เวเนซุเอลา หายนะจากนโยบาย

นโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในประเทศเวเนซุเอลา ทำให้คนที่ไม่เข้าใจว่า hyperinflation เป็นอย่างไร ได้เข้าใจและคิดตามได้ เมื่อราคาสินค้าขึ้นเดือนละกว่าเท่าตัวทุกเดือน และคาดว่าปีนี้จะมีเงินเฟ้อล้านเปอร์เซ็นต์! นโยบายที่ใช้ยังเป็นการ “ไล่” พลเมืองของตนเองออกนอกประเทศอีกด้วย คนมีอันจะกินอพยพไปอยู่ประเทศสเปนและสหรัฐอเมริกา คนส่วนใหญ่ “เดินเท้า” ข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านเพราะ “หิว” และ “ป่วย” เนื่องจากภายในประเทศขาดทั้งอาหารและยารักษาโรค ในช่วง 4 ปี คนออกไปแล้วเท่ากับ 7% ของพลเมือง และปกติของการอพยพ พลเมืองที่ออกไป น่าจะเป็นกลุ่มที่มีทางไป ซึ่งถ้าอยู่ก็คือกำลังสำคัญของประเทศ

ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องหวนคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้

ละตินอเมริกา

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักเวเนซุเอลาทั้งในความเป็นประเทศ และในบริบทของการเป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าละตินอเมริกา
ละตินอเมริกาเป็นกลุ่มประเทศที่มีลักษณะสามัญร่วมกันบางประการ เฉพาะประเด็นที่จะกล่าวถึงครั้งนี้คือ

Advertisement

ด้านเศรษฐกิจ มักมีเงินเฟ้อในระดับที่คนเอเชียไม่รู้จักเกิดขึ้นเป็นระยะๆ (แม้จะไม่มากเท่าเวเนซุเอลาในครั้งนี้)

ด้านสังคม มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และโอกาสสูงมาก คนจนก็จนจัด คนรวยก็รวยล้นฟ้า

ด้านการเมือง มักจะแกว่งไปมาระหว่างรัฐเผด็จการขวาจัดกับซ้ายจัด บริหารประเทศแบบพึ่งพาเพื่อนพ้อง และมีคอร์รัปชั่นอย่างเป็นกอบเป็นกำ

Advertisement

ด้านการเมืองระหว่างประเทศ การมีภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กับสหรัฐอเมริกาเป็นเหตุให้พญาอินทรีสยายปีกมาสร้าง “อาณานิคม” ทางเศรษฐกิจ และบางครั้งก็เข้าแทรกแซงทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน บทบาทของบริษัทจากสหรัฐมีส่วนก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางสังคมด้วย เช่น การเกษตรขนาดใหญ่ที่ใช้ที่ดินจำนวนมาก หรือการขุดเจาะหาทรัพยากรธรรมชาติ ต่างก็มีส่วนทำลายวิถีชีวิตธรรมชาติของคนในพื้นที่ให้กลายเป็นคนไร้ที่อยู่ที่ทำกิน กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความยากจนและ การกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำ เป็นต้น แต่การกันไม่ให้มหาอำนาจชาติอื่นเข้ามาแทรกแซงมีอิทธิพลได้โดยตรงในละตินอเมริกา ก็มีส่วนทำให้สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นภายในละตินอเมริกาไม่ถึงขั้นนองเลือดหรือพังพินาศแบบซีเรีย

และอีกหลายประเทศที่มหาอำนาจสองขั้วใช้เป็นที่ประลองกำลังกัน

ความขาดดุลยภาพด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในเวเนซุเอลา
ประเทศเวเนซุเอลามั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างน่าอิจฉา มีทั้งชายฝั่งทะเล เทือกเขาและป่าไม้ แถมใต้แผ่นดินยังอุดมด้วยน้ำมันและแร่ต่างๆ เช่น ถ่านหิน เหล็ก บอกไซต์ และทองคำ แต่กลับเป็นสังคมที่มี social imbalance สูงมาก ค.ศ.2017 กว่า 30% ของประชากรอยู่ใต้เส้นความยากจน อาศัยอยู่รวมกันในเมืองที่บ้านช่องแออัดโกโรโกโส อัตราการว่างงาน 26.4% ประชากร 31 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยเพียง 28 ปีเศษ (แปลว่าอัตราการเกิดน่าจะสูง) ความรวยกระจุกอยู่กับคนจำนวนน้อย ที่เป็นนักธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมักทำธุรกิจโดยอิงผู้มีอำนาจทางการเมือง

ทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลเวเนซุเอลาทำสงครามกับนักธุรกิจในประเทศและบริษัทธุรกิจข้ามชาติ มีการยึดที่ดินคืนเป็นล้านๆ เอเคอร์ ดึงกิจการน้ำมัน ก๊าซ เหมืองแร่ ฯลฯ และกิจการอื่นๆ ของเอกชนเข้ามาเป็นของรัฐ รวมทั้งโครงการน้ำมันของเอ็กซอนโมบิลกับโคโนโกฟิลลิปส์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและพลังงานอเมริกันด้วย แทบจะทุกธุรกิจตั้งแต่ซีเมนต์ไปจนถึงธนาคารและเทเลคอมฯเป็นของรัฐทั้งหมด บางอันก็ตั้งใหม่ บางอันก็ยึดมา การมีกิจการเป็นของรัฐด้านหนึ่งอาจจะหมายถึงว่ารัฐสั่งการให้บริษัทปฏิบัติตามนโยบายของรัฐได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็หมายถึงว่าภาคเอกชนเล็กลง คนชั้นกลางไม่มี และหมายถึงรายได้และอำนาจการบริหารจัดการกิจการของรัฐตกอยู่ในมือพวกพ้องของนักการเมืองรายที่อยู่ในอำนาจ การบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจมักจะไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้น ในเนื้อแท้ความเป็นจริงแล้วก็อาจจะไม่สามารถสนองนโยบายของรัฐได้ และอาจจะทำให้รายได้ของรัฐหรือประเทศลดลงด้วยก็ได้

ประเทศนี้นำเข้าทั้งอาหาร ยา สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าประเภททุน

รายได้ของรัฐบาลกระจุกอยู่ที่รายได้จากน้ำมัน ดังนั้น เมื่อน้ำมันขึ้นหรือลงจะมีผล

กระทบต่อทั้งงบประมาณและดุลการชำระเงินอย่างสำคัญมาก ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันใน 2 ลักษณะคือ รัฐบาลใช้รายได้จากน้ำมันมาให้สวัสดิการคนจนทั้งทางตรงและโดยการกดราคาสินค้าจำเป็นต่างๆ ให้อยู่ในระดับต่ำมากๆ และประชาชนซื้อน้ำมันได้ในราคาต่ำมาก ต่ำจนกระทั่งคนธรรมดาอาจจะร่ำรวยได้จากการลักลอบขนน้ำมันจากเวเนซุเอลาข้ามพรมแดนไปขายในประเทศข้างเคียง นี่เป็น economic imbalance

ทางด้านการเมือง ในปี ค.ศ.1999-2013 Hugo Chavez นายทหารที่เคยพยายามปฏิวัติมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี นโยบายที่ใช้หาเสียงคือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและระบบพวกพ้อง และจะลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน

เชเวสแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเป็นประธานาธิบดีได้ 2 สมัย (สมัยละ 6 ปี) เขาเคยเจอรัฐประหาร แต่ก็สามารถยึดอำนาจคืนได้ในเวลาอันสั้น แม้จะต้องนองเลือด และแม้จะต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่ต้องการดันเขาให้ออกจากตำแหน่ง ก็สามารถได้ชัยชนะกลับมาเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปี ค.ศ.2006 ด้วยคะแนนเสียง 59% แล้วต่อมาในปี 2009 ก็ขอให้ประชาชนลงประชามติแก้รัฐธรรมนูญให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมัยที่ 3 ในปี ค.ศ.2012 เชเวสเสียชีวิตในปี ค.ศ.2013 คนรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อมาคือ Nicolas Maduro ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งโดยวิถีทางประชาธิปไตยเช่นกัน (ถ้าประชาธิปไตย=มีการเลือกตั้ง) ในปี ค.ศ.2013 ด้วยคะแนนเสียง 50.8%

