ภาพเก่าเล่าตำนาน : 24 กันยายน…วันมหิดล 24ก.ย.61

“หากเมื่อวันวานวางรากฐานไว้ดี..มาถึงวันนี้ก็สุขสบาย” กิจการแพทย์ การสาธารณสุข การดูแลประชาชนคนในชาติ เรื่องเจ็บป่วย ปวดหัวตัวร้อน ระบบงานทางการแพทย์ของสังคมไทย ไม่เป็นสองรองใครในโลก

ระบบงาน วิธีคิดอันชาญฉลาดที่ทำให้คนไทยรอดชีวิต การเข้าถึงแพทย์ การเข้าถึงยา ความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนด้านการแพทย์ของไทย ได้รับการยกย่องว่า เป็น 1 เดียวที่ทำได้…

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอนำประวัติศาสตร์กิจการแพทย์ของไทยที่ไม่เป็นรองใครในโลกมาเล่าสู่กัน..โดยย้อนไป 24 กันยายน ที่คนไทยทราบดีว่า คือ วันมหิดล

Advertisement

การแพทย์แผนตะวันตก เริ่มย่างกรายมาสู่แผ่นดินของเรา ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในช่วง พ.ศ.2054 ชาวโปรตุเกสนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ของโลก นำ “ขี้ผึ้ง” รักษาแผลชนิดหนึ่งติดตัวเข้ามาจากยุโรป มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การรักษาโรคกับชาวอยุธยา

ต่อมาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นักการทูต พ่อค้าชาวฝรั่งเศสเข้ามาสร้างไมตรี เผยแผ่คริสต์ศาสนาพร้อมทั้งสร้างสถานพยาบาลในบางกอก อยุธยา พิษณุโลก นำพาความรู้ด้านการแพทย์ตะวันตกเข้ามาเสริมในราชสำนัก

แพทย์หลวงในราชสำนักในยุคกระโน้น จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภททำงานคู่ขนานกัน คือ แพทย์หลวงฝ่ายยาไทย และแพทย์หลวงฝ่ายยาฝรั่ง

Advertisement

ยา ที่เป็นพระเอก ช่วยชีวิตชาวอยุธยาและชาวสยามถูกบันทึกไว้อย่างยิ่งใหญ่ คือ ยาควินิน (Quinine) แก้ไข้มาลาเรีย ที่พรากชีวิตชาวสยามไปนักต่อนัก

ช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ เกิดวิกฤตการณ์ขับไล่ฝรั่งผิวขาวและชาวตะวันตกออกนอกแผ่นดินอยุธยา กิจการแพทย์ฝ่ายตะวันตกก็พลอยจางหาย ไร้การพัฒนาไปกับกาลเวลา ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์ ไม่มีหยูกยา ตำรารักษาโรคจากชาติตะวันตก

ตามประวัติศาสตร์ของไทย ชีวิต ความเป็นอยู่ การรักษาโรคของชาวสยามในอดีตส่วนหนึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากกิจการแพทย์ของอินเดีย ที่ผสมผสานมาจากกิจการศาสนาพุทธ

คนไทยรู้จักชื่อ ชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นบรมครูของการแพทย์แผนโบราณของไทย ตามประวัติของท่านบันทึกว่า ท่านเรียนแพทย์ที่เมืองตักกศิลาใช้เวลาเรียน 7 ปี ซึ่งตามกำหนดต้องใช้เวลาถึง 14 ปี

ส่วนความรู้อีกด้านหนึ่ง มาจากหมอจีนที่ถูกนำมาเผยแพร่ คือ หมอฮัวโต๋ ในหนังสือสามก๊กได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอผ่าตัด เช่น ผ่าตัดแผลเกาทัณฑ์ที่ต้นแขนของ “นักรบกวนอู” หมอฮัวโต๋ใช้ยาระงับความรู้สึก (ที่ปัจจุบันคือ ยาชา) ในสมัยนั้น ได้แก่ สุรา ลำโพง

เมื่อชาวจีนอพยพเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ก็นำความรู้จากสำนักหมอฮัวโต๋เข้ามาแบ่งปัน สอนให้ชาวสยามด้วย

การแพทย์ของอินเดียส่วนใหญ่จะเป็น “การรักษาโดยใช้ยา” ส่วนการแพทย์จีน มีการลงไม้ลงมือต่อร่างกาย มีความรู้เรื่องการผ่าตัด ใช้เครื่องมือ ของมีคมมากกว่าของอินเดีย

