จันทน์หอมยิ่งทุบยิ่งหอม โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังประสบวิกฤตทางการเมืองที่ใหญ่และแรงที่สุด หลังจากที่ได้เข้าดำรงตำแหน่ง เนื่องจากอดีตคนสนิท 2 คน ต้องโทษคดีอาญา อันอาจกระทบถึงการเลือกตั้ง “มิดเทอม” ในเดือนพฤศจิกายน และอาจมีแนวโน้มที่จะถูกสภาคองเกรสลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ถ้ากรณีฉาวโลก “ทรัมป์-รัสเซีย” สรุปเหมือนกับคดี “วอเตอร์เกต”

แต่คดีอาญาของคนสนิททั้ง 2 นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีฉาวโลก “ทรัมป์-รัสเซีย”

เพราะประเด็นต่างกัน

และแม้คดีทั้ง 2 เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

Advertisement

แต่ก็ไม่น่าจะกระทบถึง “ฐานเสียง” ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เพราะว่า

จากการสำรวจประชามติ “เรตติ้ง” การสนับสนุน “ทรัมป์” ยังอยู่ในระดับคงที่ คือ

ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

และจากผล “ไพรมารีโหวต” ของการเลือกตั้ง “มิดเทอม” ของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในสภานั้น ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าพรรคเดโมแครตจะมีความชนะอย่างถล่มทลาย

ในทางตรงกันข้าม “แคนดิเดต” ของพรรครีพับลิกัน กลับได้อานิสงส์จาก “กระแสทรัมป์”

เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนยิ่ง

หลังจากขึ้นแท่นประธานาธิบดีมา 2 ปี หลายนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์”

ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดกับ “คิม จองอึน” ผู้นำเกาหลีเหนือ

ไม่ว่าการทำสงครามการค้ากับจีน

แม้มีการวิพากษ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง สังคมโลกถั่งโถมโหมแรงไฟ

แต่ “เรตติ้ง” การสนับสนุนยังอยู่ในระดับมั่นคงอย่างต่อเนื่อง คือเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

และแม้กรณีประณามสื่อคือ “ศัตรูประชาชน” นั้น ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนการพบปะ “ปูติน” แบบ 1 ต่อ 1 ได้เพลี่ยงพล้ำเรื่องถ้อยคำอย่างร้ายแรงอีกด้วย “เรตติ้ง” การสนับสนุนก็ยัง “ไม่ลดกลับเพิ่ม” คือ

จากเดือนกรกฎาคม 44 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชามติสนับสนุน “ทรัมป์” นั้น

แม้ไม่สูง แต่มีความมั่นคง

ดูประหนึ่งว่า กระแสต้านและการวิพากษ์ของสื่อยิ่งมาก ก็ยิ่งทำให้ “ฐานเสียง” ของเขายิ่งแน่น

อุปมาดั่ง “ลูกจันทน์หอมยิ่งทุบก็ยิ่งหอม”

ความจริง ตั้งแต่ “ทรัมป์” เปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิถุนายน 2015 พฤติกรรมของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายมาโดยตลอด

แต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ยังยืนเด่นอยู่อย่างท้าทาย

และเขาก็ได้รับเลือกท่ามกลางบรรยากาศที่มี “ความนิยมต่ำ”

และวันนี้เขาก็ยังได้ “ยึดติด” เก้าอี้ทำเนียบขาวท่ามกลางบรรยากาศที่มี “ความนิยมต่ำ” เช่นกัน

หากวิเคราะห์ในเชิงลึก ตั้งแต่วันที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ปัญหาที่แวดล้อมตัว “ทรัมป์” จำเป็นต้องใช้ “ตรรกะ” ใหม่ในการอธิบาย เพราะคำว่า “ความนิยมสูงต่ำ” ที่อ้างอิงตามประเพณีนั้น มิอาจทำการประเมิน “เรตติ้ง” การสนับสนุนสำหรับ “ทรัมป์” ได้แล้ว

ก็เพราะการ “พลิกล็อก” นั่นเอง

ว่ากันว่า ถ้า “ทรัมป์” มิอาจทำให้คนที่คัดค้านต่อต้านเขาชอบเขา แต่อย่างน้อยที่สุด “ทรัมป์” ก็ไม่ทำให้ผู้ที่สนับสนุนเขาต้องผิดหวัง นี่คือ “จุดขาย” ที่ถือเป็น “best seller”