นับจากนั้นมา political imbalance ที่เริ่มจากสมัยเชเวส เริ่มปรากฏผล เมื่อผู้นำยอดนิยมของประชาชนล่วงลับไปแล้ว ประเทศเริ่มประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ ประชาชนบางส่วนออกมาประท้วงเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมสูง การเดินขบวนเข้าขั้นรุนแรงมีคนตาย รัฐบาลยกเป็นเรื่องการเมืองโดยตั้งข้อหาว่าผู้นำฝ่ายค้านพาคนไปตาย ผู้นำฝ่ายค้านถูกสั่งจำคุก 13 ปี และแล้วเรื่องการเมืองภายในก็กลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศเมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าแทรกแซงแซงก์ชั่นโดยยกประเด็นว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชน

สองปีต่อมาฝ่ายค้านได้ที่นั่งข้างมากในสภา ประธานาธิบดีแก้เกมการเมืองด้วยการตั้งสภาอีกแห่งขึ้นมาคู่ขนาน และยังจัดการเปลี่ยนบุคคลในศาลสูงของประเทศเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน การเมืองแบบรวบอำนาจเริ่มกลายเป็นการเผชิญหน้ากันในเกมการเมือง ระหว่างฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีกับฝ่ายที่ไล่ประธานาธิบดี ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองทับถมลงไปบนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต

ปี ค.ศ.2018 มาดูโร่ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง ทำให้เขามีสิทธิเป็นประธานาธิบดีไปอีก 6 ปี การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนมาใช้สิทธิเพียง 46% เทียบกับ 80% เมื่อปี ค.ศ.2013 มีผู้กล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต (อ้อ คนไทยเรียกว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม) เวเนซุเอลาแสดงความเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบเพราะมีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่พฤติกรรมของประธานาธิบดีเข้าใกล้ความเป็นเผด็จการเต็มรูปเข้าไปทุกที แต่สหรัฐเล่นงานเวเนซุเอลาในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน

นโยบายที่ย้อนกลับมาเป็นหายนะ
14 ปีที่เชเวสปกครองเวเนซุเอลา เขาเป็นแชมเปี้ยนของคนยากไร้ นโยบายช่วยคนจนของเชเวส ทำให้ตัวเลขคนที่ยากจนลดลงจาก 50% เหลือ 30% ตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนก็แคบลง นับว่าได้สร้างความมั่นคงทางสังคม แต่วิธีการที่ใช้กลับเป็นเชื้อให้เกิดความรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจในเวลาต่อมา กล่าวคือ เขานำเงินรายได้จากภาษีน้ำมันไปเป็นเงินสวัสดิการ เช่น ให้เงินอุดหนุนหรือกดราคาอาหารให้ต่ำเข้าไว้ เพิ่มสวัสดิการด้านรักษาพยาบาล ในลักษณะได้มาก็จ่ายไป ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นไปได้ตราบเท่าที่รายได้จากน้ำมันเพิ่มขึ้น อันเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่เมื่อราคาน้ำมันเหหัวดิ่งลง ทั้งเงินภาษีที่เป็นเงินรายได้ในงบประมาณ และเงินรายได้จากส่งออกน้ำมันก็หดตาม โครงการช่วยคนจนนานาประการเริ่มเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งใดที่ให้ไปแล้ว ยกเลิกยากมาก รัฐบาลจึงยังคงเดินหน้าเป็นผู้ให้ต่อไป ทั้งๆ ที่กำลังถังแตก

1.ไม่มีรายได้ในงบประมาณพอ เพราะน้ำมันราคาตก ต้องใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ ปกติเมื่อรัฐบาลขาดดุลก็จะออกพันธบัตรขอกู้เงินในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในต่างประเทศกู้จนไม่มีเครดิตจะกู้ได้อีกแล้ว ในประเทศ รัฐบาลก็กู้ไม่ได้เพราะไม่ได้สร้างสถาบันเงินออมไว้รองรับ สุดท้ายจึงใช้วิธีพิมพ์ธนบัตรออกมาจ่าย ก่อให้เกิดเงินเฟ้อแบบหยุดไม่อยู่

