ไทยพบพม่า : สมาคมวิจัยพม่ากับวัฒนธรรมการอ่านในพม่ายุคใหม่

หลายปีมาแล้ว เพื่อนผู้หนึ่งยื่นแผ่นซีดีแผ่นหนึ่งให้ผู้เขียน บนแผ่นซีดีมีรอยปากกาเขียนด้วยลายมือหวัดว่า “JBRS” เพื่อนย้ำกับผู้เขียนว่า “อย่าเอาไปให้ใครล่ะ” สำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และการศึกษาเกี่ยวกับพม่า คงไม่มีใครไม่รู้จัก “JBRS” หรือวารสารแห่งสมาคมวิจัยพม่า (Journal of Burma Research Society) ที่ออกสู่พื้นบรรณภิภพครั้งแรกเมื่อปี 1911 (พ.ศ.2454) เมื่อเปิดซีดีออกมาดู ก็พบว่ามีไฟล์วารสาร JBRS อยู่ครบทุกเล่ม และมีบทความทุกชิ้น นับตั้งแต่ JBRS เล่มแรก จนถึงเล่มสุดท้ายในปี 1977 (พ.ศ.2520) ในรูปแบบไฟล์ pdf ทำให้ผู้เขียนย้อนกลับไปนึกถึงร้านหนังสือในย่างกุ้ง ที่นอกจากจะขายหนังสือหลากหลายประเภทในราคาถูกอย่างเหลือเชื่อแล้ว แทบทุกร้านยังมีหนังสือภาษาอังกฤษที่ถ่ายเอกสารมาและนำมาเย็บเล่มเหมือนหนังสือต้นฉบับแบบไม่ผิดเพี้ยน

นิสัยรักการอ่าน และความกระหายความรู้ กอปรกับข้อมูลร้อยแปดของคนพม่า น่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ระบอบอาณานิคมทิ้งไว้ให้ เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับนิสัยรักการอ่าน และความคึกคักของแวดวงสิ่งพิมพ์ในอินเดีย (ในอดีต อังกฤษเคยปกครองพม่าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย) ทำให้หนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งในพม่าและอินเดียมีราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ และยังมีเว็บไซต์ที่อุทิศให้กับอีบุ๊ก และหนังสือเก่าๆ ในรูปแบบไฟล์ pdf อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ ตำรับตำราทางประวัติศาสตร์ และฐานข้อมูลได้มากพอๆ กับนักวิชาการในพม่า

ผู้เขียนสันนิษฐานว่าสำนึกรักการอ่าน และความตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์และประเด็นอื่นๆ ในสังคมพม่ามีมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อมีโรงเรียนทั้งที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และที่สอนเป็นภาษาพม่าเกิดขึ้นทั่วไป และยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีสถาบันการศึกษาระดับสูงขึ้นในพม่าตั้งแต่ปี 1920 (พ.ศ.2463) เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อย่างมหาวิทยาลัยย่างกุ้งมีอาจารย์ชาวต่างชาติที่สับเปลี่ยนกันมาสอน และยังมีอาจารย์ชาวต่างชาติที่อยู่ประจำ เปรียบเสมือน “ครูใหญ่” หรือ “สะยาจี” ที่เติมแนวคิดแบบตะวันตกให้กับคนหนุ่มสาวพม่า หนึ่งในแนวคิดนั้นคือลัทธิชาตินิยม หรือการกระตุ้นเร้าความภูมิใจในชาติ ในช่วง 25 ปีแรกหลังสมาคมวิจัยพม่าก่อตั้งขึ้นมา ผู้ก่อตั้ง ซึ่งนำโดยเจ.เอส. เฟอร์นิวอลล์ (J.S. Furnivall) และข้าราชการอาณานิคม (เรียกว่า “ICS” หรือ Indian Civil Service) ต้องการใช้พื้นที่ในสมาคมวิจัยพม่าเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวพม่าเอง และเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ หลังจากที่การเขียนประวัติศาสตร์ของพม่าเป็นหน้าที่ของชาวตะวันตกมานานหลายสิบปี

ความเห็นอกเห็นใจคนพม่าของข้าราชการอาณานิคมกลุ่มนี้นับเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็สอดรับกับกระแสของสมาคมเฟเบียน (Fabian Society) และลัทธิเฟเบียนที่กำลังมาแรงอยู่ในเกาะอังกฤษในขณะนั้น แนวคิดแบบเฟเบียนเน้นหลักการแบบสังคมนิยม การสร้างสหภาพแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตรงข้ามกับผู้นิยมคอมมิวนิสต์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเด็ดขาดผ่านการปฏิวัติและยังมีบางส่วนที่ต้องการใช้ความรุนแรง กระแสเฟเบียนสร้างข้าราชการอาณานิคมอังกฤษรุ่นใหม่ๆ ที่เห็นใจและเข้าใจคนพื้นเมือง พวกเขาพยายามสลัดคราบคนขาวในฐานะผู้ปกครองออกไป และสถาปนาองค์ความรู้ชุดใหม่ขึ้นเพื่อสร้างพลังให้กับคนพื้นเมือง เพื่อกรุยทางไปสู่การปกครองตนเองในอนาคต
ลักษณะของสมาคมวิจัยพม่าจึงแตกต่างออกไปจากสมาคมอื่นๆ ในพม่า เพราะสมาคมวิจัยพม่าอ้าแขนรับสมาชิกจากทุกเชื้อชาติและทุกชนชั้น ต่างกับสมาคมหรือสโมสรอื่นๆ ที่คนอังกฤษตั้งขึ้นมาเพื่อรักษาสถานะทางอำนาจของตน และเป็นแหล่งพบปะเฉพาะคนขาวด้วยกันเองเท่านั้น

