สิ่งที่เลียนแบบกรมกองต่างๆ มีแทบจะครบแล้วในโลกแห่งอินเตอร์เน็ต : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

หากใครกำลังผิดหวังกับกฎเกณฑ์ใดๆ อยู่ ก็ขอให้อ่านบทความนี้ก่อน บางทีอาจจะพบกับการใช้และการตีความกฎหมายแบบใหม่ๆ ได้ เพราะสิ่งที่จะกล่าวนี้ล้วนแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นพลวัต เป็นของธรรมดา และเป็นของจริง

มีสิ่งหนึ่งที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย คือ ความเชื่อที่เหนียวแน่นตรงกันของประชาชนคนหมู่มาก และได้ลงมือทำลงไปเลยอย่างไม่ยอมอ่อนข้อนั้น เมื่อทำบ่อยๆ เข้าก็กลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณี และจะมีค่าบังคับเท่ากฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่ต่างกันเลย

ดังนั้น การจะปฏิรูปอะไรโดยไม่ต้องแก้กฎหมายก็น่าจะมีทางอยู่ เพราะระบบกฎหมายที่มีอยู่เดิมก็เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเปิดทางให้กฎหมายจารีตประเพณีนั้นได้แทรกตัวเข้าไป เช่น กฎหมายที่มีอยู่เดิมเปิดทางให้ประชาชนใช้สิทธิทาง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ สิทธิในการร้องเรียน ตรวจสอบ ทั้งทางแพ่งทางอาญา และทางปกครอง แทบไม่ต้องรอปฏิรูปอะไร เพียงใช้ฟังก์ชั่นของระบบกฎหมายเดิมให้ถูกช่องทางก็น่าจะเพียงพอให้เกิดกฎหมายจารีตประเพณีใหม่ของระบบราชการในทางที่ประชาชนต้องการขึ้นมาได้

ตัวอย่างเช่น การสื่อสารบนโลกโซเชียลกำลังปฏิรูปการทำงานขององค์กรภาครัฐ ประชาชนที่มีปัญหาเรื่องใดๆ ก็ตาม เมื่อได้นำเรื่องของตนเองเสนอทางสื่อโซเชียล ก็จะมีเพจต่างๆ หรือสื่อมวลชนที่อยู่ในโลกโซเชียลนั้นช่วยกันกลั่นกรอง เสนอความคิดเห็น บางเพจยังช่วยสืบสวนช่วยติดต่อประสานงาน หรือแม้กระทั่งช่วยแก้ปัญหาให้จนสำเร็จมาหลายเรื่อง

Advertisement

การร้องขอความเป็นธรรมต่างๆ ในทุกวันนี้แทบไม่ต้องอาศัยการวิงวอนจากภาครัฐ เพราะสื่อเหล่านี้ไปไกลกว่านั้นไปถึงจุดที่กดดันภาครัฐเลยทีเดียว

กรมกองต่างๆ ที่เลียนแบบกรมกองภาครัฐนั้นมีเกือบจะครบหมดแล้วในโลกของโซเชียล เป็นองค์กรเงาของภาครัฐที่นับวันจะเหมือนองค์กรจริงขึ้นทุกวัน จนผลักดันให้องค์กรที่แท้จริงกลับเป็นเงาไปเสียอีก (เพราะคนที่อยู่ใต้อำนาจใครก็เหมือนเป็นเงาของคนนั้น) และบางครั้งผลักให้เป็นตัวตลก ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปกรมกองต่างๆ ของประชาชนก็อาจจะสถาปนาเกิดขึ้นอย่างมั่นคงในโลกโซเชียลแน่นอน เค้าลางที่เกิดขึ้นจริงในตอนนี้ก็เห็นได้ว่า การสื่อสารการร้องเรียนผ่านสื่อในโลกโซเชียลเป็นวันสต๊อปเซอร์วิส ยิ่งกว่าวันสต๊อปเซอร์วิสใดๆ ที่มีในโลกซึ่งเคยมีมา

