อำนาจนิยมคือสิ่งนี้ (ที่ทำให้ 12 + 8 = 4)

หากใครติดตามเฟซบุ๊กของวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์จากนวนิยายเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” จะคุ้นเคยกับการที่เธอจะโพสต์ข่าวพร้อมคำโปรยประจำตัวว่า “อำนาจนิยมคือสิ่งนี้”

แน่นอนว่ามีข่าวมาให้เธอโพสต์ได้ทุกวี่ทุกวัน นั่นเพราะอำนาจนิยมนั้นยังเวียนวนแทรกสอดอยู่ในแทบทุกข่าวทุกเรื่องในสังคมไทย หยิบมาสักเรื่องสักข่าว ก็จะเจอร่องรอยเงื้อมมือของมันที่สัมผัสแตะต้องไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับ “ดราม่า” โจ้กับจอยเก็บมะม่วง ที่คุณครูโรงเรียนประถมโรงเรียนหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ตรวจการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กผิด จากโจทย์ที่มีว่า จอยเก็บมะม่วงได้ 12 ผล โจ้เก็บได้มากกว่าจอยตั้ง 8 ผล โจ้จะเก็บมะม่วงได้กี่ผล ให้ทำเป็นประโยคสัญลักษณ์ คำตอบของฝ่ายนักเรียนคือ 12 + 8 = 20 แต่ครูตรวจว่าเป็น 4 แล้วก็ให้เครื่องหมายผิดแก่นักเรียน

เรื่องนี้ในที่สุดแล้วสรุปมาจากว่า คุณครูตรวจผิดจริงๆ เพราะเข้าใจว่าโจทย์ในหน้านั้นเป็นเรื่องของการลบเลขทั้งหมด ประกอบกับต้องตรวจการบ้านจำนวนมากต่อวัน จึงทำให้ตรวจผิด ซึ่งความผิดพลาดเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้คอขาดบาดตายอะไร ใครเคยทำงานก็ย่อมเคยผิดพลาดแบบหญ้าปากคอกเพราะความเบลอ ระดับพลัง หรือเวลาอันจำกัดมาแล้วทั้งนั้น

Advertisement

หากสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของเรื่องนี้ คือการที่มีผู้คนจำนวนมาก (ซึ่งไม่มีข้อจำกัดด้วยเวลาและความเหนื่อยล้าเช่นนั้น) ยืนยันเสียงแข็งว่าคุณครูนั้นตรวจถูกแล้ว ทั้งพยายามหาตรรกะพิสดารมาอธิบายว่า ทำไมโจ้ที่เก็บมะม่วงได้มากกว่าจอย 8 ผล จึงจะเก็บมะม่วงได้เพียง 4 ผลเท่านั้น หรือบางคนที่ยอมรับว่าคำตอบนั้นผิดจริง แต่ก็โทษไปว่า เพราะโจทย์กำกวมทำให้คิดไปได้สองทางต่างหาก ไม่ใช่ความผิดของครู

และที่น่ากลัวขึ้นสองเท่า คือฝ่ายที่บอกว่าคุณครูถูกแล้ว (หรืออย่างน้อยก็ไม่ผิด) นั้น ก็เป็น “ครู” เหมือนกัน โดยที่พวกเขาและเธอแสดงตัวเช่นนั้นเอง

หากมองว่านี่คือวิกฤตเชิงตรรกะและสติปัญญาก็น่าเป็นห่วง ที่ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมมีปัญหากับโจทย์เลขระดับประถม ไม่สามารถตีกรณีปัญหาออกมาเป็นประโยคสัญลักษณ์หรือสมการได้ แต่จะว่าไปมันคงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเรื่องนี้การคิดให้เป็นเรื่องของ “ผลลบ” นั้นยากกว่าคิดให้เป็นผลบวก เพราะอย่างน้อยข้อเท็จจริงตามโจทย์มันคือว่า โจ้เก็บได้ไม่ต่ำกว่า (มากกว่า) 8 ลูกแน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นคำตอบถ้าเป็น 4 นั้นอย่างไรก็ผิดแน่นอน ดังนั้นความเห็นว่าครูตรวจถูกแล้ว และคำตอบเป็น 4 จึงมาจากความผิดพร่องด้านอคติ มากกว่าการอ่านโจทย์ไม่แตกอันเป็นปัญหาของวิชาภาษาไทย หรือปัญหาทางตรรกะความเข้าใจ