2.การขาดดุลการค้าเพราะรายได้จากการส่งออกน้ำมันลดลงมาก (เพราะน้ำมันราคาตก) ก่อให้เกิดอีกหลายปัญหา คือ

1.ไม่มีเงินตราต่างประเทศพอจะนำเข้าสินค้าที่เคยนำเข้าในประเทศ จึงขาดแคลนสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร และยา

2.รัฐบาลใช้มาตรการคุมราคา คือคุมราคาสินค้ากับคุมอัตราแลกเปลี่ยน การคุมราคาขายของสินค้าทำให้สินค้าหาย เมื่อคนผลิตเลิกผลิต คนขายไม่ยอมขาย มีทั้งการขาดแคลน การกักตุน การลักลอบนำไปขายในประเทศข้างเคียง แล้วแต่ว่าใครทำอะไรได้เพื่อให้ตนได้ประโยชน์จากระบบที่บิดเบือนนี้

3.รัฐบาลแก้ปัญหาด้านเงินตราต่างประเทศขาดแคลนและค่าเงินตก ด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยน และใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา (multiple exchange) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การคอร์รัปชั่น การรั่วไหลของเงินสู่ตลาดมืด เป็นต้น

4.รัฐบาลอาจจะต้องเลื่อนเวลาชำระหนี้ที่กู้มาแล้ว ได้ยินว่าบริษัทเจ้าหนี้อาจจะคิดยึดน้ำมันของเวเนซุเอลาที่เก็บไว้เป็นสินค้ารอการขายในต่างประเทศรับกลั่นน้ำมันให้ ซึ่งคนที่คิดจะทำได้ก็คือสหรัฐอเมริกา เพราะมีอำนาจระดับนานาชาติสูงพอจะทำให้เกิดผลได้ดังต้องการ

การให้ดังกล่าวและผลที่ตามมา กลายเป็นการซ้ำเติมให้คนที่จนแล้วยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้น คนที่ยังไม่จนก็จนลงไปด้วยจากเงินเฟ้อ

บทเรียนที่ซ้ำเดิม
ระหว่างที่อ่านบทความต่างๆ ว่าด้วยวิธีที่เวเนซุเอลาใช้แก้ปัญหา เกิดข้อคำถามว่า

1.ธนาคารกลางหายไปไหน กระทรวงการคลังหายไปไหน นโยบายเศรษฐกิจขาดดุลยภาพได้เช่นนี้ เพราะไม่มีผู้คุมวินัยของนโยบายการเงินการคลังใช่หรือไม่

2.การช่วยเหลือคนจนแบบให้เปล่า แบบให้ซื้อของได้ในราคาถูก อาจจะเป็นนโยบายเฉพาะหน้าไม่ให้คนอดตาย แต่นโยบายที่สำคัญต่อประเทศและอนาคตของคนแต่ละคน น่าจะเป็นการช่วยให้คนจนช่วยตนเองได้ดีขึ้นไม่ใช่หรือ มีตรงไหนที่รัฐบาลพูดเรื่องการจ้างงาน การกระจายรายได้โดยให้โอกาสแทนให้เงิน เช่น ในการเข้าถึงการศึกษา การพัฒนาทักษะในการทำงาน การพัฒนาอาชีพ เพื่อความยั่งยืนของคุณภาพชีวิตของคนจนหรือไม่ (แบบที่ผู้นำไทยเคยให้คำขวัญว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข”) และผู้อพยพที่มีกระเป๋าเดินทางเต็มพิกัด ไกลจากความเป็นคนเสื่อผืนหมอนใบ พูดถึงเรื่องการเป็นผู้ผลิต พูดถึงความต้องการทำงานบ้างหรือไม่ นอกจากปัญหาเรื่องหิว และป่วยซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะหน้าทางด้านการบริโภค หรือว่าการให้แบบเชเวส สร้างคนรุ่นหนึ่งขึ้นมา เป็นคนรุ่นที่รู้จักแต่รับของถูกของฟรี ไม่รู้จักการลงมือทำงานเพื่อเลี้ยงตน นี่เป็นสิ่งที่อยากจะหาคำตอบต่อไป