ความมั่นคงของฐานเสียงระดับรากหญ้า จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้สิทธิของพรรครีพับลิกันและเมืองสนิมเกาะ (Rust Belt) คือ “ฐานเสียง” ที่ถือว่า “อยู่ยงคงกระพัน”

(หมายเหตุ : เมืองสนิมเกาะคือย่านอุตสาหกรรมที่มีโรงงานจำนวนมากถูกทิ้งร้างจนสนิมเกาะซึ่งได้แก่เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และรัฐใกล้เคียง “ทรัมป์” ใช้เป็นกลยุทธ์หาเสียงโดยให้คำมั่นจะย้ายฐานการผลิตไปที่จีน เม็กซิโก ซึ่งมีค่าแรงถูก เพื่อฟื้นฟูความเจริญให้กลับมาอีกวาระหนึ่ง)

จากการวิจัยในสหรัฐ ตั้งแต่ 1978-2018 รวม 40 ปี ปรากฏว่าประชากรจำนวนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ที่มีรายได้สุทธิลดลงตามลำดับ เป็นเหตุให้อเมริกันชนไม่พอใจกับการบริหารในอดีต จึงอยากลอง “ของใหม่” เพราะต้องการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ก็เพราะ “ทรัมป์” เข้าใจความกังวลของอเมริกันชน เข้าใจความเดือดร้อนและความต้องการของพวกเขา และได้เข้าถึง “หัวใจ” โดยพลัน

เป็นการฉวยโอกาสที่คนกำลังโกรธและเกลียดผู้บริหารในกาลอดีต

เป็นการแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส เปี่ยมด้วยความเรืองรองในการพลิกผันสถานการณ์

ก็เพราะ “ทรัมป์” ตีบทแตก จึงเล่นได้ถูกใจคนดู

ถือเป็นมาตรการ “เรียกแขก” ที่มีประสิทธิภาพ

ฉะนั้น จึงได้ขึ้นแท่น “ประธานาธิบดี”

หลังจากได้ยึดเก้าอี้ทำเนียบขาวแล้ว

“ทรัมป์” ก็มุ่ง “หัวหอก” ไปยังระบบเศรษฐกิจโลก

และแล้ว “สงครามการค้า” ก็เกิดขึ้น

เป้าหมายหลักคือ “ประเทศจีน” ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้ามากที่สุดในโลก

แม้ได้รับการกล่าวโทษจากสังคมโลกอย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากเขามีพื้นฐานทางการเมืองในประเทศ จึงไม่ยอมถอย กอปรกับบรรยากาศการเมืองในประเทศกำลังโจมตี

“ระบบเศรษฐกิจโลก”

จึงทำให้ “ทรัมป์” ได้ “แต้ม” ทางการเมืองมากทีเดียว

จึงมีเสียงยืนยันว่าเขาจะนั่งเก้าอี้ทำเนียบขาวต่อในปี 2020

ฉะนั้น จึงอนุมานได้ว่ายุทธศาสตร์สงครามการค้าของ “ทรัมป์” คงจะต้องยืดเยื้อต่อไป

เป็นที่ประจักษ์ว่าลัทธิ “ประชานิยม” กับลัทธิอื่นๆ มีความแตกต่างกัน แตกต่างที่ “ประชานิยม” ไม่ใช้เหตุผล ธาตุแท้ของตรรกะจึงไม่มี

“ใครเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนก็สนับสนุนคนนั้น”

บัดนี้ อุดมการณ์ของ “พรรครีพับลิกัน” ได้ถูกลัทธิ “ประชานิยม” กลืนไปหมดแล้ว

และเกิด “กระแสทรัมป์” มาแรงด้วย ทุกคนในพรรคจำเป็นต้องไปตามกระแส

ตาม “กระแสทรัมป์” จนหลงลืมประเพณีดั้งเดิม ยกตัวอย่าง เช่น

ลัทธิอนุรักษนิยมคือ ตัดงบประมาณ ลดการขาดดุล และเปิดการค้าเสรี เป็นต้น

“ทรัมป์” ละทิ้งโดยสิ้นเชิง

ในเวลาเดียวกันเขายังได้เพิ่มงบประมาณทางการทหาร เป็นเหตุให้งบของรัฐบาลกลางซึ่งขาดดุลอยู่แล้วยิ่งขาดดุลมากขึ้น

นอกจากนี้ “ทรัมป์” ยังได้ยกเลิกสนธิสัญญา “Trans-Pacific Partnership” และสนธิสัญญาการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ตลอดจนมาตรการเพิ่มภาษีศุลกากร เป็นต้น