Advertisement

เหตุผลหนึ่งซึ่งขออธิบายแยกไว้ก่อน คือความผิดพลาดทางความคิดเพราะการจงใจคิดให้สวนทาง นั่นคือมีคนกลุ่มหนึ่งมักจะมีกลไกการป้องกันตัวไม่ให้ตกลงไปสู่อคติของการคิดตามๆ กันโดยไร้เหตุผล การระวังตัวเช่นนั้นแม้จะดีที่ไม่ทำให้ติดกับดักของอคติอย่างหนึ่ง แต่มันก็เสี่ยงต่อการล่วงเข้าไปในอคติอีกอย่างหนึ่งของการคิดสวนทาง ด้วยหลงในข้อสมมุติฐานง่ายๆ ว่า อะไรที่คนส่วนใหญ่คิดนั้นน่าจะผิด จึงต้องพยายามคิดให้แตกต่างจากคนส่วนมาก หาเหตุผลมารองรับว่าคนส่วนใหญ่คิดผิดอย่างไร จนละเลยอิสระในการคิดอย่างตรงไปตรงมา และยอมรับว่าที่คนส่วนใหญ่เขาคิดกันนั้นถูกแล้ว แต่อคติแบบนี้ก็ยังเป็นเพียงความถือดีส่วนบุคคลที่ไม่ส่งผลร้ายอย่างไรต่อส่วนรวม แตกต่างจากอคติสำคัญที่จะกล่าวถึงต่อไป คืออคติของการเชื่อถือผู้มีอำนาจ

ในหนังสือ The Art of Thinking Clearly ของ Rolf Dobelli หรือชื่อภาษาไทยว่า “52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม” นั้น กล่าวถึง “อคติของการเชื่อถือผู้มีอำนาจ” ไว้ในบทที่ 9

โดเบลีอธิบายว่า ถึงแม้หลายครั้งความคิดของผู้มีอำนาจจะไม่ถูกต้อง (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรเพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์อย่างเราเหมือนกัน) แต่เมื่ออยู่กับพวกเขาเรากลับไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอันแท้จริงออกไป เราจะเชื่อความคิดเห็นของผู้มีอำนาจมากกว่าความคิดเห็นของคนทั่วไปโดยไร้ข้อกังขา แม้ว่าบางครั้งมันอาจจะฟังดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลและผิดไปจากทำนองคลองธรรมก็ตาม ซึ่งนี่ก็คืออคติจากการเชื่อถือผู้มีอำนาจนั่นเอง

เขายกตัวอย่างการทดลองทางจิตวิทยาของสแตนลีย์ มิลแกรม ในปี 1961 ที่ให้ผู้ทดลองทำการปล่อยกระแสไฟฟ้าชอร์ตผู้ที่อยู่อีกฝั่งซึ่งเขามองไม่เห็น หากผู้นั้นตอบคำถามผิด โดยเร่งกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในการทดลองไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าจริง แต่ผู้ที่ทำหน้าที่ปล่อยไฟฟ้านั้นก็ยังคงปล่อยไฟฟ้ากำลังสูงซึ่งอาจทำให้ตายได้ไปสู่คนอีกฝั่งหนึ่งซึ่งแสร้งทำเสียงโอดครวญเจ็บปวด เพียงเพราะผู้ควบคุมนั้นสั่งและยืนยันให้เขาทำเช่นนั้น “อำนาจ” ของผู้คุม ทำให้มนุษย์กลุ่มทดลองละทิ้งมโนธรรมและปฏิบัติตามคำสั่งที่มีอำนาจเหนือกว่าได้โดยปราศจากความลังเล

หากพี่แหม่ม วีรพรเห็นการทดลองนี้ ก็คงอุทานว่า “อำนาจนิยมคือสิ่งนี้” ใช่แล้ว อำนาจนิยมคือสิ่งนั้น และก็คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งพยายามคิดให้ได้ว่า การที่ X มากกว่า Y อยู่ 8 แล้ว X = 4 ได้อย่างไร

เพราะในบริบทของสังคมไทย ครูนั้นมีสถานะศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ไม่ใช่เพียงคนสอนหนังสือหรือให้วิชา แต่หมายถึงผู้มีพระคุณระดับรองจากบิดามารดา ซึ่งอันที่จริงแล้วก็สมเหตุสมผล เพราะครูคือผู้ที่ช่วยเติมมนุษย์ผู้มาใหม่ให้เต็มคนด้วยความรู้ของบรรพชน หรือมีระบบคิดอย่างมนุษย์ พ่อแม่อาจจะให้ร่างกาย แต่ครูเป็นผู้บรรจุความรู้ความคิดลงในร่างกายนั้น ปรับสภาพให้ผู้ที่มาใหม่นั้นเป็นสมาชิกในสังคมที่สมบูรณ์ได้

หากด้วยบุญคุณเช่นนั้นเองที่กลายรูปเป็นอำนาจ ด้วยว่าครูคือผู้ครอบครองประตูแห่งความรู้ และเป็นผู้บอกชี้ว่าอะไรคือสิ่งถูกสิ่งผิด หากกล่าวเป็นรูปธรรมชัดเจน อำนาจชี้ถูกผิดของครูในบริบทปัจจุบันนี้แปรรูปไปเป็นคะแนนสอบ ผลการเรียน และวุฒิประกาศทางการศึกษา ซึ่งส่งผลโยงใยไปจนถึงอนาคต คะแนนแม้เพียงคะแนนเดียวในการสอบวัดผลระดับประเทศอาจเบี่ยงทางอนาคตของเด็กคนหนึ่งไปได้อย่างยากจินตนาการ หรืออย่างน้อยที่สุดในระดับเล็กเช่นการตรวจการบ้านนี้ การให้กาถูกกาผิดนั้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคภูมิใจในระดับสติปัญญาและความสามารถตนเอง