3.รัฐบาลของเวเนซุเอลาไม่รู้หรือว่า นโยบายที่ใช้อยู่ในประเทศของตน เช่น nationalization, subsidy, price control, multiple exchange เคยมีประเทศอื่นลองมาแล้วทั้งนั้น และผลที่ได้ในระยะยาวไม่เคยน่าประทับใจ ประเทศที่เคยใช้จึงยกเลิกมาตรการเหล่านั้นหมดแล้ว

4.diversification ของการผลิต ฐานภาษี และการส่งออก เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้อนาคตของประเทศต้องพึ่งพิงสินค้าเศรษฐกิจชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว
ข้อสังเกตบางประการมีดังนี้

1.การช่วยเหลือคนจนที่รัฐบาลเวเนซุเอลาทำไป เป็นการสร้างความพึ่งพิงของประชาชนให้รอรับจากรัฐ และปิดกั้นการเติบโตของการลงทุนโดยภาคเอกชน เราจะเรียกว่าเป็นสังคมนิยม เป็นประชานิยม หรือเป็นอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่ติดที่คำศัพท์ ก็คงจะสรุปได้เหมือนกันว่า รัฐบาลบิดเบือนกลไกราคาในตลาด เพื่อให้คนจนได้ซื้อของในราคาที่ถูกเกินกว่าที่การผลิตจะเป็นไปได้ ผลระยะยาวของนโยบายนี้คือบีบธุรกิจเอกชนให้ต้องหันมาพึ่งพิงรัฐเพื่อขอเงินอุดหนุนให้อยู่รอด ถ้ารัฐไม่ช่วยก็อยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดการ “รอรับ” ในอีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งด้วย ถ้าผู้อยู่ในระบบไม่ตรงไปตรงมา ก็จะเกิดการวิ่งเต้น ใช้เส้น ใช้พวกพ้องเพื่อให้ได้เงินอุดหนุนนั้นๆ ส่วนการดึงกิจการไปเป็นของรัฐ สร้างระบบ command economy หรือระบบเศรษฐกิจที่พึ่งการสั่งการขึ้นมาแทนระบบที่พึ่งแรงจูงใจจากภาษี และกำไร ทั้งหมดนี้ทำให้ฝ่ายผู้ผลิตที่เป็นเอกชนอ่อนแรง พลวัตการขยายตัวของการลงทุนลดลง ซึ่งพลอยทำให้การจ้างงานชะงักไปด้วย คนในวัยทำงานขาดช่องทางในการหารายได้เพื่อยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเองไปอีกทางหนึ่ง

2.การพึ่งสินค้าส่งออกชนิดเดียวเป็นความเสี่ยงอย่างมาก รายได้จากน้ำมันคิดเป็น 95% ของรายได้ของรัฐบาล และเป็นรายได้หลักที่เป็นเงินตราต่างประเทศ อ่านยังไม่พบความพยายามจะหาสินค้าหรือบริการส่งออกชนิดอื่นเพื่อเพิ่มรายได้เงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากการท่องเที่ยว หรือการผลิตสินค้าอื่นๆ ทั้งๆ ที่ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย การตัดพลังของนักธุรกิจเอกชนที่ไม่ใช่พวกพ้องก็อาจจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ขาดความคิดริเริ่มในการหาสินค้าชนิดอื่นมาส่งออกเพิ่มขึ้น ผู้เขียนจำได้ว่า ในช่วงที่มีการประท้วงการนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 2510 ท่านผู้ว่าการในสมัยนั้นบอกว่า นำเข้าจากประเทศเดียวมากๆ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเราเลือกนำเข้าจากประเทศใดก็ได้ ที่เราต้องระวังคือไม่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าเดียว และไม่พึ่งพิงการส่งออกไปตลาดเดียว เพราะเราจะถูกกระทบกระเทือนได้มาก ถ้าสินค้านั้นมีราคาลดลง หรือประเทศคู่ค้าที่ซื้อสินค้าของเราประสบปัญหาหรือมีเรื่องกับเรา ทางเลือกของนโยบายด้านส่งออกที่สำคัญคือ ต้อง diversify ต้องมีสินค้าที่จะส่งออกหลายๆ อย่าง และกระจายประเทศผู้ซื้อสินค้าด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงของเราซึ่งเป็นผู้ขาย

