ดุลยภาพดุลยพินิจ : ท่องเที่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และจะเป็นกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะภาคท่องเที่ยวนั้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าภาคเกษตรแล้ว และยังจ้างงานมากกว่าภาคอุตสาหกรรมเสียอีก ถ้ามาดูด้านการดุลชำระเงิน เวลานี้รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจาการท่องเที่ยวก็สูงกว่าดุลชำระเงินด้านการค้าแล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อมามองในมุมของการกระจายรายได้ก็จะเห็นว่ารายได้จากการท่องเที่ยวนั้นกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ไม่กี่แห่ง อยู่ในกรุงเทพมหานครถึงร้อยละ 38 อยู่ในภูเก็ตร้อยละ 18 รวมกันแล้วแค่สองจังหวัดก็รับไปกว่าร้อยละ 56 ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ

หากเราลองมาพิจารณาตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่เรียกว่า ดัชนีจีนี่ ซึ่งใช้แพร่หลายกันทั่วโลกเพื่อวัดการกระจายรายได้ ค่าจินี่นี้ถ้ามีค่าใกล้ 0 หรือค่ายิ่งต่ำก็ยิ่งดี แต่ถ้ามีค่าใกล้หนึ่งมากเท่าใด จะถือว่ามีการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำมาก ค่าจีนี่ของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในระดับจังหวัดของไทยจะอยู่ที่ 0.68 แต่ถ้าดูค่าจีนี่ของการกระจายรายได้ระดับครัวเรือนของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 0.44 ข้อมูลนี้ดูเหมือนจะบอกว่าเรามีความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัดมากกว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้ต่างกัน

แต่หากดูค่าจีนี่ของรายได้จังหวัดวัดจากอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ดัชนีนี้จะสูงถึง 0.86 และรายรับจากการท่องเที่ยวระดับจังหวัด ก็จะมีขนาดใกล้เคียงกันคือ 0.85 สรุปก็คือว่าการกระจายรายได้วัดจากมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวระดับจังหวัดนั้นเลวร้ายไปกว่ารายได้ของมูลค่าเพิ่มรวมของจังหวัด

Advertisement

คำถามก็คือว่า เราควรจะใช้ค่าจีนี่ตัวไหนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์บริบทแห่งความสำเร็จของการพัฒนาการท่องเที่ยว

ผู้เขียนเห็นว่าในเบื้องต้นนี้น่าจะใช้ค่าจีนี่ของรายได้จากการท่องเที่ยวในระดับจังหวัด ไม่ว่าจะวัดจากมูลค่าเพิ่มหรือวัดจากรายจ่ายของนักท่องเที่ยว จะดีกว่าการใช้รายได้ของครัวเรือน เพราะข้อมูลมีพร้อม การวัดง่ายกว่า ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและมีตัวชี้วัดด้านนโยบายสาธารณะด้านการจัดการการท่องเที่ยวในระดับจังหวัดมาใช้แก้ไขปัญหาได้ชัดเจนกว่า ทั้งนี้ เพราะการวัดค่าจีนี่นั้น ถ้าวัดในระดับประชากรก็ต้องมีค่ารายได้ของประชากรทุกคนหรือทุกครัวเรือน และมีนโยบายสาธารณะอื่นๆ ที่สำคัญกว่าเข้ามาอีกมากมาย เพราะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยต้องไม่หวังพึ่งแค่การท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างเดียว แต่ต้องแก้ไขโดยจัดการปัญหาเรื่องที่ทำกิน การกระจายอำนาจ การออก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะได้จัดทำตัวชี้วัดในระดับจังหวัดในด้านรายได้จากการท่องเที่ยวและยังมีตัวชี้วัดด้านนโยบายสาธารณะอื่นๆ ในระดับจังหวัด เช่น ความสามารถในการรองรับขั้นพื้นฐานของสาธารณูปโภค ความพร้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้านสิ่งดึงดูดใจ คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้น เมื่อมีข้อมูลเป็นชุดเช่นนี้ก็จะเห็นชัดเจนขึ้นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากความไม่สมบูรณ์ด้านไหน ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น

