จิตวิวัฒน์ : ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ 3 ฉบับ ร่างที่ไร้จิตวิญญาณสหกรณ์ : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

ผมเคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อหลายเดือนก่อน ชื่อบทความคือ “เมื่อจิตวิญญาณสหกรณ์ถูกเบียดและบดบังด้วยมาตรฐาน/เกณฑ์กำกับทางการเงินและการบัญชี” สะท้อนให้เห็นว่าการที่กรมส่งเสริมและกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทยอยออกมาตรการและเกณฑ์กำกับมากำกับและควบคุมสหกรณ์ตามนโยบายของหน่วยเหนือ เป็นการทำร้ายและทำลายจิตวิญญาณสหกรณ์ ผมเขียนไว้แบบนี้ครับ

“เมื่อจิตวิญญาณสหกรณ์ (ปรัชญา ค่านิยม หลักการ และอุดมการณ์ของสหกรณ์) ถูกเบียดและบดบังด้วยมาตรฐาน/เกณฑ์กำกับทางการเงินและการบัญชีที่เป็นสากล ที่สถาบันทางการเงินกระแสหลักยึดถืออยู่ ขบวนการสหกรณ์ก็ถูกบิดเบือนและบังคับให้ดำเนินการตามแนวคิด แนวทาง และแนวปฏิบัติของสถาบันการเงินกระแสหลัก (เศรษฐกิจเสรี ทุนนิยม) ที่มุ่งเน้นการแข่งขัน มากกว่าความร่วมมือ เน้นมาตรการที่แข็งตัวและอิงมาตรฐาน (สากล) ระหว่างสถาบันกับลูกค้า มากกว่าความยืดหยุ่นและเอื้ออาทรระหว่างสหกรณ์กับสมาชิกของสหกรณ์และระหว่างเพื่อนสหกรณ์ด้วยกัน…”

แต่เมื่อได้อ่านร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่…) พ.ศ…ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งได้แก่ฉบับที่

1.เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ชุดที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

Advertisement

2.เสนอโดย พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง กับคณะ ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

3.เสนอโดยนายมงคลัตถ์ พุกะนัตต์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 16,047 คน ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แล้วพบว่า จากหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ มุ่งเน้นไปที่การปรับระบบการบริหารจัดการตามแนวทางของสถาบันการเงินกระแสหลักโดยทั่วไป เน้นเรื่องการกำหนดและเพิ่มอำนาจให้กับนายทะเบียนสหกรณ์ เน้นการกำกับ ควบคุม ดูแล มากกว่าการส่งเสริมและการพัฒนาสหกรณ์ เน้นบทลงโทษที่ชัดเจนและเข้มข้นขึ้น ไม่มีการเน้นเรื่องการส่งเสริม การพัฒนา และการธำรงรักษาไว้ซึ่งจิตวิญญาณสหกรณ์ (ปรัชญา ค่านิยม หลักการ และอุดมการณ์ของสหกรณ์) โดยเฉพาะการช่วย เกื้อกูลกันใน 3 ระดับ ได้แก่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกของสหกรณ์ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อนสหกรณ์ และการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม

และเมื่อพิจารณาในรายมาตราในแต่ละหมวดของร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ก็ยิ่งชัดเจนว่าจุดเน้นโดยรวมทั้งหมดเป็นไปตามข้อสังเกตที่สรุปไว้ข้างต้น

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมจึงเน้นการกำกับ ควบคุม และการลงโทษ มากกว่าการส่งเสริม และพัฒนา? ทำไมจึงเน้นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน มากกว่าการสร้างและพัฒนาสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต? และที่สำคัญ ทำไมจึงเน้นการ “จำกัด” ศักยภาพการช่วยเหลือเกื้อกูลทั้ง 3 ระดับของสหกรณ์ มากกว่า “การส่งเสริมและพัฒนา” การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตามหลักการและอุดมการณ์ของสหกรณ์? หรือนี่คือร่างกฎหมายสหกรณ์ที่ไร้จิตวิญญาณสหกรณ์?

ที่จริงยังมีอีกหลายประเด็นที่ทั้ง 3 ร่างไม่ได้กล่าวถึง ตัวอย่างเช่น เรื่องสิทธิของสมาชิก สมาชิกสหกรณ์ควรมีสิทธิที่จะฟ้องโดยตรงได้หรือไม่?

เมื่อพิจารณาจำนวนสหกรณ์ทั่วประเทศ ทุกประเภทที่มีมาก จำนวนเงินหมุนเวียนในระบบสหกรณ์ที่มีจำนวนมหาศาล เป็นจำนวนหลายล้านล้านบาท เราควรมีศาลสหกรณ์หรือไม่? ศาลที่รู้ และเข้าใจปรัชญา ค่านิยม หลักการ อุดมการณ์ของสหกรณ์ ที่ผมรวมเรียกว่าจิตวิญญาณสหกรณ์

การร่างกฎหมาย การกำหนดข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเพื่อให้สหกรณ์ต้องปฏิบัติตาม ควรจะต้องคำนึงถึงปรัชญา ค่านิยม หลักการ อุดมการณ์และวิธีปฏิบัติของสหกรณ์ ที่แตกต่างไปจากสถาบันการเงินโดยทั่วไป ถึงแม้สหกรณ์โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะถูกพิจารณาว่าเป็นสถาบันทางการเงิน แต่สหกรณ์ก็มีหลักการพื้นฐานที่แตกต่างไปจากสถาบันการเงินทั่วไป สหกรณ์ถือกำเนิดและดำเนินการไปบนพื้นฐานของการรวมตัวกัน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมสร้างการอยู่ดีกินดี มีความสุขของมวลสมาชิก มิได้มุ่งแต่การแสวงหาผลกำไรทำนองเดียวกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์

ที่เขียนมาทั้งหมด ก็หวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ จะกรุณานำไปพิจารณาประกอบการร่าง ร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ ฉบับที่มีจิตวิญญาณสหกรณ์

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image