และเป็นที่แน่นอนว่าการร้องเรียนออนไลน์นั้นมีต้นทุนถูกกว่าการร้องเรียนตามหน่วยงานภาครัฐ พื้นที่บนอากาศนั้นก็เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพแห่งใหม่ของประชาชน เป็นหนังสือ เป็นที่ดินทำกิน เป็นโรงเรียน ต่อไปจะเป็นอะไรอีกหลายอย่าง เพราะทุกวันนี้ชีวิตเหมือนจริงของหลายคนอยู่ในโลกแห่งใหม่นี้ และแม้ว่าคนคนหนึ่งแทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม (อาจเป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมหรือเพราะอะไรก็ตาม) แต่ในโลกของการสื่อสารทางโซเชียลนั้นเขามีที่ทางและมีที่ยืนอย่างสง่าผ่าเผย ถ้าประชาชนร่วมกันใช้ประโยชน์จากการสื่อสารทางโซเชียลจนเป็นวิถีที่ชำนาญและด้วยความรับผิดชอบแล้ว อันนี้อาจเป็นการปฏิรูปสิ่งต่างๆ รวมทั้งองค์กรภาครัฐอย่างแท้จริง และสิ่งที่ควรจะต้องมีเป็นพื้นฐาน (ซึ่งบางอย่างมีแล้ว) ก็คือ

Advertisement

กลุ่มแรก กลุ่มคนในโลกโซเชียลที่อาสาสืบสวนเรื่องราวต่างๆ ตรวจสอบข้อเท็จจริงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีข้อเท็จจริงเป็นความจริงอย่างที่มีการกล่าวขาน หรือร้องเรียนนั้นหรือไม่ (ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว แต่ยังไม่เข้มแข็ง เพราะการสอบสวนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความชำนาญพิเศษทั้งยังต้องรู้กฎหมายและขอบเขตที่ทำได้)

กลุ่มที่สอง กลุ่มคนที่ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ หรือคอยติดตาม คอยเฝ้ารอคอยการตัดสินใจ หรือรอฟังผลการตัดสินใจของภาครัฐหรือสังคมโดยรวม (ซึ่งปัจจุบันมีแล้วเหมือนกัน มีความเข้มแข็งพอควรเพราะเป็นงานที่ไม่ได้อาศัยความชำนาญพิเศษ)

กลุ่มที่สาม กลุ่มคนที่ให้ความเห็นทางกฎหมาย หรือช่วยดำเนินการทางกฎหมายเพราะในปัจจุบันนี้กฎหมายมีความสำคัญมาก อะไรๆ ก็ไปมีข้อยุติกันที่วิถีทางกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยกำลังจะก้าวไปเหมือนสหรัฐอเมริกาที่มีความเชื่อในเรื่องกฎหมายสามารถแก้ไขได้ทุกสิ่ง (ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานเงาที่ให้ความเห็นทางกฎหมายก็มีแล้วอีกเหมือนกัน)

กลุ่มที่สี่ กลุ่มคนที่ช่วยกระจายข่าว (ปัจจุบันก็มีอยู่แล้วอย่างมากมายเหลือเกิน)

สรุปว่าในปัจจุบันนี้มีครบทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับประชาชนที่จะดำเนินการในโลกอินเตอร์เน็ต เหลือแต่การจัดระเบียบให้มีประสิทธิภาพสูงให้เทียบเท่าหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น

การปฏิรูปแบบนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปที่แท้จริงเพราะก้าวข้ามสิ่งที่ประชาชนจะต้องพึ่งพา มาเป็นสิ่งที่ประชาชนจัดการได้อยู่ในกำมือ เป็นการปฏิรูปที่ไม่ต้องรอการแก้กฎหมาย เพราะยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปคือ ต่อไปนี้ประชาชนจะกำกับดูแลการทำงานของภาครัฐด้วยตนเอง หรือกล่าวง่ายๆ คือ ประชาชนทุกวันนี้กำลังมีกรมกองเงาของตนเองขึ้นมา (อาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว แต่เพราะมันเป็นพลวัต) จัดการกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเป็นเหมือนภาครัฐเงาที่ลอยอยู่เหนือภาครัฐจริงอีกที ก็คงเหมือนกับชีวิตคนทุกวันนี้ที่แต่ละคนมีชีวิตในผืนดินที่เราเดิน และส่วนหนึ่งของชีวิตอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต

ที่กล่าวมานี้ไม่เกินความจริง เพราะบางคนอาชีพของเขาและทางทำมาหาได้อยู่บนอินเตอร์เน็ต ทั้งๆ ที่ไม่มีห้างร้านตั้งอยู่บนผืนดินเลย (คนปัจจุบันนี้คงไม่รอการจัดสรรที่ดินของรัฐ เพราะเขาหาที่ดินทำกินได้ในอินเตอร์เน็ต) และรัฐเองก็มีแนวโน้มจะเก็บภาษีจากกิจกรรมที่ทำมาหาได้ในอินเตอร์เน็ตแล้วด้วย หรือไม่นานจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ และนั่นคือรัฐก็ยอมรับว่าความเคลื่อนไหวที่หนักหน่วงนั้นมีอยู่จริง