ล้วนเป็นการ “สวนทาง” กับนโยบายการค้าเสรีของ “พรรครีพับลิกัน”

ซึ่งเป็นนโยบายที่ “พรรครีพับลิกัน” ได้ดำเนินมาโดยตลอด ไม่เคยว่างเว้น

จากผล “ไพรมารีโหวต” ของการเลือกตั้ง “มิดเทอม” นั้น เด่นชัดยิ่งว่า

“ทรัมป์” สนับสนุนผู้ใด ผู้นั้นก็มีโอกาสชนะ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาไม่ชอบผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องพ่ายแพ้

บางคนถูกประณามว่าเป็น “สมาชิกปลอม” ด้วยซ้ำไป

ฉะนั้น บรรยากาศภายในพรรครีพับลิกันจึงเกิด “ความเงียบ” ที่เรียกว่า “Chilling Effect”

พอจะคาดเดาได้ว่า “ความเงียบ” ใน “พรรครีพับลิกัน” ที่กำลังดำรงอยู่นั้น

น่าจะมีความละม้ายกับ “ความเงียบ” ใน “พรรคคอมมิวนิสต์” ของจีน

ต้องยอมรับว่า “กระแสทรัมป์” ในพรรคมาแรงจริงๆ ถอยหลังไม่ได้แล้ว

หากการเลือกตั้ง “มิดเทอม” พรรคเดโมแครตได้ที่นั่งมากในสภา ก็ไม่น่าจะกระทบถึงฐานเสียงของ “ทรัมป์” เพราะได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่เลื่อมใสลัทธิ “ประชานิยม” ชนิด “แน่นปึ้ก”

ส่วนมาตรการ “ประชานิยม” ของเขาที่สวนทางกับพรรคและถูกวิพากษ์กันแพร่หลายนั้น

ก็ยังคงดำเนินต่อไป

แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า การที่ “ทรัมป์” มีฐานเสียงที่มั่นคง สาเหตุใหญ่ที่สุดคือ

ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐดีขึ้นโดยทั่วไป

1.ตัวเลขการจ้างงานที่มิใช่เกษตรกรรม (Non-agricultural employment data) ประจำเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.57 แสนคน รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่อปี ล้วนสูงขึ้นกว่าเดิม

1.อัตราคนตกงานจาก 4 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือ 3.9 เปอร์เซ็นต์

1.อเมริกันชนได้รับประโยชน์จากมาตรการลดภาษี (a basket tax reduction plans) เป็นจำนวนถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ

1.เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 คือ เดือนเมษายน-มิถุนายน เติบโตถึง 4.1 เปอร์เซ็นต์ และเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 4 ปี

1.เงินดอลลาร์แข็งค่า ตลาดหุ้นบูม (Wall Street bull) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 9 ปีครึ่ง

เป็นประวัติการณ์

ข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การที่นักเศรษฐศาสตร์ 100 คน ได้ทำการสำรวจและวิจัยแล้วสรุปว่า การที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” กล่าวว่า สงครามการค้าเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐนั้น

“ไม่มีผู้ที่เห็นพ้องแม้แต่คนเดียว”

นักวิเคราะห์กลับทำนายว่า เศรษฐกิจเติบโตใน “Peak period” ของสหรัฐได้สิ้นสุดลงแล้ว

การเพิ่มภาษีศุลกากรรอบต่อไปในเดือนกันยายน เป้าหมายคือผู้บริโภคในประเทศ แนวโน้มที่จะกระทบถึงเศรษฐกิจในทางอ้อมค่อนข้างสูง

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ “ทรัมป์” ลดภาษีเพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ คงจะได้ผลไม่มาก

ฉะนั้น การที่ “ทรัมป์” อาศัยฐานเสียงจากลัทธิ “ประชานิยม” นั้น

ย่อมต้องขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย

เพราะเป็นตัวแปรสำคัญต่อผู้ใช้สิทธิระดับรากหญ้า

ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของนโยบาย “ประชานิยม”

ประวัติศาสตร์อเมริกันบอกเราว่า การที่จะเป็นประธานาธิบดีอย่างต่อเนื่องรวม 2 สมัยนั้น ต้องธำรงไว้ซึ่งอัตราคนตกงานให้อยู่ในระดับต่ำ และควบคุมอัตราเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การที่ “ทรัมป์” ยันยันว่าจะอยู่ต่ออีก 1 สมัยนั้น ก็มิใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองก่อน คือเจอพิษ

Impeachment !

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image