ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ในครั้งที่ขึ้นบัลลังก์ โดย : กล้า สมุทวณิช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2541 จำนวน 13 ท่าน

ทั้ง 13 ท่านนี้ ซึ่งรวมถึง ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ด้วย ในฐานะของผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกโดยความเห็นชอบของวุฒิสภาจากการเสนอของคณะกรรมการสรรหา

ในตอนนั้นท่านมีอายุ 53 ปี ถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านอื่น ซึ่งมาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลทหาร นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ และนักการทูต โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนั้น มีท่านเชาวน์ สายเชื้อ เป็นประธาน

ก่อนหน้านั้น ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ ถือเป็น “นักวิชาการ” ที่มีบทบาททั้งในวงการวิชาการและวงการการเมืองแบบเชิงรุก ผู้สร้างนวัตกรรมและวาทกรรมหลายต่อหลายเรื่อง เช่นเป็นคนแรกๆ ที่กล่าวถึงเรื่องของการ Globalization ด้วยคำของท่านเองคือ “โลกานุวัตร” ซึ่งเป็นคำฮิตติดตลาด ก่อนที่ราชบัณฑิตยสถานได้ปรับแบบ “แก้เล็กน้อย” เป็น “โลกาภิวัตน์” เพราะผู้คนทั่วไปคุ้นชินกับคำที่ ดร.ชัยอนันต์คิดไว้แล้ว

Advertisement

เช่นนี้ เมื่อท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเหมือน “ผู้พิพากษา” ในทางรัฐธรรมนูญ เป็นสถานะใหม่ที่ท่านไม่เคยได้รับมาก่อน ในแวดวงวิชาการจึงรอชมว่าภายใต้เสื้อครุยของตุลาการนี้ ท่านจะดำเนินบทบาทอย่างไร

โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้วางแนวทางไว้ว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนจะต้องทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนก่อนการลงมติ เช่นนี้ด้วยที่มา ภูมิหลัง และประสบการณ์อันแตกต่างกันของตุลาการ หากเราไปลองอ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละท่านในสมัยนั้น ก็จะได้พบเห็นความหลากหลายของแนวทางการเขียน เช่น บางท่านเขียนเหมือนคำพิพากษา บางท่านเขียนเหมือนตอบข้อหารือทางกฎหมาย ส่วนของศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์นั้น มีผู้กล่าวไว้ว่า “เหมือนเป็นบทความทางวิชาการ”

อย่างไรก็ตาม ท่านดำรงตำแหน่งดังกล่าวในระยะสั้นๆ เพียงสองปี ก่อนจะยื่นใบลาออกมาแบบเงียบๆ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2543 โดยไม่ได้บอกเหตุผลต่อสาธารณชน

Advertisement

กระนั้น ในระหว่างช่วงเวลาสองปี ท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ส่วนใหญ่จะเป็น “เสียงข้างน้อย” แต่ด้วยแนวคิดทางวิชาการที่ได้แสดงไว้ในคำวินิจฉัยของท่านหลายต่อหลายเรื่อง ก็ได้ถูกนำมาศึกษาอ้างอิง และเป็นความคิดที่ถูกยกขึ้นมาศึกษา พิจารณา ใคร่ครวญเพื่อทานน้ำหนักของฝ่ายเสียงข้างมาก ที่มีผลเป็นคำวินิจฉัย

คดีโด่งดังมากคดีหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นครั้งที่ทำให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นที่รู้จักต่อคอการเมืองในวงกว้าง และน่าจะเป็นคดีแรกของอีกนับสิบคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน “ขัดใจ” ประชาชนคนส่วนใหญ่ ได้แก่ กรณีตรวจสอบสถานภาพของการเป็นรัฐมนตรีของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งในระหว่างนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2542

ในครั้งนั้น ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำพิพากษาให้นายเนวิน ชิดชอบ จำเลย มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่โทษจำคุกให้รอไว้ จึงเกิดประเด็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเนวินจะต้องสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสมัยนั้นหรือไม่ ซึ่งมีข้อโต้แย้งว่าคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด และนายเนวินก็ยังไม่ได้ถูกจำคุกจริง ซึ่งมาตรา 216 (4) ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ได้บัญญัติเพียงว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกเท่านั้น

