สัญญาณของความล่มสลาย ของพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ (อัมโน)

พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ (United Malays National Organisation-UMNO) เรียกย่อๆ ว่าพรรคอัมโน เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียและเป็นแกนหลักของแนวร่วมแห่งชาติที่ประกอบด้วยพรรคการเมือง 13 พรรคครองอำนาจทางการเมืองมาเลเซียมาตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นเวลาถึง 60 ปี พรรคอัมโนเป็นพรรคสายอนุรักษนิยมที่เน้นการคุ้มครองวัฒนธรรมและอิสลามของมาเลเซีย และมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจของชาวมลายูที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก

พรรคอัมโนก่อตั้งขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2489 โดยมีจุดประสงค์ในช่วงก่อตั้งพรรคเพื่อปลุกระดมชาวมลายูให้ต่อต้านการก่อตั้งสหภาพมลายาขึ้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพมลายาถือเป็นการคุกคามชาวมาเลย์ดั้งเดิมที่เรียกว่าชาวมลายู เนื่องจากจะลดสถานภาพของสุลต่านให้เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล โดยอำนาจอธิปไตยคงเป็นของกษัตริย์อังกฤษและพลเมืองในมาลายามีสิทธิเท่าเทียมโดยไม่มีอคติเรื่องเชื้อชาติศาสนา แต่วัตถุประสงค์หลักของพรรคอัมโน คือการมีเอกราชและอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์และมุ่งที่จะรักษาชาติพันธุ์มลายูให้อยู่รอดเป็นชาติพันธุ์หลักของมาเลเซียในฐานะผู้ครองประเทศโดยกีดกันและต่อต้านชาติพันธุ์อื่นโดยเฉพาะชาวจีน เพราะว่าชาวจีนจำนวนมากในมลายูนำโดยจีนเป็ง ได้ทำสงครามกองโจรแบบเหมา เจ๋อตง เพื่อขับไล่อังกฤษออกจากมลายู อยู่ในช่วง พ.ศ.2491-2503 ดังนั้นรัฐธรรมนูญมาเลเซียฉบับปี พ.ศ.2500 จึงระบุไว้อย่างชัดเจนในการยกชาวมลายูเหนือเชื้อชาติอื่นๆ ให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติและภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ

ต่อมาใน พ.ศ.2497 ตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอัมโน ครั้นใน พ.ศ.2498 ตนกู อับดุล เราะห์มาน และผู้สำเร็จราชการของมลายูเข้าเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ เพื่อให้มาเลเซียได้รับเอกราชบนเงื่อนไขว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นนั้นต้องไม่ยึดสินทรัพย์ของชาวอังกฤษและชาวต่างชาติอื่นๆ โดยกำหนดให้วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2500 เป็นวันประกาศเอกราชของมาเลเซีย

Advertisement

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกใน พ.ศ.2502 พรรคพันธมิตรอัมโนได้รับเลือก 74 ที่นั่ง จาก 104 ที่นั่ง นับเป็นเสียงสองในสามของรัฐสภาจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาล กำหนดนโยบายและออกกฎหมายได้ จึงประกาศก่อตั้งประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2506 ที่มีสุลต่านเวียนกันเป็นกษัตริย์แห่งสหพันธรัฐมาเลเซียทุกๆ 5 ปี

พรรคอัมโนได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ของตนอับดุล ราซัค ในปี พ.ศ.2513 ที่สร้างสิทธิพิเศษให้แก่ชาวภูมิบุตรเชื้อสายมาเลย์ ทั้งในด้านการศึกษา สิทธิในการทำงานและสวัสดิการสังคมเพื่อให้ชาวภูมิบุตรเชื้อสายมาเลย์มีฐานะทางเศรษฐกิจเทียบเท่ากับชาวจีน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จนัก