เรื่องนี้สอนอะไร และจะพัฒนาไปอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่คิดต่อไปได้ก็คือ การกระทำตามแบบพิธีกับความจริงที่ปรากฏบางครั้งตรงกัน แต่บางครั้งอาจเป็นคนละเรื่องกันและแง่มุมนี้จะเกิดขึ้นกับทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้ในเรื่องของกฎหมาย และใครกำลังจะชี้นำใครในระดับแบบพิธีกับความเป็นจริง

ใครที่เคยศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญจะพบว่า ในรัฐแต่ละรัฐมีรัฐธรรมนูญอยู่สองแบบ ประเทศแรกรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร กับประเภทที่สองรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร ในความเป็นจริงพบว่าบางรัฐมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนบางรัฐมีรัฐธรรมนูญแบบไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียว และยังมีอีกหลายๆ รัฐที่มีทั้งรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่คู่กันและใช้ควบคู่กัน แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะถ้าเราตีความว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด อะไรที่สูงสุดก็คือรัฐธรรมนูญ กล่าวกันทางทฤษฎีในค่ายความเชื่อที่ยึดรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วนั้น ถ้าคนในรัฐเชื่อมั่นวาหลักเกณฑ์ใดสำคัญยิ่งสำหรับรัฐแล้วและได้ลงมือทำจนเป็นประเพณีเหนียวแน่น สิ่งนั้นแม้ยังไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญในไม่ช้า และกล่าวถึงที่สุดแล้วสิ่งใดจะเป็นรัฐธรรมนูญก็ต่อเมื่อ “ความเชื่อ” ของคนในรัฐนั้นตรงกัน อาจจะไม่ได้ตรงกันทุกคนแต่ต้องเป็นคนส่วนใหญ่ และข้อสำคัญต้องลงมือทำ

หากประชาชนเชื่อมั่นในสิ่งใดขึ้นมาแล้วและตั้งใจจะยึดสิ่งนั้นอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมอ่อนข้อ ไม่ลดราวาศอก สิ่งนั้นจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญในแบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา

สิ่งที่กล่าวนี้เป็นเรื่องจริงตามทฤษฎีการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ มิได้กล่าวเพ้อเจ้อหรือเลื่อนลอย หากใครที่ศึกษากฎหมายมหาชน หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้เคยสัมผัสรัฐธรรมนูญแบบที่มิใช่ลายลักษณ์อักษรของประเทศอังกฤษมาบ้างแล้วก็คงจะเข้าใจได้ดี และจะไม่เป็นเดือดเป็นร้อนอะไร เพราะรัฐธรรมนูญก็อยู่ในกฎสามัญลักษณะที่ประเทศอื่นเคยเป็นมา โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเปลี่ยนแปลงได้โดยการเปลี่ยนความเชื่อให้ตรงกัน สำคัญที่สุดก็คือว่า ความเชื่อนั้นต้องเข้มแข็งจริงๆ และคนส่วนใหญ่ต้องเชื่ออย่างเหนียวแน่นอย่างที่สุด

สิ่งที่ประชาชนจะสร้างได้ด้วยตนเองก็คือกฎหมายจารีตประเพณีนี้เอง กฎหมายจารีตประเพณีอันใดประชาชนยึดมั่นอย่างธรรมดาก็มีค่าเท่ากฎหมายธรรมดา แต่ถ้าหากกฎหมายจารีตประเพณีอันใดประชาชนยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นที่สุด อันนั้นสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญในแบบที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นเลยทีเดียวเช่น ถ้าการสอบสวนคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังไม่ตรงกับใจประชาชนมากนักประชาชนก็ต้องช่วยกันสร้างกฎเกณฑ์นั้นขึ้นมาใหม่ให้มีค่าบังคับเท่ากับกฎหมายจารีตประเพณี โดยช่วยกันสอบสวน ค้นหา จับอย่างไม่วางมือ ไม่ลดราวาศอก ก็จะเกิดแนวปฏิบัติใหม่ที่เรียกว่า “การกำกับดูแลของประชาชน” แก่รัฐได้ เป็นการแก้กฎหมายโดยไม่ได้แก้ด้วยบทกฎหมายและอาจเป็นทางที่ประชาชนพอใจ ไม่ต้องหวังพึ่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องตีอกชกหัวกับกฎหมายแปลกๆ

ที่พูดเสียยืดยาวอย่างนี้แล้ว ประชาชนพอจะมีกำลังใจขึ้นบ้างหรือยัง

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image