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชุดนั้นได้วินิจฉัยไว้สรุปว่า การรอการลงโทษมิใช่เป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุก จึงถือไม่ได้ว่านายเนวิน ชิดชอบ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว

แต่ในคำวินิจฉัยส่วนตนของ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ ได้วินิจฉัยไว้ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าเห็นว่าในกรณีที่เกิดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญกับบทบัญญัติของกฎหมายทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายอาญา จะต้องยึดถือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเป็นหลักเพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกติกาหลักในการปกครองประเทศ ส่วนความขัดแย้งและหรือความคลุมเครือไม่ชัดเจนที่เกิดจากบทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเองนั้น จะต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ… เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ อาศัยหลักของความแตกต่างตามระดับความสำคัญของตำแหน่ง ซึ่งใช้กำหนดคุณสมบัติและข้อห้ามของบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง และบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งแล้ว แต่ต้องพ้นไปในส่วนที่เกี่ยวกับการถูกลงโทษจำคุกหรือคุมขังไว้ต่างกันอย่างชัดแจ้ง…”

“…การที่ศาลมีคำพิพากษาว่า นายเนวิน ชิดชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้น ศาลใช้การลงโทษอย่างมีเงื่อนไข คือ ลงโทษจำคุกโดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี จัดว่าเป็นการใช้กฎหมายของศาลยุติธรรม และนายเนวิน ชิดชอบ มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตลอดจนได้รับประกันสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นพลเมืองคนหนึ่งทุกประการ… แต่นายเนวิน ชิดชอบ มีสามสถานภาพ คือ นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะพลเมือง นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะเป็นรัฐมนตรี ความเป็นพลเมืองของนายเนวิน ชิดชอบ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างแน่นอน นายเนวิน ชิดชอบ สามารถดำเนินการตามสิทธิเหล่านั้นได้ ส่วนความเป็นรัฐมนตรีของนายเนวิน ชิดชอบ เป็นอีกสถานภาพหนึ่ง ซึ่งเงื่อนไขของความเป็นอยู่ ความเป็นไป ตลอดจนการสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีนั้น จะต้องพิจารณาจากบทบัญญัติเฉพาะเรื่องนี้… การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายเนวิน ชิดชอบ มิได้ก่อให้เกิดการทำลาย หรือลด หรือกระทบสิทธิตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายอาญาของนายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะพลเมืองแต่ประการใด นอกจากนั้น แม้นายเนวิน ชิดชอบ จะต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ก็ยังคงสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ เพราะยังมิได้ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก… การวินิจฉัยสถานภาพของรัฐมนตรีจึงต้องมีความชัดเจน ไม่นำไปปะปนกับสถานภาพของบุคคลซึ่งก็มีฐานะเป็นพลเมือง และได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ…”

เช่นนี้ โดยความเห็นของผู้วินิจฉัย ท่านจึงเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเนวินต้องสิ้นสุดลงเพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุก แต่ก็ไม่ได้สิ้นสุดความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากก็เห็นว่าการจะให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งจะให้พิจารณาแต่เพียงว่ามีคำว่า “จำคุก” ก็ต้องพ้นตำแหน่งแล้ว น่าจะไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง แม้ต้องการให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดก็ตาม แต่ก็ควรที่จะต้องให้ถึงขั้นต้องได้รับโทษจำคุก มิใช่ว่าคำพิพากษาให้รอการลงโทษซึ่งเป็นเงื่อนไขของโทษจำคุก ซึ่งหากพิจารณาในแง่มุมนี้ ก็เป็นความเห็นทางวิชาการที่ในแง่นี้ก็ค่อนข้างยุติธรรม หากมองว่าการวินิจฉัยในเรื่องนี้จะส่งผลให้บุคคลต้องเสียสิทธิหรือสถานภาพ การตีความจึงต้องตีไปในทางที่ไม่ทำให้บุคคลเสียสิทธิสถานะดังกล่าว