3.ภาคธุรกิจเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ แบบไหนจะดีต่อส่วนรวมมากกว่ากัน เป็นเรื่องที่ถกกันได้ยาวนาน แม้ในประเทศไทยเราเองก็พูดถึงการขายกิจการให้เอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และในเวลาเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวจะดึงกิจการบางกิจการที่สำคัญๆ กลับมาเป็นของรัฐ โดยละเว้นไม่พูดถึงเรื่องประสิทธิภาพ แต่ให้น้ำหนักกับประเด็นสังคม และการสนองนโยบายของรัฐมากกว่า ในประเทศเวเนซุเอลาและละตินอเมริกันอีกหลายประเทศ ธุรกิจมักอิงทรัพยากรธรรมชาติ สัมปทาน และทุนข้ามชาติขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมดนี้มักโยงใยกับผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจที่มีโยงใยถึงกันและอาจจะไม่ใช่ผู้มีประสิทธิภาพในการผลิต จึงเป็นที่เข้าใจได้ในเรื่องความระแวงทุนต่างชาติและเอกชนรายใหญ่ที่มีฐานะมั่งคั่ง และการพยายามยึดกิจการมาเป็นของรัฐ แต่ยังมีวิธีการอื่นๆ อีกที่น่าจะทำได้ รวมทั้งการสร้างธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ต้องพึ่งสัมปทานและทรัพยากรธรรมชาติ ที่เพื่อช่วยเพิ่มการจ้างงานของแรงงาน และเพิ่มสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อการบริโภค

4.การควบคุมราคาสินค้าให้ต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ เป็นการผลักสินค้าเข้าไปในตลาดมืด และการลักลอบส่งออก-นำเข้า และยังเป็นเค้ามูลให้เกิดการทุจริต การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง กลับไปสมัยทศวรรษ 2510 อีกครั้ง ในประเทศไทยเวลานั้นก็มีผู้เสนอให้คุมราคาสินค้าเพื่อยับยั้งไม่ให้ (คนเห็นว่า) สินค้าขึ้นราคา และเสนอให้นำ import quota มาใช้ในการนำเข้า เพื่อเจียดเงินตราต่างประเทศที่มีน้อยให้ไปยังสินค้าที่ประสงค์ให้มีการนำเข้า ครั้งนั้นในธนาคารแห่งประเทศไทยแย้งรัฐบาลว่าข้อเสียของการใช้ระบบคุมราคาและระบบโควต้ามีมากมาย นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้วยังรวมถึงการไม่ปรับตัวของผู้บริโภคเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และท้ายที่สุดจะหันกลับมาทำร้ายความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยทั้งในประเทศและในเวทีโลก

5.อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เป็นการบิดเบือนกลไกราคาเช่นเดียวกับการกำหนดราคาสินค้าหรือให้เงินอุดหนุนให้สินค้าบางอย่างมีราคาถูกลง โดยในกรณีอัตราแลกเปลี่ยนมีเงินตราเป็น “สินค้า” ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน อัตราแลกเปลี่ยนก็คือราคาของเงินประเทศตนเอง คิดเป็นเงินของอีกประเทศหนึ่ง ประเทศไทยเคยใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือใช้อัตราแลกเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้สินค้าจำเป็นที่ต้องนำเข้ามีราคาถูก ส่วนสินค้าอื่นๆ ก็ใช้อัตราแลกเปลี่ยนอีกอัตราหนึ่ง เราเลิกนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราไปนานแล้ว และไม่เคยคิดจะนำกลับมาใช้อีกเลย เพราะข้อเสียมีมากมาย ทั้งการบริหารจัดการ การมีตลาดมืด การทุจริตหรือการใช้อำนาจมิชอบที่อาจมี (เพื่อให้คนบางคนหรือบางกลุ่มได้อัตราแลกเปลี่ยนพิเศษ) ฯลฯ แต่ยังคงมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่อมาอีกหลายสิบปีเพื่อควบคุมไม่ให้เงินทุนไหลออก คือไม่ให้คนในประเทศนำเงินบาทไปซื้อเงินตราต่างประเทศแล้วนำไปไว้ในต่างประเทศโดยไม่ขออนุญาต

