเชียที่แผ่อิทธิพลไพศาลในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง นักการเมืองเยอรมันพูดถึงด้วยความเกร็งอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลไทยที่ฝั่งเยอรมันได้รับเป็นข้อมูลพื้นๆ ไม่ได้ลงเจาะลึกในรายละเอียด อาจเพราะผลประโยชน์ที่มีในภูมิภาคนี้ดำเนินไปแบบพื้นๆ ชิลๆ ไม่จำเป็นต้องกดดันให้พัฒนาด้านประชาธิปไตย เพราะถ้าออกแอ๊กชั่นมาก เดี๋ยวเข้าตัว คบกับผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจลำบากอีก

ดังนั้น การส่งจดหมายของนางแมร์เคิลมายินดีกับนายฮุน เซน ครั้งนี้ก็ไม่ได้ถึงกับเหนือความคาดหมายจนเกินไป เพียงแต่ทำให้คิดเปรียบเทียบต่อมาถึงไทยแลนด์ ว่าหากเรามีการเลือกตั้งที่แสนจะซับซ้อนและไม่ได้ฟรี-แฟร์เท่าใดนัก ผู้ชนะก็คงได้รับจดหมายแสดงความยินดีในที่สุด

เรื่องนี้จะเสียใจหรือดีใจก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image