สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

1.ความพยายามของ‘คณะราษฎร’
ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้พยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรส่วนใหญ่มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งมีอยู่ข้อหนึ่งที่ระบุว่า จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

คณะราษฎรได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ให้คณะราษฎรพิจารณา แต่ภายหลังที่ได้ร่างเสร็จแล้ว เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับได้รับการปฏิเสธจากรัฐบาลและสมาชิกของคณะราษฎรบางส่วน รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชวิจารณ์ในลักษณะที่ไม่ทรงเห็นด้วย ทั้งนี้ เป็นเพราะเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีทางเศรษฐกิจที่สังคมไทยเคยมีมา
เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ประกอบด้วยข้อเสนอ 2 ส่วน คือ

1) การเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์ คือ การเสนอให้โอนที่ดินที่เป็นปัจจัยการผลิตทั้งหมดเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของปัจจุบันในรูปพันธบัตรเงินกู้ ให้โอนทุนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นของรัฐ โดยให้ค่าตอบแทนในลักษณะเดียวกัน หากเจ้าของทุนปรารถนาจะดำเนินกิจการของตนเองต่อไปก็ต้องพิสูจน์ว่า จะได้พอเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว ถ้าพิสูจน์ได้รัฐบาลก็จะอนุญาตเป็นรายๆ ไป ส่วนของต่างประเทศจะได้รับสัมปทานให้ดำเนินการชั่วเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน

2) การจัดพัฒนาการเศรษฐกิจเพิ่มหลังการผลิตของประเทศ เพื่อปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายนี้ รัฐจะเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ ทั้งเป็นผู้จัดการบริหารกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองด้วยการวางแผนเศรษฐกิจ รัฐสามารถควบคุมการใช้ทุนอันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคุมให้มีการลงทุนในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ระยะยาวแก่ประเทศอย่างแท้จริง

Advertisement

ในการปฏิบัติงานให้บรรลุตามแผน มุ่งให้หน่วยงานสหกรณ์เป็นผู้ร่วมกระทำด้วยเพื่อที่จะดูแลกิจการต่างๆ ได้ทั่วถึง โดยให้รัฐจัดสหกรณ์แบบเต็มรูปขึ้น กล่าวได้ว่าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจ เป็นการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างมีแผน มุ่งกระจายรายได้และทรัพย์สินในระบบให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น แต่จะไม่มีการริบทรัพย์สิน จะใช้วิธีการซื้อที่ดินและโรงงานด้วยพันธบัตร ขณะเดียวกัน ก็ยังมีนายทุนที่ได้รับสัมปทานดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย
ความพยายามที่จะแสวงหาแนวทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับการต่อต้านจนต้องเลิกล้มแผนการดังกล่าว เพราะแม้แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเขียนบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยคัดค้าน โดยพระองค์ก็ทรงเห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำลายเสรีภาพของราษฎร
เค้าโครงการเศรษฐกิจผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2476 แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคมปีเดียวกันนี้เอง เค้าโครงเศรษฐกิจก็ถูกยับยั้งด้วยคะแนนเสียง 11 ต่อ 3 ไม่ออกเสียง 5 คะแนน ในที่สุดเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ต้องระงับใช้

2.การเสริมสร้างเศรษฐกิจตามระบบทุนนิยม
โดยการนำของรัฐในสมัย‘จอมพล ป.’
ภายหลังที่ จอมพล ป.พิบูลสงครามได้เป็นผู้นำรัฐบาลใน พ.ศ.2481-2482 ความพยายามที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของระบบศักดินาที่มีมาแต่เดิม โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นต้นความคิด

ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมีลักษณะเป็นระบบทุนนิยมโดยการนำของรัฐ กล่าวคือ สนับสนุนบรรดานายทุนน้อย ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และชาวนาผู้ร่ำรวยเป็นอันดับแรก แต่ก็มิได้ขัดขวางการขยายตัวของนายทุนอุตสาหกรรมใหญ่ และทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชาติ ซึ่งหมายถึงระบบราชการที่สั่งการโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

Advertisement

รัฐต้องซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมเป็นครั้งคราว และรัฐต้องขายที่ดินเหล่านั้นแก่ชาวนาคนไทยทุกคนจะต้องมีที่ดินไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามควรแก่อัตภาพ ชนชั้นกลางขนาดย่อมจะต้องรวมตัวกันในการผลิตและการค้าในรูปสหกรณ์ โดยต่างฝ่ายยังคงเป็นเจ้าของในปัจจัยการผลิต ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยการนำของรัฐดังกล่าว ก็คือ ระบบเศรษฐกิจแบบชาตินิยม นั่นเอง

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วง พ.ศ.2481-2487 มีลักษณะดังนี้ คือ รัฐเข้าร่วมในการลงทุนเป็นรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมและความร่วมมือในการลงทุน

3.ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก อันเนื่องมาจากการขาดแคลนข้าวบริโภค ทั้งนี้ เป็นผลมาจากอุทกภัยใน พ.ศ.2485 ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายหมด นอกจากนั้น ข้าวที่ผลิตได้ต้องถูกญี่ปุ่นบังคับซื้อเพื่อนำไปเลี้ยงทหารญี่ปุ่นทั้งที่ตั้งอยู่ในและนอกประเทศ

ต่อมาวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2489 ในถ้อยคำข้อตกลงสมบูรณ์แบบกับอังกฤษในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งตามสัญญาไทยจะต้องส่งข้าวเป็นจำนวน 1 ล้าน 5 แสนตันให้กับอังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า ทำให้เกิดการขาดแคลนข้าวภายในประเทศและยังมีการลักลอบนำข้าวส่งไปขายต่างประเทศ เพราะได้ราคาสูงกว่าภายในประเทศ