Advertisement

นับตั้งแต่พรรคอัมโนที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกให้กับพรรคปากาตัน ฮาราปัน แกนนำแนวร่วมฝ่ายค้านที่นำโดย มหาธีร์ โมฮัมหมัด อายุ 93 ปี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน โดยมีนายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นทายาทเพื่อสืบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า เป็นผลให้พรรคอัมโนมีทีท่าจะต้องล่มสลายไปในที่สุด เนื่องจากภายหลังที่พ่ายแพ้เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 แล้ว คณะกรรมการปราบทุจริตมาเลเซียพบหลักฐานว่านาจิบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย (วันเอ็มดีบี) มูลค่ากว่า 2,600 ล้านริงกิต (ราว 2.2 หมื่นล้านบาท) และล่าสุดนาจิบถูกอัยการตั้งข้อหาเพิ่มอีก 25 ข้อหารวด เกี่ยวกับการฟอกเงินและการใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่ก็ได้รับการประกันตัวเพื่อสู้คดี โดยนาจิบยังยืนยันว่าเขาไม่ผิด

ปัจจุบันนี้นับตั้งแต่พรรคอัมโนต้องกลายมาเป็นพรรคฝ่ายค้าน สมาชิกคนสำคัญของพรรค 5 คนก็ได้ลาออกจากพรรคไปแล้วทั้งๆ ที่สมาชิกเหล่านี้อยู่คู่กับพรรคอัมโนมายาวนานกว่า 40 ปี เช่น นายมุสตาฟา โมฮัมหมัด อดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย ได้ประกาศลาออกจากพรรคเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา โดยมุสตาฟาให้เหตุผลแบบตรงประเด็นว่าตั้งแต่แพ้การเลือกตั้งมา พรรคอัมโนดูไม่มีทิศทางที่แน่นอน ไม่เคยแม้แต่พยายามที่จะฟื้นฟูให้พรรคกลับมาทรงอำนาจเช่นเดิม และภายหลังที่มุสตาฟาลาออกจากพรรคอัมโนเพียงไม่กี่ชั่วโมง นายอานิฟะห์ อามาน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศลาออกจากพรรคอัมโนเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าเขาต้องเห็นแก่ผลประโยชน์ของรัฐซาบาห์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เมื่อพรรคอัมโนไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เขาจะอยู่กับพรรคอัมโนต่อไป
ถึงแม้ว่าพรรคอัมโนจะยังคงมีสมาชิกพรรคมากกว่าบรรดาพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าในตอนนี้มีสมาชิกหลายคนที่อยากจะลาออก แม้แต่ดาตุก เซรี โมฮัมหมัด ฮาซาน ประธานพรรคอัมโนคนใหม่ออกมายอมรับว่า พรรคอัมโนในขณะนี้กำลังดำเนินไปอย่างไร้ทิศทางจริงๆ นับตั้งแต่แพ้การเลือกตั้ง

ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียอาจจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ไปสู่ระบบการเมืองที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน (ที่แข็งแกร่งพอ) เพราะอัมโนที่กำลังแพแตกและกำลังถูกตามคิดบัญชีจากอดีตคอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับรัฐบาลใหม่แห่งพรรคปากาตัน ฮาราปัน ที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาและเปลี่ยนแปลงประเทศตามที่นายอันวาร์ ฮิบราฮิม ผู้นำคนสำคัญของพรรคปากาตัน ฮาราปันหาเสียงจากการเลือกตั้งมาหลายสมัยว่าคนมาเลย์ทุกเชื้อชาติจะต้องเสมอภาคเท่าเทียมกันแทนที่นโยบายของพรรคอัมโนที่มุ่งให้สิทธิพิเศษแก่ชาวภูมิบุตรเชื้อสายมาเลย์ ทั้งในด้านการศึกษา สิทธิในการทำงาน และสวัสดิการสังคมอย่างที่เป็นมา เนื่องจากว่ามาเลเซียนั้นประกอบด้วยชนชาติใหญ่ๆ ถึง 3 เชื้อชาติ คือมาเลย์ จีน และอินเดีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image