Advertisement

เมื่อใช้ข้อมูลชุดนี้ในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการท่องเที่ยว พบว่า การขับเคลื่อนด้านดีมานด์การท่องเที่ยวในระดับจังหวัดนั้นค่อนข้างจะจำกัดแล้ว เพราะว่าเราได้โฆษณาไปมากจนนักท่องเที่ยวก็ออกไปเที่ยวมากแล้ว แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่าในปัจจุบันนี้เมืองท่องเที่ยวรองมีขีดจำกัดด้านการรองรับมาก ยกตัวอย่างว่า เชียงใหม่น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการใช้สิ่งดึงดูดใจ ส่วนลำปางมีโครงสร้างพื้นฐานดี แต่ใช้เพื่อการท่องเที่ยวไม่เต็มศักยภาพ นโยบายที่สำคัญก็คือจะต้องทำให้เมืองมีความสามารถในการรองรับดีขึ้น ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น เพราะเมืองน่าอยู่ก็คือเมืองที่น่าท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี หากหน่วยงานของรัฐมีโครงการที่จะใช้การท่องเที่ยวเข้าไปปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับพื้นที่โครงการโดยมีกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ชัดเจน ก็สามารถใช้ค่าจีนี่ระดับครัวเรือนได้ เพราะการเก็บข้อมูลก็คงอยู่ในวิสัย แต่โดยธรรมชาติแล้ว การแก้ไขปัญหาการ

กระจายรายได้โดยใช้การท่องเที่ยวนั้นก็จะมีอุปสรรคเหมือนวิธีการอื่นๆ กล่าวคือกลุ่มที่จนที่สุดเป็นกลุ่มที่ไม่เหมาะที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่แล้ว เช่น เป็นกลุ่มคนพิการ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง กลุ่มผู้สูงวัย กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มเปราะบาง ดังนั้น บุคคลกลุ่มนี้มีชีวิตที่มีความเสี่ยงสูงและไม่ใช่กลุ่มที่สามารถลงทุน

เราควรจะมองว่าการท่องเที่ยวเป็นวิธีการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นวิธีการที่ยกระดับรายได้ให้กับชุมชน เป็นวิธีการที่ให้โอกาสและทางเลือกใหม่แก่ชุมชน มากกว่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้ชุมชนมีรายได้เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มที่ล่างสุดกับกลุ่มที่สูงสุด เพราะการท่องเที่ยวก็เหมือนอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องมีการลงทุน ดังนั้น เมื่อเรานำการท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนแล้วก็จะพบเหมือนกันเลยว่าคนที่สามารถทำโฮมสเตย์ มีรถรับส่งนักท่องเที่ยวก็คือคนที่รวยกว่าในหมู่บ้านนั่นเอง ส่วนคนที่ไปเป็นมัคคุเทศก์ได้ก็มักจะเป็นลูกหลานของคนที่รวยกว่าในหมู่บ้านที่มีการศึกษาและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่านั่นเอง กลุ่มที่จนที่สุดเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการสงเคราะห์จากรัฐไม่ใช่การสนับสนุนให้ลงทุนด้านการท่องเที่ยว

ถึงแม้การท่องเที่ยวอาจจะลดความเหลื่อมล้ำได้ไม่ถึงที่สุด แต่ก็เป็นทางเลือกที่ทำให้รายได้มากขึ้นจากการเป็นแหล่งจ้างงาน และต้องเน้นว่าการท่องเที่ยวที่ดีต้องไม่เบียดคนจนออกไปจากสังคมและถิ่นฐานที่เขาเคยอยู่

ทิศทางด้านนโยบายการท่องเที่ยวที่ถูกต้องก็คือ
1) ใช้นโยบายภาษีอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศได้ผลประโยชน์มากสุด 2) ให้นักท่องเที่ยวจ่ายตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่นักท่องเที่ยวสร้างขึ้นโดยไม่มีการอุดหนุน และควรบังคับให้นักท่องเที่ยวทำประกันซึ่งครอบคลุมด้านอุบัติเหตุและสุขภาพอนามัย
3) บูรณาการระหว่างหน่วยงานโดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area based) 4) กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น 5) เน้นการจัดการทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
นักท่องเที่ยวจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็วและรุนแรงในอนาคต ซึ่งผู้เขียนเรียกว่าปรากฏการณ์เอสยกกำลัง 2 คือ สปีดกับสเกลรวดเร็วเกินกำลังรองรับของคนไทย ทำให้เกิดกลุ่มผู้ลงทุนจากจีนที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์อย่างครบวงจรทำให้คนไทยมีส่วนได้ประโยชน์ต่ำลง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรจะแก้ไขโดยใช้นโยบายภาษีมากกว่าที่จะไปไล่จับนอมินีจีนเหมือนเป็นพวกอาชญากร
ประเทศท่องเที่ยวควรเป็นประเทศที่ใจกว้างกับนานาชาติ และบังคับใช้กฎหมายมากำกับกิจการท่องเที่ยวไม่ให้เกิดผลลบต่อสังคมและเจ้าของพื้นที่ที่ถูกท่องเที่ยว และเกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจมากที่สุด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image