หากในทรรศนะของ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ ที่ปรากฏตามคำวินิจฉัยส่วนตน ได้แยกสถานะของ “บุคคลธรรมดา” ผู้เข้ามา “ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง” ออกจากกัน เป็นสถานะในทางการเมือง และสถานะของบุคคล ซึ่งเราอาจจะอธิบายได้ว่าการดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นคือการที่บุคคลธรรมดาเข้าไปสิงสวมใน “กายาทางการเมือง” เพื่อใช้อำนาจรัฐ นายเนวินที่เป็นรัฐมนตรี จึงเป็นคนละคนกับนายเนวินที่สมรสกับนางกรุณา ชิดชอบ (เจ๊ต่าย) ดังนั้น คำพิพากษาที่ให้จำคุกโดยรอการลงโทษที่ยังไม่ถึงที่สุด จึงกระทบและทำลายกายทางการเมืองของนายเนวินผู้เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่สัมผัสต่อร่างกายของนายเนวินผู้เป็นบุคคลผู้ทรงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่ทำให้เขาต้องไปติดคุกจริงในเรือนจำ

อย่างไรก็ดีในที่สุด เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550 ลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีก็ได้รับการแก้ไขให้ชัดเจนขึ้น ตามมาตรา 182 (3) ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว “เมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” ซึ่งเป็นหลักการเช่นเดียวกับกับมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยอีกเรื่องที่ท่านเป็น “เสียงข้างน้อย” ที่น่าสนใจ ก็ได้แก่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2542 ที่ลูกหนี้ธนาคารได้โต้แย้งว่า การที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละธนาคาร ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้เอง (ที่สูงกว่าการกู้เงินระหว่างบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) เนื่องจากได้รับอำนาจจากประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยวางหลักการสำคัญว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ มิได้ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้ได้

ซึ่งความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยดังกล่าวก็ถือว่าถูกต้องชอบแล้วตามหลักกฎหมายมหาชนและกฎหมายปกครอง

หากท่านก็เห็นต่างออกไปว่า “…การถ่ายโอนอำนาจจากธนาคารแห่งประเทศไทยไปยังธนาคารพาณิชย์โดยอาศัยประกาศ ก่อให้เกิดสภาพบังคับและส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามามีอำนาจและบทบาทเสมือนหนึ่งเป็นธนาคารกลาง แต่โดยที่ธนาคารพาณิชย์เป็นองค์กรเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไร จึงไม่มีหลักประกันอันใดว่าธนาคารพาณิชย์จะดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติ… ดังนั้น การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนจึงต้องอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพราะในกระบวนการนี้มีตัวแทนของปวงชนอยู่ด้วย…” ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัย

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ต้องกล่าวไว้ คือในขณะมีคำร้องเรื่องนี้ “ศาลปกครอง” นั้นยังมิได้จัดตั้งขึ้น อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ทำให้ท่านเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลในระบบกฎหมายมหาชนที่ตรวจสอบเมื่อมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงควรรับเรื่องนี้ไว้วินิจฉัย

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ถึงแก่กรรมโดยสงบแล้ว ในคืนค่ำของวันที่ 14 กันยายน 2561 และท่านอาจจะถูกจดจำจารึกอย่างหลากหลายด้วยสถานะหน้าที่ ทั้งในฐานะอาจารย์ นักวิชาการ นักคิด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักการศึกษา นักเขียน คอลัมนิสต์ และนักอะไรอีกสารพัดที่อาจจะบันทึกไว้ไม่หมด ในความทรงจำและการประเมินค่าให้ราคา ก็คงจะแตกต่างกันออกไปตามทัศนคติของแต่ละคนเช่นนั้น

ในส่วนของผู้เขียน ใคร่ขอบันทึกร่องรอยในทางวิชาการของท่านในครั้งที่เข้าไปสวมครุยใช้อำนาจตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการไว้อาลัย ณ ที่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image