6.การพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้อย่างเสรี
วิชาเศรษฐศาสตร์มักพึ่งสมมุติฐาน ในเรื่องการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน อาจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์จะสมมุติว่า อยู่ๆ ก็มีเงินโปรยลงมาจากฟ้าอีก 1 เท่าตัว แล้วให้ตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับราคาสินค้า คำตอบคือ ราคาสินค้าคงจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวในทันที เพราะมีเงินมากขึ้นไปไล่ซื้อสินค้าจำนวนเดิม ส่วนในระยะยาวก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของผู้คนในสังคม ทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายแบบ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้จ่าย เพิ่มเติมจากเงินที่หาได้จากภาษี เงินเฟ้อย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อเงินเฟ้อขนาดนั้น อัตราแลกเปลี่ยนเดิมก็อยู่ไม่ได้ เงินของประเทศก็ต้องลดค่าลง การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้ต่ำกว่าที่พึงเป็นเพื่อให้มีเงินไปซื้อสินค้าจำเป็น ก่อให้เกิดตลาดมืดทั้งสำหรับเงินตราต่างประเทศและสินค้า คนที่ได้กำไรคือคนที่มีช่องทางในการเข้าถึงเงินถูกๆ และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งสินค้าที่ได้มาก็จะรั่วเข้าไปในตลาดมืดอีกเช่นกัน ยิ่งรู้ว่าเงินจะเฟ้อยิ่งขึ้น คนที่มีสินค้าหรือก็จะแอบกักตุนสินค้าหรือเงินไว้ เพราะขายพรุ่งนี้กำไรดีกว่าวันนี้ ขายมะรืนก็กำไรกว่าขายพรุ่งนี้ ถ้ามีเงินตราต่างประเทศก็จะตุนไว้ เพราะพรุ่งนี้อัตราแลกเปลี่ยนจะดีกว่าวันนี้ ฯลฯ พวกเราบางคนก็เคยตุนสินค้ามาแล้ว ในปีที่เงินของเราเฟ้อแค่เกิน 10% เท่านั้น (ในปีที่น้ำมันทั่วโลกขึ้นราคาอย่างก้าวกระโดด) และตุนเงินตราต่างประเทศเท่าที่ทำได้ในช่วงที่คาดกันว่าเงินบาทจะลดค่าค่อนข้างแน่นอน เป็นต้น

7.ต่อคำถามที่ว่าธนาคารกลางและกระทรวงการคลังไปไหน และวินัยการเงินการคลังไปไหน เดาว่าสององค์กรนั้นคงถูกรวบอำนาจไปแล้ว ให้ไปสนองนโยบายชาตินิยมและนโยบายช่วยคนจน เมื่อไม่มีอิสระในการทำงานหรือให้ความเห็น วินัยการเงินการคลังก็ย่อมไม่มี ประเทศไทยนับว่าดี ที่ทุกครั้งที่มีการทำนโยบายออกนอกลู่นอกทาง ที่อาจจะทำให้เสียหายต่อเศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว จะมีผู้ออกมาติติง และผู้ดูแลนโยบายการเงินการคลังยังได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ เสียงที่ทัดทานยังได้รับการรับฟัง ขอให้เรารักษาดุลยภาพของเราไว้ให้ได้ตลอดไปด้วยเถิด

8.มีคำถามว่า ในสถานการณ์เงินเฟ้อพุ่งกระฉูดหยุดไม่อยู่ เราควรจะเก็บสะสมความมั่งคั่งอย่างไรจึงจะปลอดภัย ขอตอบว่า ต้องอย่าให้คนที่ทำนโยบายแบบนี้ได้มีโอกาสบริหารประเทศ เพราะเมื่อประเทศก้าวลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ ใครอยู่ในระบบไม่กระทบด้านหนึ่งด้านใดเลย เห็นจะยาก

การบริหารประเทศให้มีเสถียรภาพต้องพยายามรักษาดุลยภาพทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไว้พร้อมๆ กันไป เป็นเก้าอี้สามขา เวเนซุเอลาในวันนี้ ทั้งสามขากำลังปั่นป่วนรวนเรพร้อมๆ กัน

นวพร เรืองสกุล
thaidialogue.wordpress.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image