นอกจากนี้ ผลของสงครามทำให้เศรษฐกิจของไทยตกต่ำ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าของเงินลดลง สินค้าราคาแพง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

การที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าของเงินตกต่ำ และราคาสินค้าสูง สืบเนื่องมาจากการพิมพ์ธนบัตรออกใช้มีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อันเป็นผลมาจากการใช้เงินของคนญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยในระหว่างสงคราม งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลสูงกว่ารายรับทุกปี นอกจากนี้ ไทยยังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศเพราะตาม “สัญญาสมบูรณ์แบบ” ที่ไทยทำกับอังกฤษหลังสงคราม ได้ห้ามไทยส่งสินค้าออกที่สำคัญ คือ ดีบุก ยางพารา ไม้สัก ซุง ไปขายนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากองค์การระหว่างประเทศที่จะระบุไว้ในสัญญาเสียก่อน ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสำหรับซื้อสินค้า เพื่อบรรเทาความขาดแคลนภายในประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

รัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหา เช่น ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศเก็บธนบัตรใบละพันบาทเข้าคลัง อนุญาตให้เปิดบ่อนการพนันชั่วคราว เพื่อจะได้เก็บค่าธรรมเนียม และภายหลังสงคราม รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ได้กู้เงินจากสหรัฐอเมริกา 10 ล้านดอลลาร์ จากอินเดีย 50 ล้านรูปี รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ทำการขยายทองคำทั้งในประเทศและนอกประเทศ
แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น

4.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
อันสืบเนื่องมาจากนโยบาย
ต่อต้านคอมมิวนิสต์ของไทย
สมัย‘จอมพล ป.’(พ.ศ.2491-2500)
ภายหลังการรัฐประหาร ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 แล้ว จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.2491 ปรากฏว่า การเมืองระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงไป สืบเนื่องมาจากประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ใน พ.ศ.2492 สหรัฐอเมริกาเกรงว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะมีอิทธิพลครอบงำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถ้าอินโดจีนต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ย่อมจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาจึงเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์

ใน พ.ศ.2493 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทย ด้วยการทำสัญญาความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหาร และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค ซึ่งสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจนั้น จะสามารถสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ได้ สหรัฐอเมริกาจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในรูปแบบขององค์การค้าเสรี นโยบายดังกล่าวของสหรัฐอเมริกาทำให้สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาเกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันนายทุนพาณิชย์ที่เป็นคนจีน ได้รวมตัวกันขึ้นเป็นสมาคมเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของพวกตน เช่น สมาคมพ่อค้าเพชรพลอย สมาคมพ่อค้าสุรา สมาคมธุรกิจการโรงแรม และการท่องเที่ยว สมาคมพ่อค้าขายส่งน้ำแข็ง สมาคมพ่อค้ากาแฟ สมาคมพ่อค้ายาสูบ

บรรดาพวกนายทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน เข้ามาทำธุรกิจต่างๆ ในเมืองไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็จะมีหอการค้าของตน เช่น หอการค้าอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และอินเดีย
การที่รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมให้มีกองทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นเพราะประเทศไทยในระยะนี้ได้มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้น การหวังพึ่งประเทศตะวันตกที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการทหารที่เข้มแข็ง ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศไทยทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาลงทุนก็เท่ากับเปิดสัมพันธภาพที่ดีต่อประเทศเหล่านี้

รัฐบาลในยุคนั้นได้ออกกฎหมายสงวนอาชีพไว้สำหรับคนไทย รัฐบาลเข้าควบคุมกิจการบางชนิด เช่น ธุรกิจการขนส่งทางน้ำ การจำหน่ายสุรา ประกาศให้กิจการช่างตัดผมเป็นอาชีพของคนไทย และกิจการโรงเลื่อยมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีหุ้นของคนไทย 75 เปอร์เซ็นต์

รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ต้องการให้นายทุนทั้งหลายรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นมั่นคง เพื่อให้มีการต่อรองกับต่างประเทศ และเพื่อให้กลุ่มพ่อค้านายทุนที่รวมตัวกันนั้นสนับสนุนนโยบายรัฐบาล คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2497 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการจัดตั้งสภาการค้าขึ้น ให้เป็นศูนย์กลางของนักธุรกิจทุกชาติในประเทศไทย ทั้งผู้นำเข้าส่งออก ประกอบการผลิต การอุตสาหกรรม การธนาคาร การประกันภัย การขนส่งและการค้าอื่นๆ โดยกำหนดให้ทำหน้าที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินการส่งเสริมการค้า และจัดระเบียบการค้า ตลอดจนทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า

รัฐบาลได้จัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย ใน พ.ศ.2495 ทำการผูกขาดการค้าน้ำตาล จัดตั้งบริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ ใน พ.ศ.2497 เพื่อดำเนินธุรกิจการค้า กองทัพบกได้จัดตั้งโรงงานทอผ้า ใช้เครื่องจักรโรงงาน 2 แห่ง เมื่อ พ.ศ.2493 บริษัทเชลล์และเอสโซ่ได้ซื้อกิจการโรงกลั่นมูลค่า 8 ล้านบาท และเช่าที่ที่ช่องนนทรี 600 ไร่ สัญญาเช่า 30 ปี ฯลฯ

เหล่านี้คือตัวอย่างของระบบทุนนิยมในประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2491-2500 ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image