Advertisement

สมาคมวิจัยพม่าเป็นแหล่งรวมผู้ที่สนใจประเด็นด้านพม่าศึกษา และผู้คนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและการเมืองในพม่า ว่ากันว่าเฟอร์นิวอลล์ ซึ่งมีความรู้ภาษาพม่าแตกฉานและเคยแต่งงานกับสตรีพม่า ได้รับแรงบันดาลใจเรื่องการสร้างและพัฒนาพม่าสมัยใหม่หลังได้ยินการบรรยายเกี่ยวกับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอู เม อ่อง (U May Oung) ทนายความชื่อดัง เป็นองค์ปาฐก แต่สำหรับเฟอร์นิวอลล์ เป้าหมายการพัฒนาและจรรโลงสังคมพม่าไม่ได้มีจุดเน้นที่ศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องสร้างสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการสร้างองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างผู้ปกครองอังกฤษและชาวพม่าที่เป็นผู้ถูกปกครอง ในประเด็นนี้ เฟอร์นิวอลล์ยอมรับว่าการก่อตั้งสมาคมวิจัยพม่าเป็นหมุดหมายแรกที่สร้างความรู้สึกชาตินิยมให้บรรดาอีลีทและผู้มีการศึกษาพม่า ที่ต่อมาจะกระจายไปถึงนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

แครอล โบเชียร์ (Carol Boshier) ผู้เขียนหนังสือ “Mapping Cultural Nationalism: The Scholars of the Burma Research Society, 1910-1935” (ว่าด้วยชาตินิยมทางวัฒนธรรม: นักวิชาการจากสมาคมวิจัยพม่า, ค.ศ.1910-1935) ซึ่งเพิ่งจะออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ใช้คำว่า “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” เพื่ออธิบายคุณูปการของวารสารแห่งสมาคมวิจัยพม่า โบเชียร์ชี้ให้เห็นว่ากระแสชาตินิยมทางวัฒนธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในพม่า แต่เกิดขึ้นในสังคมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทุกแห่ง เช่น การเกิดขึ้นของสยามสมาคมในปี 1904 (พ.ศ.2447) หรือสมาคมอารยา สามาจ (Arya Samaj) ในอินเดีย (ก่อตั้ง ค.ศ.1875/พ.ศ.2418) ที่เน้นการศึกษาวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของชาวอารยัน ผสมผสานความเป็นสมัยใหม่เข้ากับวัฒนธรรมและศาสนาของคนพื้นเมือง จนเกิดเป็นเวทีแห่งการถกเถียง และเป็นวงวิชาการที่ใช้หลักฐานและเหตุผลมากกว่าอคติส่วนบุคคล

อาจกล่าวได้ว่า สมาคมวิจัยพม่านี่แหละที่บ่มเพาะกระแสชาตินิยมในยุคแรกๆ ที่เน้นการสร้างประเทศในแนว “พม่าเพื่อคนพม่า” และการร่วมสร้างอัตลักษณ์แบบพม่าขึ้นมาผ่านเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีที่ทยอยลงตีพิมพ์ในวารสารของสมาคม ซึ่งมีทั้งนักเขียนที่เป็นชาวพม่า และชาวตะวันตกปะปนกันไป แต่ต่อมาแนวทางแบบสันติและการสร้างอัตลักษณ์ผ่านกระบอกเสียงของสมาคมจะถูกทดแทนด้วยการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรง และความโกรธแค้นที่ชาวพม่ามีต่อระบบอาณานิคม นับแต่ทศวรรษที่ 1930 เรื่อยมา

Advertisement

เมื่อย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของสมาคมวิจัยพม่าก็จะเห็นว่าเป็นขบวนการชาตินิยมพม่าอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งสมาชิกแสดงออกถึงความภาคภูมิใจของความเป็นชาติแตกต่างจากสมาคมการเมืองอื่นๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์ และประวัติศาสตร์-โบราณคดีของพุกาม อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพม่า ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบโดยนักวิชาการชั้นครูอย่างเพ หม่อง ติน (Pe Maung Tin) และ จี.เอช. ลูซ (G.H. Luce) วงวิชาการของสมาคมยังขยายไปถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ศิลปะ และได้สร้างศิลปินคนสำคัญคนแรกๆ ของพม่า ได้แก่ อู บา ญาณ (U Ba Nyan) สมาคมวิจัยพม่าผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 6 ทศวรรษ

แม้นจะผ่านระบอบเผด็จการมาได้ แต่สุดท้ายก็ต้องปิดฉากลงในปี 1977 ปิดตำนานสมาคมทางวิชาการที่คึกคักอันแสนทรงเกียรติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image