ขอชวนท่านผู้อ่าน…ไขนาฬิกามาย้อนอดีตไปดู “จุดเริ่มต้น” กิจการแพทย์แผนตะวันตกที่เข้ามาตั้งแต่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ครับ…

ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สมัยในหลวง ร.2 เกิดโรคระบาดที่ไม่มีใครทราบว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีผู้เสียชีวิตราว 3 หมื่นคน ภายในเวลา 15 วัน

ชาวสยามที่ล้มเจ็บ ก่อนเสียชีวิตจะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำ แพร่ระบาดมาจากทางเกาะปีนัง เข้ามาทางปากน้ำ และแพร่ต่อมายังกรุงเทพฯ ชาวบ้านใช้แม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ทั้งกินทั้งถ่ายลงน้ำ ไม่มีระบบประปาหรือการจัดสุขาภิบาล ทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว

พ.ศ.2371 ในแผ่นดินในหลวง ร.3 สถานการณ์เปลี่ยนแปลง ชาวสยามเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชนชาติฝรั่งผิวขาว มีการทำสัญญาค้าขาย ชนชาติตะวันตกที่เป็นมหาอำนาจทางทะเลคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฮอลันดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ต่างขอเข้ามาเปิดการคบค้ากับสยาม

กิจการแพทย์เป็น “สะพานเชื่อมไมตรี” ที่แพทย์ (Medical Doctor) ชาวตะวันตกเข้ามาถึงราชสำนักและเริ่มให้บริการรักษาโรคต่อชาวสยามทีละเล็กละน้อย ผสมผสานกับกิจการเผยแผ่คริสต์ศาสนา เกิดมีโรงเรียน มีสถานพยาบาล มียารักษาโรคแบบฝรั่ง ซึ่งแต่แรกชาวสยามยังไม่ยอมรับการรักษาพยาบาลตามแนวทางแพทย์ฝรั่ง

 

ในรัชสมัยในหลวง ร.3 คาร์ล ฟรีดิช ออกุสต์ กุทซลาฟฟ์ นายแพทย์ชาวเยอรมันสมัครทำงานร่วมกับมิชชันนารีของฮอลันดา เดินทางเข้ามาในสยามพร้อมกับ จาคอบ ทอมลิน ชาวอังกฤษ นำยาและหนังสือพระคัมภีร์เข้ามาเพื่อสร้างไมตรีกับชาวสยาม

ในสมัยในหลวง ร.3 อหิวาตกโรค (ชาวสยามเรียก โรคห่า) ยังคงเป็นปีศาจร้าย คร่าชีวิตชาวสยาม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ถึงแม้จะมีแพทย์และมิชชันนารีเข้ามาในสยาม แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์จากโลกตะวันตกในเวลานั้นก็ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าใดนัก

พ.ศ.2377 นายแพทย์บรัดเลย์ (ชาวสยามเรียกว่า ปลัดเล) ชาวอเมริกันจบแพทยศาสตร์จากนิวยอร์ก เดินทางเข้ามาพร้อมมิชชันนารีอเมริกัน นำยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือผ่าตัด พร้อมทั้งเปิด “โอสถศาลา” ที่วัดเกาะ นับเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะทำให้ชาวสยามยอมรับรักษากับแพทย์และยาจากหมอฝรั่ง

นอกจากอหิวาตกโรคที่พรากชีวิตชาวสยามไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษเข้ามาร่วมทำลายชีวิตชาวสยามลงไปแบบใบไม้ร่วง ในหลวง ร.3 โปรดเกล้าฯให้หมอบรัดเลย์สอนวิธีการปลูกฝีให้แพทย์แผนไทย แล้วไปปลูกฝีกับประชาชนชาวสยามจนทำให้สยามสามารถควบคุมและป้องกันโรคฝีดาษได้เป็นผลสำเร็จ

ชาวสยามเสียชีวิตเพราะโรคภัยไข้เจ็บในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นจำนวนมหาศาล ระบบงานการแพทย์ยังไม่เกิด แพทย์ ยา เครื่องมือ สถานพยาบาล และความรู้ด้านการแพทย์หาจุดเริ่มต้นไม่เจอ

พ.ศ.2424 ในสมัยในหลวง ร.5 อหิวาตกโรค ผีห่าซาตานผู้ไร้ความปรานี หวนกลับมาปลิดชีพชาวสยามไปเป็นจำนวนมากอีกครั้ง กรุงเทพฯเงียบเหงาวังเวงสุดบรรยาย เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งสถานพยาบาลขึ้นชั่วคราวรวม 48 ตำบล ครั้นโรคร้ายหายไป โรงพยาบาลปิดทำการไปด้วย หากแต่ในพระทัย พระองค์ฯตระหนักว่าจะต้องตั้งโรงพยาบาลขึ้นให้ได้