ในบริบทของอำนาจแห่งพระคุณที่สามนี้เอง ทำให้หลายคนมีความเชื่อว่าครูนั้นจะผิดไม่ได้ หรือคงจะไม่ผิดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งฝ่ายที่มีสถานะเป็นครูก็เกิดความรู้สึกว่าต้องปกป้องสถานะเช่นนั้นโดยข้ามพ้นตัวบุคคล ส่วนฝ่ายที่เชื่อในสถานะครูก็ถูกบิดเบือนความคิดด้วยอคติจากการเชื่อถือผู้มีอำนาจ สองอย่างนี้รวมกัน ทำให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่น้อยเลยในสังคม พยายามหาวิธีใดก็ได้ ที่จะให้ 12 + 8 = 4 หรือไม่ก็ตีความโจทย์อย่างไรก็ได้ให้เรื่องนี้ออกมาเป็นเรื่องของผลลบ โดยละเลยข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ง่ายที่สุดไปว่า “ครูตรวจผิด”

เชื่อว่าหากไม่มีบริบทแห่งอำนาจเช่นนี้ คนที่มีสติปัญญาเกินกว่าเด็กประถมหก ก็ไม่น่าที่จะนึกคิดตะแคงโจทย์อันเรียบง่ายตรงไปตรงมานี้เป็นอื่นไปได้

อำนาจนิยมจึงบิดเบือนความรู้คิดและตรรกะผู้คนได้อย่างน่ากลัว มันไม่ใช่เรื่องของการเอาปืนมาจ่อหัวแล้วบังคับให้ตอบว่า 2 + 2 = 5 เหมือนในภาพยนตร์สั้นที่รู้จักกัน ในสถานการณ์เช่นนั้น ด้วยอำนาจเหนือกว่าและอาวุธ ทำให้ผู้คนต้องจำใจตอบคำตอบที่ผิดทั้งที่รู้แน่ว่าคำตอบที่ถูกคืออะไร แต่การครอบงำลงไปในชั้นตรรกะของอำนาจนิยม ทำให้เราอาจจะเชื่อว่า 2+2 = 5 ได้ด้วยวิธีการคิดหาเหตุผลของตัวเอง และเชื่อสนิทใจว่าคำตอบเช่นนั้นถูกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน อำนาจนิยมนี้ก็ถูกท้าทายโดยอำนาจใหม่ นั่นคืออำนาจของเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่หากจะถอดรูปแบบทิ้งให้เหลือแต่แก่นแกนแล้ว มันคือ “อำนาจมหาชน” หรือ “อำนาจสาธารณะ” นั่นเอง การที่ผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับการตรวจคำตอบว่าผิดนั้นเอารูปสมุดคำตอบมาโพสต์ในโซเชียล จึงเป็นรูปแบบของการอุทธรณ์ “อำนาจของครู” เข้าสู่การตรวจสอบของ “อำนาจมหาชน” ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ครูเล็กๆ คนหนึ่งต้องได้รับการลงโทษเกินกว่าสัดส่วนแห่งความผิดพลาด (ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าความผิดพลาดลักษณะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน) แต่คุณครูกลับต้องรับคลื่นพลังการตรวจสอบจากมหาชนราวกับนี่เป็นเรื่องระดับชาติรัฐประเทศ หรือความเสียหายที่ส่งผลให้ผู้คนเจ็บตายหรือมีความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคม “ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงแค่ความผิดพลาดเพราะเบลอตรวจคำตอบผิดเพียงข้อเดียวเท่านั้น”

เรื่องนี้หากไม่มีรั้วกำแพงของอำนาจที่ครูมีเหนือนักเรียนเสียแล้ว ก็อาจจะมีการทักท้วง ไม่ว่าจะโดยตัวนักเรียนเองที่มั่นใจว่าคิดถูกแล้ว หรือผู้ปกครองที่สอนการบ้าน และเรื่องนี้ก็น่าจะจบลงง่ายๆ ในห้องเรียน เป็นเรื่องตลกที่อาจจะจบด้วยเสียงหัวเราะ “ตายจริง ครูนี่ตรวจพลาดไปได้เนอะ”

อำนาจนิยมจึงทำร้ายทั้งฝ่ายครูและนักเรียนไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และเช่นนี้ อำนาจนิยมก็จะทำร้ายเราทุกคนโดยไม่รู้ตัว ในทุกความคิดหรือการตัดสินใจ หากเมื่อใดก็ตามที่เราไม่กล้าที่จะตั้งคำถามกับเรื่องใด ด้วยความเกรงกลัวหรือไม่มั่นใจเพราะสิ่งนั้นมีอำนาจอะไรบางอย่างคุ้มครองครอบงำอยู่

แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น คือการที่เราไม่คิดจะตั้งคำถามตั้งแต่ต้น หรือมองปัญหานั้นไม่เห็น เพราะไม่กล้าแม้แต่มองสิ่งที่ถูกปกคลุมอยู่ด้วยเกราะกำบังแห่งอำนาจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image