รพ.แผนตะวันตกแห่งแรก คือ รพ.ทหารหน้า ซึ่งมี นพ.เทียนฮี้ สารสิน เป็นผู้อำนวยการ (แพทยศาสตรบัณฑิตคนแรกของสยามจบจากสหรัฐอเมริกา โดยมิชชันนารีสนับสนุนส่งไปเรียนแพทย์) เปิดดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2422-2427 แล้วกิจการแพทย์ในสยามประเทศสะดุดหยุดลงอีกครั้ง

ในหลวง ร.5 มีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า “โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีเกิดขึ้นในทันทีทันใด แต่การนั้นไม่สำเร็จไปได้ ตลอดจนได้ตั้งใจแลออกปากอยู่เนืองๆ ว่า ถ้าตายจะขอแบ่งเงินพระคลังข้างที่เป็นส่วนหนึ่งมอบไว้สำหรับใช้ในการ รพ. แลสั่งไว้ขอให้จัดการให้สำเร็จดังประสงค์ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะคิดจัดการให้มีขึ้นจงได้ และจะอุดหนุนการ รพ.ด้วยทุนรอนส่วนหนึ่ง ไม่ชักเงินที่เป็นมรดกซึ่งกำหนดว่าจะให้นั้นมาใช้ แลมีอำนาจที่จะใช้เงินแผ่นดินได้อยู่ ก็ใช้เงินแผ่นดินเป็นรากเหง้าของการพยาบาลบ้างตามสมควร การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้างที่ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้…”

น้ำพระทัยของพระองค์ฯที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ด้านการแพทย์ พยาบาล การสาธารณสุขในสยาม ก็บังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

สยามประเทศมาถึงจุดกำเนิดด้านการแพทย์อย่างเป็นระบบ

22 มีนาคม พ.ศ.2429 ในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้าง รพ.ขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้าง รพ.ถาวรให้เป็นสถานที่รักษาประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

สถานที่ก่อสร้าง รพ.นั้น ได้พระราชทานที่ดินอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือวังหลัง ซึ่งเป็นวังเดิมของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่รกร้าง แต่มีความร่มเย็น เหมาะสมสำหรับเป็นสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ

31 พฤษภาคม 2430 ในระหว่างที่เตรียมการก่อสร้าง รพ. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรด้วยโรคบิด สิ้นพระชนม์ลง ยังความอาลัยเศร้าโศกแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯยิ่งนัก ถึงกับมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะต้องให้มี รพ.เกิดขึ้นให้จงได้

เสร็จงานพระเมรุแล้ว โปรดเกล้าฯให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ในงานพระเมรุ นำไปสร้าง รพ. ณ บริเวณวังหลัง นอกจากนี้ยังพระราชทานทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง รพ.

ในช่วงแรก สร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 ในหลวง ร.5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า “รพ.ศิริราช” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “รพ.วังหลัง”

กิจการแพทย์ในสยามเริ่มก้าวเดินไปข้างหน้าเป็นลำดับ ต่อมาจึงได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นใน รพ.นี้ และเริ่มเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2433 เป็นต้นมา โดยจัดหลักสูตรการศึกษา 3 ปี สอนทั้งวิชาแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณ ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทยชื่อว่า “โรงเรียนแพทยากร” นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกสำเร็จการศึกษา และได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2436

ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2443 ในหลวง ร.5 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนแพทย์อย่างเป็นทางการ และพระราชทานนามว่า “ราชแพทยาลัย” ซึ่งเป็นนามดั้งเดิมของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน

ในเวลานั้น สยามยัง “นับ 1” ด้านกิจการแพทย์อย่างเป็นทางการยังไม่ได้ โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่เป็นชาวสยาม

ในขณะที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ได้ทรงโน้มน้าวพระทัยให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ ให้สนพระทัยวิชาแพทย์

ขอนำเสนอพระราชประวัติฯ พระบิดาแห่งการแพทย์ไทยดังนี้ครับ

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสของในหลวง ร.5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิการเจ้า

พระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2434 (ก่อน พ.ศ.2484 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 เม.ย. ดังนั้น เดือนมกราคม พ.ศ.2434 ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพยังคงนับตามปฏิทินเก่า เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลที่ใช้ในปัจจุบันจึงตรงกับเดือนมกราคม พ.ศ.2435)

เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2447 ทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง และเสด็จฯไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ “โรงเรียนแฮร์โรว์” ในประเทศอังกฤษ

ต่อมา พระองค์เสด็จฯไปศึกษาต่อวิชาการทหารเรือในประเทศเยอรมัน เมื่อจบการศึกษาได้รับพระราชอิสริยยศเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมัน และนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยาม แล้วเสด็จกลับมาทรงรับราชการในราชนาวีสยามอยู่ระยะหนึ่ง

ทรงลาออกจากกองทัพเรือเมื่อ พ.ศ.2459 เนื่องจากปัญหาพระสุขภาพ ทรงฯได้รับการโน้มน้าวจากกรมหมื่นไชยนาทนเรนทรให้เสด็จฯไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาทางการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

ทรงสำเร็จการศึกษา สอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตชั้น Cum Laude และทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคมเกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ อัลฟา โอเมกา อัลฟา แล้วเสด็จฯกลับมารับราชการ

ตําแหน่งราชการที่ถือว่าทรงวางรากฐานทางการแพทย์ให้ประเทศไทยคือ ทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ข้าหลวงตรวจการศึกษาทั่วไป นายกกรรมการคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล กรรมการสภากาชาดสยาม ประธานกรรมการอำนวยการวชิรพยาบาล พระอาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และแพทย์ประจำ รพ.แมคคอร์มิค

ทรงอภิเษกสมรสกับ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2463 ณ วังสระปทุม มีพระราชโอรสและพระธิดา รวม 3 พระองค์ ได้แก่

1.สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2466

2.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระราชสมภพ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2468

3.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช (รัชกาลที่ 9) พระราชสมภพ ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470

พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ที่ทรงทุ่มเทเพื่อวางรากฐานที่มั่นคง แน่นหนามาถึงปัจจุบัน คือ

ทรงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ พยาบาล และปรับปรุง รพ.ศิริราช ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลสยามทำความตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งมูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือโดยส่งอาจารย์แพทย์มาจัดหลักสูตรและปรับปรุงการสอนให้ทุนอาจารย์ไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

ส่งอาจารย์พยาบาลเข้ามาช่วยปรับปรุงหลักสูตรและช่วยเรื่องการสอนในโรงเรียนพยาบาล

พระราชทานทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของแพทย์และพยาบาล

สร้าง “ตึกมหิดลบำเพ็ญ” ให้เป็น “ตึกอำนวยการ”

พระราชทานทุนทรัพย์ ซื้อโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ทำเป็นที่อยู่ที่เรียนของพยาบาล ทรงจ้างพยาบาลต่างประเทศมาช่วยสอนและปรับปรุงโรงเรียนพยาบาล

ทรงสนับสนุนการสอนและค้นคว้า ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับกิจการแพทย์ของไทย ทรงขอพระราชทานทุนจากในหลวง ร.7 และพระบรมวงศานุวงค์ เพื่อเป็นทุนสำหรับ รพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อีกทั้งยังทรงปรับปรุงวชิรพยาบาล รพ.แมคคอร์มิค และ รพ.สงขลา

เมื่อประเทศไทยยังไม่มี พ.ร.บ.การแพทย์ จึงทรงเข้าร่วมในการพิจารณาพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ.2466 โดยทรงแก้ไขข้อขัดข้องและความขัดแย้งต่างๆ จนลุล่วงไปด้วยดี ทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็น “กฎหมายทางการแพทย์ฉบับแรก” ที่ประกาศใช้

นอกจากนั้น ทรงวางรากฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน โดยสร้างคณาจารย์วิทยาศาสตร์พื้นฐานรุ่นแรกของประเทศ การวางหลักสูตรวิทยาศาสตร์ และแพทย์ การก่อสร้างอาคารและจัดหาวัสดุ อุปกรณ์การค้นคว้าวิจัย การจัดหาหอพักนักศึกษา

นอกจากนี้ยังทรงสร้างรากฐานการวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยพระราชทานทุนส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ณ ประเทศอังกฤษ ผลิตบัณฑิตเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมทั้งบัณฑิตในวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อาทิ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร สถาปนิก บุคลากรงานสาธารณสุข

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นปูชนียบุคคลของชาติที่พระเมตตาสถิตอยู่ในใจปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า

พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาประวัติศาสตร์ทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ การแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขของประเทศไทย

สมดังสมัญญานามว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”

ทรงพระเจริญ

ขอบคุณ ข้อมูลจาก หนังสือ 48 ปีแพทยสภา ปูชนียแพทย์ และภาพ/ข้อมูลจากมติชน

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image